นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาประชาสัมพันธ์ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิม ให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ว่า สำนักงบประมาณขอให้ สนข. หาทางลดวงเงินก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ตามแผนแม่บทการพัฒนามอเตอร์เวย์ระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2560-2579 ของกรมทางหลวง ที่จะก่อสร้าง 21 เส้นทาง ใช้งบลงทุนถึง 2.14 ล้านล้านบาท ที่อาจเป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐ และเป็นอุปสรรคต่อโครงการ เพราะรัฐมีงบประมาณจำกัด
ดังนั้น สนข.จึงได้ปรับและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางหลวงสายหลักเพิ่มเติม เพื่อลดการเวนคืนที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของโครงการ เบื้องต้นพบ มี 17 เส้นทางที่นำมาพัฒนาตามแนวคิดนี้ได้ ขณะเดียวกัน ทางหลวงสายหลักก็เหลือเขตทางเพียงพอต่อการพัฒนามอเตอร์เวย์ “ผลศึกษาพบว่า การพัฒนามอเตอร์เวย์ 17 เส้นทางตามโมเดลใหม่ จะลดเงินลงทุนได้ 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนลด 50,000 ล้านบาท หรือลด 52% เมื่อเทียบกับการตัดเส้นทางใหม่ และค่าก่อสร้างลด 69,000 ล้านบาท หรือลด 5.23% เมื่อเทียบกับโมเดลเดิม ส่งผลให้วงเงินลงทุนรวมลดเหลือ 2.02 ล้านล้านบาท อีกทั้งจะทำให้การพัฒนาโครงการเร็วขึ้น เพราะใช้เวลาเวนคืนน้อย”
นอกจากนี้ สนข. ยังได้นำมอเตอร์เวย์ 2 สายในแผนแม่บท ได้แก่ กรุงเทพฯ-สระแก้ว ระยะทาง 165 กิโลเมตร และมอเตอร์เวย์นครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 109 กิโลเมตร มาทดลองออกแบบ เพื่อเปรียบเทียบวงเงินลงทุนระหว่างโมเดลเก่าและใหม่ว่าประหยัดได้เพียงใด ซึ่งจะแล้วเสร็จและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับมอเตอร์เวย์สายอื่น.