เหล็กไทยระทมจีนตีท้ายครัว กระทุ้งภาครัฐอย่าเอาแต่นิ่ง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหล็กไทยระทมจีนตีท้ายครัว กระทุ้งภาครัฐอย่าเอาแต่นิ่ง

Date Time: 5 มิ.ย. 2562 08:47 น.

Summary

  • 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเซิ้งรอบวง จัดทำรายงานผลกระทบของสงครามการค้าต่ออุตสาหกรรมเหล็ก หลังพบเหล็กจีนทะลักเข้าไทยและอาเซียน

Latest

“หมูเด้ง” ซุปตาร์ฮิปโปแคระ เกิดมา 4 เดือน งานพรีเซนเตอร์เข้าฉ่ำ คาดสร้างรายได้กว่าร้อยล้าน

7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเซิ้งรอบวง จัดทำรายงานผลกระทบของสงครามการค้าต่ออุตสาหกรรมเหล็ก หลังพบเหล็กจีนทะลักเข้าไทยและอาเซียน จนทำให้การใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศอยู่ในอัตราวิกฤติที่ 38% กระทุ้งรัฐอย่าเอาแต่นิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้จัดทำรายงาน “ผลกระทบของสงครามการค้าต่ออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ” ระบุสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบคือ สินค้าเหล็ก ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้ องค์กรเหล็กโลกได้เปิดเผยสถิติการนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็กของประเทศต่างๆทั่วโลกในปี 2561 ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสุทธิสินค้าเหล็กสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก มากถึง 13.6 ล้านตัน รองจากสหรัฐอเมริกา (23.1 ล้านตัน) ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศไทย เทียบจากจีดีพีมีขนาดเพียง 1 ใน 42 ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเหล็ก ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางธุรกิจเพราะเหล็กทุ่มตลาดจากต่างชาติและภาครัฐไม่ปกป้องอย่างทันต่อเหตุการณ์

รายงานระบุว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาในฐานะที่นำเข้าสินค้าเหล็กสุทธิมากที่สุดของโลก ตระหนักถึงภัยคุกคามที่รุนแรงจากการพึ่งพิงสินค้าเหล็กจากต่างชาติ แม้จะมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเหล็กจากต่างชาติหลายมาตรการอยู่แล้ว ก็ยังตัดสินใจโดยยึดเหตุผลความมั่นคงแห่งชาติ ใช้มาตรการ 232 กำหนดอากรนำเข้าสินค้าเหล็ก 25% โดยมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อปกป้องผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศให้สามารถใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็นมากกว่า 80%

แต่เนื่องจากมาตรการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าเหล็ก ทำให้ประเทศต่างๆที่ถูกสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ 232 ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกมายังประเทศไทย และ/หรืออาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบเสียหายต่อผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศไทย จนกำลังการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 เดือนแรกปี 2562 สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยรายงานว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศอยู่ในอัตราวิกฤติที่ 38% ลดลงจากปี 2561 ซึ่งมีการใช้กำลังการผลิต 45%

กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้คาดการณ์ถึงปัญหาจากสงครามการค้านี้ และยื่นข้อเสนอในการบรรเทาผลกระทบต่อภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้มาตรการ 232 แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม โดยอ้างว่าผู้ผลิตไม่เสียหาย ทั้งๆที่สินค้าบางประเภทมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จนมีบางบริษัทต้องปลดคนงานหลายร้อยคน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ และนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศ ต่างก็ทำผลประกอบการได้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ จนอาจต้องล้มเลิกแผนการลงทุนเพิ่มตามที่วางแผนไว้ โดยสินค้าเหล็กจากจีนถือเป็นสินค้าที่ก่อปัญหามากที่สุด เพราะจีนส่งออกเหล็กมายังประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด และมีการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แถลงการณ์ระบุว่า หากภาครัฐยังคงนิ่งเฉย ทั้งๆที่สามารถกำหนดเป็นนโยบายของประเทศได้ เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะถดถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีปัจจัยที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว จนกว่าสงครามทางการค้าจะจบลง ซึ่งยังคงไม่มีสัญญาณว่าจะจบลงเมื่อใด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ