“บิ๊กตู่” สั่งตัดสินให้เสร็จใน 7 วัน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“บิ๊กตู่” สั่งตัดสินให้เสร็จใน 7 วัน

Date Time: 28 พ.ค. 2562 08:11 น.

Summary

  • “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของภาคเอกชนที่ร้องเรียน “โครงการสนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบัง” ให้เสร็จใน 7 วัน

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

เอกชนอุทธรณ์อู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบัง

“พล.อ.ประยุทธ์” สั่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของภาคเอกชนที่ร้องเรียน “โครงการสนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบัง” ให้เสร็จใน 7 วัน ด้าน “รฟท.” ส่งร่างสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเข้า ครม.วันนี้ (28 พ.ค.) ยันอีก 4 ปี คนไทยได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศแน่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กนอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองอุทธรณ์เรื่องร้องเรียนของโครงการ EEC Project List เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนของเอกชนที่เข้าร่วมการประมูล ซึ่งขณะนี้มี 2 โครงการที่เอกชนได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และมาอุทธรณ์กับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการด้วย คือโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 84,360 ล้านบาท “นายกฯสั่งการให้พิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของเอกชนให้เสร็จใน 7 วัน เพื่อที่ กพอ. จะได้มีข้อมูลสำหรับตัดสินข้อขัดแย้งได้ เพราะศาลปกครองจะยังไม่ตัดสินเรื่องที่เอกชนไปฟ้องร้อง จนกว่าการอุทธรณ์กับภาครัฐจะสิ้นสุดลงก่อน”

ขณะเดียวกัน กพอ.ได้รับทราบว่า ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเสนอร่างสัญญา พร้อมทั้งเอกสารแนบท้าย ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าโครงการ 182,524 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวาระพิจารณาภายหลังจาก รฟท.ได้เจรจากับเอกชน คือ กลุ่มซีพีเอช ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกร่วมลงทุนโครงการ และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว รฟท.จะลงนามกับภาคเอกชน และเริ่มต้นขั้นตอนก่อสร้างโครงการได้ เชื่อว่าภายใน 4 ปีต่อจากนี้ คนไทยจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศอย่างแน่นอน

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รฟท. รักษาการผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบและคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามในสัญญากันแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งล่าสุด รฟท.ได้หารือกับเอกชนเพื่อร่วมกันพิจารณาแผนการจัดพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจะมีพื้นที่หลายส่วน ทั้งพื้นที่สามารถส่งมอบได้ทันที พื้นที่ติดสัญญา และพื้นที่มีปัญหาการบุกรุก โดยแต่ละพื้นที่ รฟท.และเอกชนได้มีความเข้าใจตรงกันแล้ว “รฟท.ยังได้รายงานถึงความโปร่งใสของการคัดเลือกเอกชน ว่า ได้ทำตามข้อกฎหมาย และกฎระเบียบทุกขั้นตอน ส่วนผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะเสร็จทันการลงนามในวันที่ 15 มิ.ย.นี้”

ส่วน น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ได้รายงานผลการเจรจากับภาคเอกชนผู้ยื่นประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ตามมติ ครม.วันที่ 21 พ.ค.62 ที่ให้รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด โดยสามารถตกลงค่าถมทะเลจากที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนปีละ 720 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี เหลือ 710 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการนี้กนอ.ได้รับผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 9.14% เป็น 9.21% หรือเพิ่มขึ้นจาก 6,606 ล้านบาท เป็น 6,721.23 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนของเอกชนลดลงจาก 10.75% เหลือ 10.73% หรือลดลงจาก 14,371 ล้านบาท เหลือ 14,298.50 ล้านบาท ซึ่งจะจัดทำรายงานผลการเจรจานำเสนอเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ