นักวิชาการ แนะผู้ส่งออกและภาครัฐใช้กลยุทธ์ทำตลาดสินค้าส่งออก โดยตั้งราคาให้ต่ำลง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ชี้สินค้าไทยแพงกว่าคู่แข่ง 5-10% เหตุเอกชนเลิกตั้งราคาสูงเกินไป หวั่นขายไม่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ขณะที่ คู่แข่งพัฒนาสินค้าได้คุณภาพระดับเดียวกัน แต่ราคาถูกกว่า
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ต้องการเสนอให้ผู้ส่งออกและภาครัฐใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดสินค้าส่งออกด้วยการตั้งราคาให้ต่ำลง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันสินค้าไทยมีราคาสูงกว่าสินค้าคู่แข่ง 5-10% ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคในบางตลาดหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกเริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง และประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น
“ที่ผ่านมา ภาครัฐเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยการนำนวัตกรรม หรือพัฒนารูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้รายได้ผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ต่างจากอดีตที่เน้นผลิตจำนวนมากๆ แต่ยอมรับว่าสินค้าหลายประเภทตั้งราคาสูงมาก แม้ว่าจะเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม อย่าลืมว่าปัจจุบันคู่แข่งก็สามารถพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกับไทยได้แล้ว แถมราคาถูกกว่ามาก แต่สินค้าไทยราคาสูงกว่ามาก เช่น สินค้าเกษตร อาหาร เกษตรแปรรูป ผลไม้ เครื่องดื่ม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”
สำหรับสถานการณ์ส่งออกสินค้าไทยนั้น ยอมรับว่าในขณะนี้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจได้ปรับลดเป้าหมายมูลค่าส่งออกไทยลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศคู่แข่งไทยคือเวียดนาม
ที่จะได้เปรียบด้านต้นทุนสินค้า จากกรณีที่มีการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่คาดว่ามีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ซึ่งยิ่งจะทำให้เวียดนามสามารถตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าไทยในตลาดยุโรปได้อีก จากปกติสินค้าเวียดนามมีราคาต่ำกว่าไทยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากเอฟทีเอเวียดนาม-อียูนั้น ศูนย์ได้ประเมินว่าจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าได้ลดลง 21,525 ล้านบาท หรือลดลง 0.3% ของมูลค่าการส่งออกของไทย ส่วนผลกระทบของสงครามการค้าที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยหายไป 75,270 ล้านบาท และหากสหรัฐฯเก็บภาษีสินค้าจีนอีกรอบมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯอีก จะยิ่งทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้หายไปได้มากถึง 140,778 ล้านบาท
โดยเมื่อรวมผลกระทบจาก 3 กรณีแล้ว อาจทำให้การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่า 0.5% หรือขยายตัวเพียง 0% เมื่อเทียบกับปี 61
“ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้านำเข้าบ้าง หลังจากที่ผ่านมาหลายประเทศเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าสินค้าไทยหลายชนิด เช่น ทุเรียน ผลไม้ต่างๆ เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค” นายอัทธ์กล่าว.