นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบ รมว.พลังงานคนใหม่ เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์พลังงานและปัญหาของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลช่วง 3 ปีนับจากนี้ที่รัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลโครงการใหม่ๆ โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศปี 2561-80 (พีดีพี 2018) กำหนดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเชื้อเพลิงชีวมวลช่วงปลายแผนปี 80 อยู่ที่ 4,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขาย 2,000 เมกะวัตต์ และทยอยหมดอายุลงเหลือ 1,200 เมกะวัตต์ ดังนั้นจะมีปริมาณรับซื้อเพิ่ม 3,500 เมกะวัตต์ ในปี 80 “แม้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดรับซื้อไฟฟ้าช่วง 3 ปีนี้ แต่ประเทศจะเสียโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เงินลงทุน 50-60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น จากการซื้อขายวัตถุดิบการเกษตรป้อนโรงไฟฟ้า จึงต้องการเห็นนโยบายที่ต่อเนื่องและไม่สะดุด”
นายนที กล่าวว่า รัฐควรเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานซื้อขายไฟฟ้า (Third Party Access : TPA) หรือเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน ทำให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อซื้อขายกันเองได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐเปิดโครงการรับซื้อ ขณะที่ผู้ซื้อกับผู้ขายยังสามารถตกลงกันได้ในราคาที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ทำให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าหยุดชะงักลง นอกจากนี้ ภาคเอกชนไม่คัดค้านการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบการเสนอราคาแข่งขัน (บิดดิ้ง) และมองว่าการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ควรมองแค่มิติค่าไฟฟ้า หรือห่วงว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟแพง แต่ควรพิจารณามิติอื่นด้วย เช่น สิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น.