จ่อบังคับใช้ สั่งรพ.เอกชน เผยแพร่ราคายา ขายแพงเกินจริงเจอคุก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จ่อบังคับใช้ สั่งรพ.เอกชน เผยแพร่ราคายา ขายแพงเกินจริงเจอคุก

Date Time: 10 พ.ค. 2562 20:14 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • กกร.ไฟเขียว กำกับราคายา สั่งโรงพยาบาลเอกชน เผยแพร่ขึ้นเว็บ ระบุชื่อและราคาในใบสั่งยาให้ชัดเจน เปิดช่องให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ จ่อประกาศ ลงราชกิจจาฯบังคับใช้

Latest


กกร.ไฟเขียว กำกับราคายา สั่งโรงพยาบาลเอกชน เผยแพร่ขึ้นเว็บ ระบุชื่อและราคาในใบสั่งยาให้ชัดเจน เปิดช่องให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ จ่อประกาศ ลงราชกิจจาฯบังคับใช้...

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติเห็นชอบกำหนดมาตรการดูแลราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อขายให้แก่กรมการค้าภายใน เพื่อเผยแพร่ราคาจำหน่ายของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งผ่านเว็บไซต์กรม และให้โรงพยาบาลเอกชนจัดแสดง QR Code ไว้อย่างเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคาไม่น้อยกว่า 15 วัน

"การแจ้งราคาซื้อขายยา จะนำร่องรายการยาที่อยู่ในบัญชีของ UCEP (นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่) ที่มีรายการยาที่จำเป็น 3,892 รายการ จากบัญชียาและรหัสยามาตรฐานของไทย (TMT) ที่มีอยู่ 30,103 รายการ เพราะถือเป็นยาที่คนใช้มากและเป็นยาจำเป็น แต่ต่อไป จะดูรายการยาที่จำเป็นอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากบัญชี UCEP เพิ่มเติม"

สำหรับการประกาศราคาซื้อขายยาในเว็บไซต์ จะเป็นการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง จะได้เปรียบเทียบได้ และจะได้เข้าไปใช้บริการ แต่ถ้าพบว่าคิดราคาสูงไปกว่าที่แจ้งราคาไว้ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกรมการค้าภายใน เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีมติให้โรงพยาบาลเอกชะต้องจัดทำใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายา โดยจะต้องมีการระบุชื่อยา ทั้งที่เป็นชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และระบุราคายาแต่ละชนิดด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปสั่งยาไปซื้อยาได้นอกโรงพยาบาลได้

ส่วนการรักษาพยาบาลผู้ป่วย กรณีที่มีการจ่ายยาหรือเวชภัณฑ์ หรือให้การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น กกร. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ประสานและแจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ไปพิจารณาดูรายละเอียดของราคาค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยา โดยปัจจุบันมีข้อมูลเวชภัณฑ์ประมาณ 868 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ

"มาตรการที่ออกมานี้ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยยังไม่ได้ควบคุมราคาแต่อย่างใด" น.ส.ชุติมา กล่าว

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กกร. จะยกร่างประกาศ และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ น่าจะแล้วเสร็จสัปดาห์หน้า และเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตามกฎหมาย คือ ไม่แจ้งราคาซื้อขาย มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบในเรื่องใบสั่งยา มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ในการดูแลเรื่องยา แม้จะกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งข้อมูลการซื้อขาย แต่ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าถูกคิดราคาเกินจริง หรือสูงกว่าราคาที่แจ้งไว้ สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ โดยโรงพยาบาลจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในเบื้องต้นจะเชิญโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 70 ราย หรือประมาณ 20% จาก 353 ราย มาหารือ หลังจากมีการตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนแล้ว พบว่าคิดค่ายาสูงเกินจริง บางรายคิดสูงถึง 800-900%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์