ยุคใหม่ทีวีดิจิทัล ระดับ 3 เจ้าสัวลุยคนละ 2 ช่อง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุคใหม่ทีวีดิจิทัล ระดับ 3 เจ้าสัวลุยคนละ 2 ช่อง

Date Time: 10 พ.ค. 2562 18:29 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ไคลแมกซ์อีกระดับในวงการทีวีดิจิทัล เมื่อ 7 ช่อง ยอมยกธง เลิกไปต่อ เหลือ 15 ช่องแข่งชิงเงินโฆษณานับหมื่นล้าน

Latest


  • ไคลแมกซ์อีกครั้ง ในวงการทีวีดิจิทัล เมื่อ 7 ช่องขอยกธง เลิกไปต่อ เหลือ 15 ช่องแข่งชิงเงินโฆษณานับหมื่นล้าน
  • 6 ช่องใน 15 ช่อง มีทุนหนาเจ้าสัวระดับมหาเศรษฐีที่ลุยต่อเต็มที่ ทั้งเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  
  • กลุ่มช่อง 3 กลับคืนสู่สามัญ จากเดิมแข่งชิงประมูลมา 3 ช่องทั้งเอชดี ช่องเด็ก และวาไรตี้ จนขาดทุนยับ ยอมถอยสุดทาง ส่งคืนทันที 2 ช่อง เหลือช่องเดียวลุยตัวต่อตัวกับช่อง 7 ที่ยืนหนึ่ง ทำช่องเดียวมาตั้งแต่ต้น
  • เงื่อนไขคืนช่องสุดคุ้มเลิกทำ หยุดเลือดไหล แถมได้เงินชดเชย มีวันนี้เพราะพี่ให้ตามคำสั่ง ม.44
  • ปิดฉาก 5 ปี ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ดับฝันสวยหรูของใครหลายคนที่อยากเป็นเจ้าของสื่อทีวี และมีรายได้มหาศาล

ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง โยนผ้าขาว ยกธงยอมแพ้ เลิกเล่นเกมชิงรายได้โฆษณานับหมื่นล้านบาท ตบเท้ายื่นเอกสารคืนใบอนุญาตถึง กสทช. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ปิดฉากความฝันสวยหรู หวังร่ำรวยจากธุรกิจทีวี เหมือนอย่างที่ช่อง 3 และช่อง 7 เคยมี จนเจ้าของติดทำเนียบอันดับมหาเศรษฐีเมืองไทยมานาน

สถานการณ์ขณะนี้ มาถึงบทสรุปที่ว่า ใครแข่งชิงเรตติ้งได้ หรือไม่ต้องรวยจริง ทุนหนาแน่น จึงพร้อมไปต่อ หรือเป็นเจ้าของมากกว่า 1 ช่องได้ อย่างเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรซีพี เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก และมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจโรงพยาบาล และสายการบิน อย่าง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่เป็นเจ้าของคนละ 2 ช่องในยุคนี้

อันเนื่องมาจากกลุ่มช่องที่ปรับตัวก่อนหน้านี้ ที่เจ้าของยอมถอย ให้ทุนมหาเศรษฐีเข้ามา คือกลุ่มแกรมมี่ที่ประมูลมา 2 ช่อง คือเอชดี วัน 31 และวาไรตี้ จีเอ็มเอ็ม 25 เมื่อเริ่มขาดทุน ก็มีกลุ่มเจ้าสัวเจริญเข้ามาถือหุ้นในช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ประมาณครึ่งหนึ่ง หลังจากที่บริษัทในครอบครัวของเจ้าสัวเจริญไปถือหุ้นในช่องอมรินทร์ทีวี 34 จนปัจจุบันมีสัดส่วนหุ้นอยู่ประมาณ 60% 

ส่วนช่องวัน 31 มีมหาเศรษฐีอย่าง นพ.ปราเสริฐ ที่ประมูลช่องเอชดีไปได้ตั้งแต่ต้นแล้ว คือพีพีทีวี 36 ยังเข้ามาถือหุ้นในช่องวัน 31 อีกประมาณ 50% 

อีกมหาเศรษฐีคนหนึ่งที่บุกเบิกธุรกิจทีวีมานาน คือเจ้าสัวธนินท์ที่มี 2 ช่องทีวีดิจิทัลในมือ คือช่องข่าวทีเอ็นเอ็น และช่องวาไรตี้ ทรู4ยู งานนี้ก็พร้อมลุยต่อทั้งสองช่อง

สำหรับกลุ่มที่มีช่องเดียวและลุยต่อ  คือช่อง 7, ไทยรัฐทีวีช่อง 32, นิวทีวี, อาร์เอส, โมโน, เวิร์คพอยท์ ส่วนกลุ่มที่เคยมีหลายช่องและตัดเหลือช่องเดียว คือช่อง 3, อสมท, เนชั่น


นี่คือปรากฏการณ์ที่ทุกอย่างมีขึ้นและมีลง นับตั้งแต่เปิดประมูลครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2556 จนเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดทางให้ช่องไหนที่ไปต่อไม่ไหว เพราะขาดทุนมานาน คืนใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่และประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลได้ เพราะต้องการนำคลื่นไปประมูลเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม 5 จี  แถมรับเงินค่าชดเชยอีกด้วย โดยมีประเมินกันว่าแต่ละช่องจะได้เงินชดเชยหลายร้อยล้านบาท

ไคลแมกซ์นี้มีกฎหมายรองรับ คือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกโดยอาศัยตามอำนาจ ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญ


การมาถึงจุดนี้ของวงการทีวีดิจิทัล เป็นหนังคนละม้วน ถ้าย้อนไปเมื่อเหตุการณ์เดือนธ.ค. 2556 ที่กสทช.เปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันเสนอเงินเพื่อรับใบอนุญาตใช้คลื่น และใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล รวม 24 ช่อง โดยมีเอกชนกว่า 30 รายแข่งขันกันเสนอราคา จนรวม 24 ช่องเม็ดเงินประมูลสูงไปถึง 50,862 ล้านบาท

ช่วงเวลานั้น เจ้าของช่องแต่ละช่องมีแผนธุรกิจ วางผังรายการอย่างหลากหลาย และหวังเม็ดเงินโฆษณา แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าหลังเปิดสวิตช์ทดลองออนแอร์ในเดือนเม.ย. 2557 และออนแอร์จริงพ.ค.2557 ท่ามกลางวิกฤติการเมือง จนมีการรัฐประหารโดยคสช. การใช้เม็ดเงินโฆษณาชะงัก ขณะเดียวกันการกระจายกล่องทีวีดิจิทัลถึงมือผู้ชมไม่เป็นไปตามแผน

ท่ามกลางการแข่งขันแย่งชิงผู้ชม หลายช่องดันเรตติ้งไม่ขึ้น โฆษณาไม่เข้า รายได้ไม่ดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังพุ่งไม่หยุด

เพียงแค่ปีกว่า นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ 'เจ๊ติ๋ม' ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ตัดสินใจเลิกก่อนก่อนใคร ไม่ทำต่อ ยอมจอดำ  2 ช่อง คือช่องข่าว “ไทยทีวี” ช่อง 17 และช่องเด็ก “โลก้า” ช่อง 15 หลังประมูลมาด้วยเงินรวมเกือบ 2,000 ล้านบาท และในช่วงปีกว่าขาดทุนไปแแล้ว 1,000 ล้านบาท

เหลือ 22 ช่องที่กัดฟันแข่งขันกันมา แต่สถานการณ์รายได้ของแต่ละช่องยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ประมูลมาหลายช่อง คือ กลุ่มช่อง 3 มี 3 ช่อง กลุ่มจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 2 ช่อง กลุ่มเนชั่น 2 ช่อง และกลุ่มอสมท 2 ช่อง

ที่เจ็บหนักสาหัสคือกลุ่มช่อง 3 จนต้องลดพนักงาน เพราะขาดทุนมาหลายไตรมาส จนปิดปี 2561 ขาดทุน  330 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2562 นี้ยังขาดทุน 128 ล้านบาท ในที่สุดขอคืน 2 ช่อง คือช่องเด็ก 13 และวาไรตี้ 28, กลุ่มอื่น ๆ ที่คืนช่องคือกลุ่มเนชั่นคืน 1 ช่อง คือ ช่องวาไรตี้ นาว 26 ที่เปลี่ยนเป็นสปริง 26 ได้ไม่กี่เดือน, กลุ่มสปริง 19, อสมท ช่องเด็ก แฟมิลี่ 14, ไบรท์ 20 และวอยซ์ 21

ปิดฉาก 5 ปีในสมรภูมิรบของธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดทุกนาที โดยมีผู้ชม และรายได้เป็นเดิมพัน 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ