ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 22 ช่อง มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการชดเชยเงินกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภายใต้คำสั่ง ม.44
โดยนายฐากรเปิดเผยว่า สูตรคำนวณเงินชดเชยกรณีคืนใบอนุญาต คือ วงเงินที่ผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล ได้ชำระมาแล้ว คูณด้วยระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ (10 ปี) หารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมด (15 ปี) แล้วนำมาหักลบกับค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ค่าใช้จ่ายตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) และผลประกอบการที่มีกำไร ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเงินเหลือสุทธิ ที่ กสทช.จะจ่ายคืนให้ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาต ต้องยื่นหนังสือแจ้ง กสทช.ภายใน 08.30-16.30 น.ของวันที่ 10 พ.ค. 2562 เท่านั้น
“ขอยกตัวอย่างสูตรคำนวณเงินเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ กรณีทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งชำระค่าประมูลใบอนุญาต มาแล้ว 400 ล้านบาท คูณด้วย 10 ปี และหารด้วย 15 ปี เบื้องต้นจะได้เงินคืน 267 ล้านบาท แต่จะต้องนำค่าเช่า Mux, ค่ามัสต์แคร์รี่และกำไร มาหักลบออกก่อน จึงจะเหลือเป็นเงินสุทธิที่ กสทช.จะจ่ายคืนให้กับช่องที่คืนใบอนุญาต โดยช่องที่คืนใบอนุญาตจะได้รับการจ่ายเงินคืนให้ทันที หลังยุติออกอากาศ โดยจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาจ่ายคืนให้ก่อน”
“หลังสูตรการคำนวณเงินคืนชัดเจน ปรากฏว่ามีทีวีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 5 ช่อง หรืออาจถึง 7 ช่อง มีแนวโน้มคืนใบอนุญาต จากเดิมคาดว่า 2-3 ช่อง โดยอาจประเมินว่าหยุดตอนนี้ดีกว่าและมีโอกาสได้เงินคืน ไม่อยากฝืนต้านกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งวันที่ 10 พ.ค.นี้ ก็รู้ผลว่าใครจะไปต่อหรือจะหยุด”
สำหรับกรอบระยะเวลานั้น กำหนดให้แจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะคืนใบอนุญาตภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาพิจารณาเอกสารการเงิน 60 วัน หากรายใดมีหลายช่อง ก็ต้องแยกบัญชีให้ชัดเจน หากไม่มีรายละเอียดซับซ้อนมาก อาจใช้เวลา 10 วัน โดยช่องจะต้องส่งแผนยุติการออกอากาศมาให้พิจารณาด้วย หลังจากนั้นจะนำเสนอให้บอร์ด กสทช.อนุมัติการยุติออกอากาศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่าอีก 30 วัน ช่องดังกล่าวจะไม่มีการออกอากาศอีกต่อไปและเมื่อยุติการออกอากาศแล้ว ในวันถัดไปก็สามารถนำเอกสารหลักฐานมายื่นรับเงินชดเชยได้ ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือน ส.ค.2562 โดยจะนำเงินกองทุน กทปส.สำรองจ่ายไปก่อน หลังจากนั้นจะนำเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ มาจ่ายคืนให้กองทุน กทปส. โดยขณะนี้มีค่ายมือถือทำหนังสือแจ้งมาอย่างเป็นทางการแล้วว่า จะใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปเป็น 10 ปี และยืนยันเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้แน่นอน โดยเคาะราคาที่ 15 เมกะเฮิรตซ์ไม่เกิน 27,000 ล้านบาท
ขณะที่นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ซึ่งเดินทางมาร่วมหารือกล่าวยืนยันว่า ไม่คืนช่อง 22 เนชั่นอย่างแน่นอน ส่วนช่อง 26 สปริงนั้น ต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดก่อน จึงจะตัดสินใจ ขณะที่ช่อง 19 สปริงนิวส์นั้น ตอบไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้บริหาร
ด้านนายอริยะ พนมยงค์ กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง 3 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะคืนหรือไม่คืนช่อง 13 ที่เป็นช่องเด็กและเยาวชน ต้องกลับไปหารือกันก่อน แต่ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ต้องมีคำตอบแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีแนวโน้มอาจคืนใบอนุญาต ได้แก่ ช่อง 14 รายการเด็กและเยาวชนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), ช่อง 13 และช่อง 28 หรือช่อง 3 เอสดี ของกลุ่มช่อง 3 ขณะที่ช่อง 19 สปริงนิวส์ และช่อง 26 สปริงก็มีแนวโน้มจะยื่นคืนใบอนุญาตเช่นกัน รวมถึงช่องไบรท์ทีวี, นิวส์ทีวี ส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการต่อขอใช้สิทธิ์ขยายการผ่อนชำระค่าประมูลคลื่น 900 และพร้อมเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 19 มิ.ย.คือ บริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด.