มกอช.สบช่องกระแสนิยมการบริโภคแมลงในตลาดโลกมาแรง เร่งจัดอบรม GAP ฟาร์มจิ้งหรีดแปลงใหญ่ รุกเสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรไทย รองรับอัตราการขยายตัวอุตสาหกรรมแมลงไทย เตรียมบุกตลาดส่งออก 1,000 ล้าน ในตลาดโลก ชี้ "จิ้งหรีด" จะกลายเป็นอาหารใหม่ ที่สำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารโลก
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.62 น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสการบริโภคแมลงในตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) กำลังมาแรง ส่งผลให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันมีการค้าขายจิ้งหรีดในรูปแบบสด แช่แข็ง รวมถึงทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมทั้งทำเป็นผงบดเพื่อแปรรูปเป็นแป้ง ที่นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรไทยในการเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 1000 ล้านบาท โดยเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ เช่น จิ้งหรีด เนื่องจากเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง รวมทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชนบท
ดังนั้นเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด และกระแสนิยมการบริโภคแมลงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต มกอช.จึงได้จัดพิธีเปิดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดจังหวัดพิจิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่จิ้งหรีด มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด และเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่จิ้งหรีดมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคู่มือการตรวจประเมิน (Checklist) สำหรับมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด และขั้นตอนการยื่นขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด
น.ส.จูอะดี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดย มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังได้กำหนดนโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานในลักษณะของการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ในการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตสินค้าเกษตร โดยยึดพื้นที่และสินค้าเกษตรเป็นหลัก ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกร ทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลที่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้ในต้นทุนที่ต่ำลง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีเสถียรภาพด้านรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
น.ส.จูอะดี กล่าวต่อว่า แมลงหลายชนิดรวมทั้งจิ้งหรีด ถือเป็นความหวังสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมนุษย์และสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ ปริมาณแลกเนื้อสูง ต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อย ทำให้สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตอื่นๆ ได้ โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งส่งเสริมและพัฒนาการผลิตจิ้งหรีด โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ผลิตจิ้งหรีดภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในหลายจังหวัด อาทิ พื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต แปรรูป และขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสหภาพยุโรป ตอบสนองต่อกระแสนิยมการบริโภคแมลงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มความความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถ รองรับการแข่งขันสินค้าจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ และสินค้าแมลงของไทยในตลาดโลกในอนาคต