นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า เปิดศูนย์อบรมบุคลากรระบบราง ณ ศูนย์ฝึกอบรมอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์อบรมดังกล่าวเพื่อให้การบริการระบบรางในประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่ให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้าระดับโลก โดยศูนย์ฝึกนี้เบื้องต้นจะเปิดฝึกอบรมให้กับพนักงานขับรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.และพนักงานขับรถไฟฟ้าของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ก่อน โดยมีกำลังการผลิตบุคลากรต่อปีที่ 230 คน/ปี เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทาง รถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น มีเป้าหมายที่จะผลักดันศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวให้เป็นศูนย์การฝึกอบรมในภูมิภาคอาเซียนด้วย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านรอบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย, กัมพูชา ได้เริ่มที่จะสร้างรถไฟฟ้า
นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา กฎหมายการจัดตั้งกรมรางได้มีการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ... แล้ว ดังนั้นต่อไปบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมครบตามหลักสูตรจากศูนย์นี้สามารถที่จะไปขอใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าจากกรมราง เช่นเดียวกับการขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์โดยสารที่ต้องขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก คาดว่าภายใน 3 เดือนหลังจากนี้จะสามารถออกใบขับขี่รถไฟฟ้าได้ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเมื่อทำเป็นมาตรฐานแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอาจจะมีผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดโรงเรียนขับรถไฟฟ้าได้ เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น มีโรงเรียนสอนขับรถไฟฟ้าของเอกชนมากกว่า 30 โรงเรียน
ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ทาง รฟม.มั่นใจว่าจะสามารถผลิต บุคลากรระบบราง ผ่านศูนย์อบรมได้กว่าปีละ 680-980 คน โดยในปี 63 คาดว่าจะสามารถผลิตคนขับรถไฟฟ้าได้ถึง 1,400 คน และภายใน 5 ปีจากนี้ คือ ปี 67-68 จะสามารถผลิตคนขับรถไฟฟ้าได้ถึง 2,500 คน ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับรถไฟฟ้า 10 สายทาง ที่กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการเปิดให้บริการในช่วงปี 64-66 ได้แน่นอน รวมถึงสามารถรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของภาครัฐได้อีกด้วย เบื้องต้นพนักงานขับรถไฟฟ้าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีมาก ผลตอบแทนขั้นต่ำกว่า 25,000 บาท/เดือน.