SPR โชว์ผลประกอบการธุรกิจโซลาร์รูฟโตก้าวกระโดด เป้าปี62 กวาด 2 พันล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

SPR โชว์ผลประกอบการธุรกิจโซลาร์รูฟโตก้าวกระโดด เป้าปี62 กวาด 2 พันล้าน

Date Time: 26 ก.พ. 2562 14:23 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • SPCG เร่งบุกตลาดโซลาร์รูฟปี 62 หลังบริษัทลูก SPR ธุรกิจในเครือเติบโตก้าวกระโดดช่วง 5 ปีหลัง ตั้งเป้าธุรกิจโซลาร์รูฟปี 62 เติบโตกว่า 40% กวาดรายได้ 2 พันล้าน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้า

Latest


SPCG เร่งบุกตลาดโซลาร์รูฟปี 62 หลังบริษัทลูก SPR ธุรกิจในเครือเติบโตก้าวกระโดดช่วง 5 ปีหลัง ตั้งเป้าธุรกิจโซลาร์รูฟปี 62 เติบโตกว่า 40% กวาดรายได้ 2 พันล้าน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หนุนบริษัทแม่ SPCG เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG และ ประธานกรรมการ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR กล่าวถึงความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นว่า บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ในฐานะผู้นำในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556 บริษัทฯ เริ่มต้นจากรายได้ 32 ล้านบาท และค่อยๆ เติบโตมาเป็น 235 ล้านบาท, 394 ล้านบาท, 940 ล้านบาท และในปี 2560 มีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้ บริษัทฯ จึงตั้งเป้าการเติบโตของรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของตลาดโซลาร์รูฟยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก ไม่จำกัดเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่จะขยายฐานลูกค้าครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่ในทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนก็มีการเติบโตโดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น อุดรธานี ตลาดของโซลาร์รูฟจึงยังสามารถขยายได้อีกมาก

"เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะทุกคนล้วนต้องการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า การเติบโตของ SPR ก็ส่งผลดีกับการเติบโตของ SPCG ด้วย ปัจจุบันรัฐบาลผลัดกันให้ภาคอุตสาหกรรมกระจายออกยังภูมิภาคต่างๆ โอกาสทำการตลาดยังมีอีกมาก ซึ่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา นอกจากจะช่วยเรื่องการประหยัดไฟฟ้าโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยลดโลกร้อน และหากเป็นนิติบุคคลก็สามารถนำไปหักค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ได้เพิ่มเติม อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวคือ หากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดไม่ได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีซ้ำซ้อน สามารถนำเงินลงทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟ 50% ไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้จะมีจนถึงปี 2563 นี้เท่านั้น" ดร.วันดี กล่าว

สำหรับภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่สนใจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยสนับสนุนสินเชื่อแล้ว ด้วยวงเงินอนุมัติ 100% ของเงินลงทุนในรูปแบบของลิสซิ่ง หรือวงเงินสินเชื่อระยะยาว ซึ่ง SPR มีส่วนสำคัญในการพิสูจน์ให้สถาบันการเงินเห็นและสร้างความเชื่อมั่นจนสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการที่สนใจได้ SPR จึงพร้อมให้บริการแบบ One Stop Service ทั้งในเรื่องการออกแบบ ติดตั้ง รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานบีโอไอและสถาบันการเงินให้ด้วย

"การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา มีประโยชน์ในทางธุรกิจหลายด้าน แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟทั้งหมดสามารถนำไปรับการรับรองการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก หรือที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ให้การรับรองที่เรียกว่า T-VER และสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปจำหน่ายสร้างรายได้แก่บริษัทเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี SPCG ไม่ได้ต้องการภาคเอกชนมุ่งเน้นในเรื่องรายได้จากขายคาร์บอนเครดิต แต่อยากให้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเชื่อว่าเป็นความภูมิใจของทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมด้วย" ดร.วันดี กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้เปิดเผยแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2562 โดยตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7,000 ล้านบาท เติบโตจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ Solar Roof ในปี 2562 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปี 2018 ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวันได้แล้ว ครัวเรือนที่สามารถผลิตหน่วยไฟฟ้าได้เกินกว่า การใช้งานยังสามารถจำหน่ายให้ภาครัฐได้ด้วย ประมาณการการติดตั้งให้แต่ละครัวเรือนสามารถครอบคลุมประชาชนได้ถึงปีละกว่า 20,000 ครัวเรือนทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและมีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ Solar Roof มากขึ้นในปีนี้



นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ขอเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม 2561 - วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายในงวดนี้ อัตราหุ้นละ 0.65 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2562 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวต้องรอผลสรุปการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 อีกครั้ง โดยกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันที่ 12 เมษายน 2562 เวลา 14.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น เอบี ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์