สกัด “ไม้อัด-น้ำผึ้ง” สวมสิทธิ์ส่งออกสหรัฐฯ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สกัด “ไม้อัด-น้ำผึ้ง” สวมสิทธิ์ส่งออกสหรัฐฯ

Date Time: 21 ม.ค. 2562 09:02 น.

Summary

  • นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับการประสานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับการประสานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้ตรวจสอบโรงงานไม้อัดของไทยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะมีตัวเลขการส่งออกไม้อัดไปสหรัฐฯมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จึงเกรงว่าอาจมีการนำเข้าไม้อัดจากประเทศอื่นและแอบอ้างว่าเป็นสินค้าจากไทย (สวมสิทธิ์) แล้วส่งออกไปสหรัฐฯต่อ เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพราะไม้อัดเป็นสินค้ากลุ่มเสี่ยงที่ศุลกากรสหรัฐฯจับตามองว่าอาจมีการสวมสิทธิ์ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะไม้อัดจากจีนที่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐฯไม่ได้ใช้มาตรการเอดีกับไม้อัดไทย

“กรมได้เข้าไปสุ่มตรวจโรงงานไม้อัดแล้ว 4 โรงงาน ยังไม่พบความผิดปกติ แต่ต้องเฝ้าระวัง โดยยังมีอีกหลายโรงงานที่นำเข้าไม้อัด ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ ก็ต้องคอยเข้าไปตรวจสอบว่าโรงงานไหนมีการนำเข้ามามากๆ มีความเสี่ยงต่อการหลบเลี่ยงแหล่งกำเนิดสินค้า และส่งออกไปสหรัฐฯหรือไม่ โดยข้อมูลปี 61 พบว่ามีไทยนำเข้าไม้อัดจากจีน 400,000 ตัน แต่นำมาผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องและใช้ภายในประเทศประมาณ 300,000 ตัน อีก 100,000 ตันส่งออกต่อ”

นอกจากนี้ กรมยังมีแผนที่จะสุ่มตรวจโรงงานที่มีการผลิตสินค้า หรือนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการเอดี ล่าสุด อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลังจากที่ศุลกากรสหรัฐฯแจ้งว่ามีข้อสงสัยว่าการส่งออกน้ำผึ้งจากไทยไปสหรัฐฯอาจมีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เร็วๆนี้จะเข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำผึ้งของไทย ว่ามีการนำเข้าน้ำผึ้งจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างแหล่งกำเนิดของไทย แล้วส่งออกไปสหรัฐฯหรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลตัวเลข ส่วนสินค้าที่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องการสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ตะปู ใบเลื่อย เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมได้ร่วมมือกับผู้แทนศุลกากรของสหรัฐฯประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ตรวจสอบสถานที่ผลิตสินค้าในไทย ซึ่งผลิตสินค้าที่สหรัฐฯใช้มาตรการทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) เพราะสหรัฐฯเกรงว่าจะมีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะไทยไม่ถูกการใช้มาตรการดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ