แบงก์ชาติคุมเข้มสินเชื่อบ้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติคุมเข้มสินเชื่อบ้าน

Date Time: 5 ต.ค. 2561 08:01 น.

Summary

  • ธปท.เข้มปรับเกณฑ์สินเชื่อซื้อบ้าน โดยบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปในทุกสัญญา และการซื้อบ้านหลังที่ 2 ต้องบังคับวางดาวน์ 20% ฝากแบงก์รัฐยอมรับมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

คนซื้อราคา 10 ล้าน-หลังที่ 2 ต้องดาวน์ 20%

ธปท.เข้มปรับเกณฑ์สินเชื่อซื้อบ้าน โดยบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปในทุกสัญญา และการซื้อบ้านหลังที่ 2 ต้องบังคับวางดาวน์ 20% ฝากแบงก์รัฐยอมรับมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ ทำให้ต้องระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่กสิกรไทยเชียร์เต็มสูบ

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ร่วมกันแถลงปรับเกณฑ์การกำกับสถาบันการเงินระดับมหภาค (Macroprudential) สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ธปท.ได้ปรับเกณฑ์การให้วงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย ใน 2 ลักษณะ

โดยลักษณะที่ 1 การปรับเพิ่มเงินดาวน์ หรือลดวงเงินการปล่อยสินเชื่อบ้านต่อหลักประกัน (LTV) ในส่วนของ 1.สินเชื่อในทุกสัญญาที่เกินกว่า 10 ล้านบาท และ 2.การปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน สำหรับสัญญาการกู้บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ในทุกราคาจากเกณฑ์เดิมที่ให้ปล่อยสินเชื่อสำหรับบ้านแนวราบไม่เกิน 95% ของหลักประกัน หรือวงเงินดาวน์ 5% และปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูง เช่น คอนโดมิเนียม ไม่เกิน 90% หรือวางเงินดาวน์ 10% และกำหนดในลักษณะที่ไม่บังคับ “เกณฑ์ใหม่นี้ ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 80% ของหลักประกัน หรือผู้กู้ต้องวางเงินดาวน์ 20% และปรับเกณฑ์เป็นลักษณะบังคับ ทั้งในส่วนของบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท และการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป หากธนาคารพาณิชย์ไม่ดำเนินการ จะมีโทษปรับตามประกาศของ ธปท.”

ส่วนลักษณะที่ 2 คือการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมจากสินเชื่อบ้าน โดยใช้หลักประกันเดียวกัน (Top-up) หรือสินเชื่อเงินทอน ซึ่งอาจเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อเบี้ยประกันชีวิต และสินเชื่อเพื่อต่อเติมบ้าน จากเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ไม่นับรวมวงเงินสินเชื่อนี้ ในวงเงินการปล่อยสินเชื่อบ้านต่อหลักประกัน (LTV) ซึ่งที่ผ่านมาทำให้วงเงินการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวม Top-up แล้ว สูงกว่าราคาหลักประกัน หรือให้สินเชื่อมากกว่า 100% และหลักเกณฑ์ใหม่นี้ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารพาณิชย์จะต้องนับสินเชื่อทุกประเภทที่ใช้หลักประกันเดียวกัน เป็นสินเชื่อซื้อบ้าน และใช้หลักเกณฑ์ LTV ตามที่ ธปท.กำหนด โดยสินเชื่อบ้านและ Top-up รวมกันต้องไม่เกิน 100% ของหลักประกัน

“มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการป้องกัน เพราะหากพิจารณาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีที่ผ่านมา ที่มีทั้งสิ้น 100,000 บัญชี วงเงิน 300,000 ล้านบาท จะพบว่ามีประมาณ 15% หรือ 15,000 บัญชี หรือคิดเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่มียอดวงเงินดาวน์ต่ำกว่า 20% หากไม่ป้องกันอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 และ 3 จะช่วยให้คนที่ต้องการมีบ้านจริงสามารถซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสมและถูกลงได้”

นางวจีทิพย์กล่าวว่า วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เปิดร่างหลักเกณฑ์ให้ประชาชนที่สนใจรับทราบ และรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 ต.ค.นี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะออกประกาศได้ในเดือน พ.ย.นี้ และบังคับใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า โดยบังคับใช้กับสินเชื่อใหม่ และสินเชื่อรีไฟแนนซ์เท่านั้น ไม่มีผลย้อนหลังกับสินเชื่อเก่า ธปท.คาดว่าจะทำให้เกิดการปรับตัวในระบบอสังหาริมทรัพย์ในทางที่ดีขึ้น

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการคุมสินเชื่อบ้านของ ธปท.เพื่อดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ และควบคุมการปล่อยกู้มีความรอบคอบมากขึ้น รวมถึงดูแลระบบสินเชื่อที่ดี ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐมีการปล่อยกู้อย่างระมัดระวังในขณะนี้ แต่ไม่น่ากระทบกับการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เพราะผู้มีรายได้น้อยยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า วันที่ 11 ต.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร หารือจากผลกระทบมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อสะท้อนผลกระทบและเสนอแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้คาดคะเนกันเองว่า มาตรการออกมาจะมีผลกระทบรุนแรง และการส่งสัญญาณของ ธปท. เพื่อให้ตลาดระมัดระวังมากขึ้น

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า วันที่ 11 ต.ค.นี้ ธอส.พร้อมเข้าร่วมให้ความเห็นกับ ธปท. เพื่อรับฟังคำอธิบาย และรับทราบแนวทางการคุมสินเชื่อ ซึ่งยอมรับแนวทางคุมสินเชื่อทำให้ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ฝากบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า มาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก ธปท.แม้จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็นการทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการสะสมภาวะความไม่สมดุลที่มากขึ้น ระหว่างอุปสงค์และอุปทานในภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยสร้างสมดุลให้ตลาดเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ