สั่งสอบปมนอมินี "นกสกู๊ต" จับตาการเงินนกแอร์หวั่นธุรกิจติดหล่ม!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สั่งสอบปมนอมินี "นกสกู๊ต" จับตาการเงินนกแอร์หวั่นธุรกิจติดหล่ม!

Date Time: 10 ก.ย. 2561 09:01 น.

Summary

  • “อาคม” สั่ง กพท.ตรวจสอบ “นกสกู๊ต” ปมนอมินี พร้อมจับตางบการเงิน “นกแอร์” หลังพบส่วนทุนเสี่ยงติดลบ หวั่นธุรกิจติดหล่มอาจกระทบผลประโยชน์ผู้โดยสาร ส่วนความคืบหน้าปมมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“อาคม” สั่ง กพท.ตรวจสอบ “นกสกู๊ต” ปมนอมินี พร้อมจับตางบการเงิน “นกแอร์” หลังพบส่วนทุนเสี่ยงติดลบ หวั่นธุรกิจติดหล่มอาจกระทบผลประโยชน์ผู้โดยสาร ส่วนความคืบหน้าปมมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยที่ถูก “เอฟเอเอ” สหรัฐฯปรับลดมาตรฐานนั้น ล่าสุด “เอฟเอเอ” จ่อตรวจซ้ำ ต.ค.นี้ กพท.มั่นใจสอบผ่านฉลุย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งด่วน ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีกระแสข่าวว่านายพาที สารสิน ออกมาระบุว่าเป็นนอมินีให้สายการบินนกแอร์ลงทุนสายการบินนกสกู๊ต โดยสั่งการว่าหากพบคนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทนต่างชาติในสายการบินที่จดทะเบียนในไทย อาจเข้าข่ายมีความผิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้สายการบินที่จดทะเบียนในไทย ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวไทยอย่างน้อย 51% และต่างชาติไม่เกิน 49%

“เบื้องต้นคาดว่า กพท.จะต้องส่งหนังสือเชิญตัวแทนผู้บริหารของสายการบินนกสกู๊ต เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทก่อน จากนั้น กพท.จะรวบรวมข้อมูลไปวิเคราะห์ และตรวจสอบเชิงลึก เพื่อสรุปผลให้ รมว.คมนาคม พิจารณาและตัดสินใจต่อไป หากผลสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการถือหุ้นแทนต่างชาติหรือเป็นนอมินีจริง รมว.คมนาคม จะพิจารณาลงนามยกเลิกใบอนุญาตสายการบินดังกล่าวและต้องหยุดทำการบินไปโดยปริยาย”

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพท.อยู่ระหว่างจับตาสถานะการเงินของสายการบินนกแอร์ หลังพบว่ามีส่วนทุนเริ่มลดลง ปัญหาทุนหมุนเวียนพร่องไป โดยสาเหตุที่ กพท.ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะกังวลว่าหากสถานะการเงินไม่คล่องตัว ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และอาจกระทบต่อผลประโยชน์ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ปัจจุบันนกแอร์เป็นเพียงสายการบินเดียวที่ กพท.สั่งจับตาใกล้ชิด

นายจุฬายังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องทางการบิน ตามที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ FAA ปรับลดมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทย จากระดับ 1 เป็นระดับ 2 ล่าสุด FAA มีกำหนดจะเดินทางมาตรวจความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่ง กพท. มั่นใจว่าจะสามารถสอบผ่าน และกลับสู่มาตรฐานในระดับ 1 และทำให้สายการบินของไทยสามารถเปิดเส้นทางบินไปสหรัฐอเมริกาได้เช่นเดิม “กพท.แก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญไปแล้วหลายข้อ รวมทั้งปลดล็อกธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) สิ่งที่ FAA จะมาตรวจสอบซ้ำคือเรื่องการจัดเตรียมบุคลากรให้สอดคล้องต่อการตรวจสอบนักบินในไทย ซึ่งที่ผ่านมา กพท.ได้รายงานความคืบหน้าแล้วว่าได้นำนักบินที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบจำนวน 40 คน และอยู่ระหว่างฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 60 คน รวมถึงบุคลากรที่ กพท.มีอยู่ ซึ่งเพียงพอต่อการตรวจสอบควบคุมนักบิน”

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กพท. ว่า ปัจจุบันสายการบินที่จดทะเบียนในไทย รวมประมาณ 20 สายการบิน พบว่านกแอร์เป็นสายการบินที่น่าเป็นห่วงด้านสถานะทางการเงินมากที่สุด กพท.จึงต้องจับตาดูงบการเงิน และรายรับรายจ่ายของนกแอร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเบื้องต้นพบว่านกแอร์อยู่ระหว่างจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม หากดำเนินการแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ ก็จะช่วยลดข้อกังวลในการประกอบกิจการ ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมายอมรับว่าผู้ประกอบการสายการบินหลายรายมีปัญหาฐานะการเงิน เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ กพท.ต้องเข้มงวดตรวจสอบแผนดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับสถานะทางการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาธุรกิจล้มละลายและอาจส่งผลต่อผู้โดยสารที่จองการเดินทางแล้ว โดยแนวปฏิบัติหากพบว่าสายการบินใดมีความสุ่มเสี่ยง และมีสถานะการเงินไม่เหมาะสม กพท.สามารถพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำการบินได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 61 ของสายการบินนกแอร์ขาดทุนสุทธิถึง 830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 650 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 27 ล้านบาท เนื่องจากภาคท่องเที่ยวชะลอตัวลงตามฤดูกาล ต้นทุนน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานสูงขึ้น และขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังได้ขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) ให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในหุ้นนกแอร์ เนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ