“ไพรินทร์” ส่งสัญญาณตั้งโรงงานผลิตเอง
“ไพรินทร์” ปลื้มรถเมล์ไฟฟ้า หลัง ขสมก.เปิดทดลองวิ่งให้บริการ 6 เส้นทางใน กทม. ลั่น! เมล์เอ็นจีวี 489 คันเป็นลอตสุดท้ายที่จะสั่งซื้อ เล็งตั้งโรงงานผลิตรถเมล์ไฟฟ้าในไทย ด้านประธานบอร์ด ขสมก.เตรียมชงแผนซื้อรถเมล์ 3,000 คัน วงเงิน 12,000 ล้านบาท เข้า ครม.ตุลาคมนี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดทดลองเดินรถโดยสารไฟฟ้า ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ได้นำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าจากประเทศเกาหลีใต้มาจำนวน 1 คัน เพื่อทดลองวิ่งสลับกันไปใน 6 เส้นทางใน กทม.ระหว่างเดือน ส.ค. 2561-มี.ค.2562 ซึ่งการทดลองดังกล่าวเพื่อให้ ขสมก.ได้นำผลการทดสอบมาประเมินในการจัดหารถเมล์ในครั้งต่อไปว่า รถโดยสารไฟฟ้าเหมาะสมที่จะนำมาให้บริการหรือไม่ ซึ่งแน่ชัดแล้วว่าการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก.จัดหาไป 489 คันจะเป็นลอตสุดท้ายที่นำมาให้บริการ เพราะเบื้องต้นพบว่ารถโดยสารที่ใช้ไฟฟ้าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ารถเมล์ที่ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ และในแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่มีการจัดหารถ ครั้งต่อไปตามแผนก็จะเป็นรถโดยสารใช้พลังงานร่วมน้ำมันกับไฟฟ้า (รถไฮบริด) และรถโดยสารไฟฟ้า (อีวี)
ทั้งนี้เชื่อว่าภายใน 1 เดือน ก็น่าจะเห็นผลของการทดลองเบื้องต้น และสามารถสรุปผลการทดสอบได้ภายในต้นปี 2562 ว่ารถโดยสารไฟฟ้าที่ ขสมก. นำมาทดลองใน 6 เส้นทางมีประสิทธิภาพอย่างไร ส่วนประเด็นที่ราคาจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้ามีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ทางสถาบันการศึกษาของไทยอยู่ระหว่างการศึกษาโดยเฉพาะในประเด็นของคุณภาพแบตเตอรี่เพื่อให้มีคุณภาพใช้งานกับรถเมล์โดยสารได้ ซึ่งหากศึกษาแล้วเสร็จอาจนำไปสู่การตั้งโรงงานประกอบรถโดยสารไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการจัดหารถโดยสารไฟฟ้านั้นต่ำลงในอนาคต
ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ขสมก.คาดว่าจะเสนอแผนจัดหารถเมล์ จำนวน 3,000 คัน วงเงิน 12,000 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยเป็นการเสนอเพื่อขอทบทวนมติ ครม.จากการจัดซื้อรถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ในปี 2556 มาเป็นการจัดซื้อรถเมล์ชนิดอื่นด้วย จำนวนรวม 3,000 คัน วงเงิน 12,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2562-2565 ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนรถเมล์ที่จัดหาลดลงจากเดิม 183 คัน ขณะที่วงเงินจัดหาลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับแผนจัดหารถเมล์ 3,000 คัน แบ่งออกเป็น 1.จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 489 คัน ซึ่งโครงการนี้ได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้ว แต่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง 2.ปรับปรุงรถเมล์ฮีโน่ปรับอากาศ เครื่องยนต์เอ็นจีวี 323 คัน วงเงิน 135 ล้านบาท 3.เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 300 คัน 4.เช่ารถเมล์ดีเซลไฮบริด 400 คัน 5.การจัดซื้อรถเมล์ดีเซลไฮบริด 1,453 คัน และ 6.การจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) 35 คัน ทั้งนี้หากนำรถใหม่มาวิ่งให้บริการช่วงแรกรายได้ ขสมก.จะยังไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายจะลดลงมาก เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายพนักงานเก็บตั๋วจากการนำระบบอี-ทิกเก็ตมาใช้ รวมทั้งรถใหม่จะมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและซ่อมบำรุงลดลง คาดว่าปี 2565-2566 จะเริ่มเห็นรายได้ของ ขสมก. เติบโตขึ้น เพราะโครงการเออร์ลี่รีไทร์ หรือปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานตรวจบัตรโดยสาร จะครบตามเป้าหมายกว่า 3,000 คน
นายณัฐชาติ กล่าวถึงโครงการเออร์ลี่รีไทร์ว่า ขสมก.จะเสนอโครงการให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติได้ในเดือน ต.ค.นี้ โดยเริ่มโครงการเออรี่รีไทร์ในปี 2562 จำนวน 300-400 คน และในปี 2563 อีกกว่า 3,000 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแพ็กเกจผลตอบแทนเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา เบื้องต้นอาจเสนอให้เงิน 30 เท่าของเงินเดือน
โดยขณะนี้มีพนักงานประมาณ 700-800 คน ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว
ส่วนแผนการแก้ปัญหาหนี้สินสะสมของ ขสมก.ประมาณ 107,000 ล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่จะเสนอให้บอร์ด ขสมก. และ ครม.พิจารณาต่อไป เบื้องต้น ขสมก.ได้แยกประเภทหนี้เป็น 2 ส่วนคือหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ เช่น รถเมล์ฟรี และการควบคุมราคาค่าโดยสาร ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของหนี้รวมทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 80,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 19% เป็นหนี้ที่เกิดจากการบริหารงานของ ขสมก.เอง.