นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยหลังการประชุมเพื่อพิจารณามาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่ (IFRS9) ว่า ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ IFRS9 ออกไปอีก 1 ปี หรือมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.63 จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.62 เพื่อให้ภาคธุรกิจได้เตรียมตัวและมีความพร้อมในการปฏิบัติ แต่ได้เพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้สามารถใช้มาตรฐานใหม่ได้เลยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 “มติที่ออกมานี้ เป็นการพิจารณาจากหลายแนวทาง ซึ่งที่ประชุมมีการพูดว่า ถ้าไม่เลื่อนและบังคับใช้ปี 62 จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือให้กับไทยมากขึ้น รวมทั้งมีผลกระทบทางอ้อม คือทำให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อน้อยลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงว่า การปล่อยสินเชื่อขึ้นอยู่กับการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก และการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ แต่เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายมากขึ้น จึงเห็นว่าให้เลื่อนไปบังคับใช้เดือน ม.ค.ปี 63 แต่ธุรกิจที่มีความพร้อมก็ให้ปฏิบัติได้เลย เช่น บริษัทในตลาดหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ประกันภัย ธนาคาร เพราะได้เตรียมตัวมานานแล้ว”
นอกจากนี้ กกบ.ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จัดทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่าใครดูแลธุรกิจอะไร มีแนวทางปฏิบัติอย่างไรให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่จะต้องนำ IFRS9 ไปปฏิบัติ แต่ยืนยันว่าการนำมาตรฐาน IFRS9 มาใช้ จะเป็นประโยชน์สร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ และดึงดูดการลงทุน เพราะรายงานทางการเงินของไทยจะมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ส่วนข้อกังวลของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ว่าการบังคับใช้มาตรฐาน IFRS9 จะกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น ได้ขอให้ กกร.ไปศึกษาว่ามีผลกระทบอย่างไร จะได้รู้ว่าเอสเอ็มอีต้องการอะไร เพื่อนำมาใช้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีต่อไป
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กกร.ได้ให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาผลกระทบการใช้มาตรฐาน IFRS9 ให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน จะรู้ได้แน่นอนว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร แต่ธนาคารหลายแห่งกังวลว่า การใช้มาตรฐานใหม่จะกระทบต่อการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี เพราะมีเกณฑ์ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มขึ้น และอาจไม่ปล่อยกู้ให้เพื่อป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่า เหตุใดมาตรฐานใหม่บังคับใช้เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ไม่ใช้กับธนาคารของรัฐด้วย.