นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยวิสัยทัศน์การดำเนินนโยบายขององค์กรอย่างเป็นทางการในโอกาสรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14 ว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว กฟผ.พยายามมองหาพันธมิตรร่วมดำเนินการผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกำหนดแนวทางหารือในการร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่คาดว่าจะมีข้อสรุปชัดเจนช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังจะร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือเอสซีจี เพื่อทำการวิจัยพัฒนานำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ต่อยอดเชิงพาณิชย์ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ พัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ให้การผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ขณะที่ความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตันนั้น ยืนยันมีความพร้อม จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดในปี 2561
“กฟผ.ยังต้องปรับแนวคิด ปรับตัว และปรับโครงสร้างให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย จากปัจจุบันมีบุคลากร 22,000 คน คาดว่าใน 3-5 ปี ลดลงเหลือ 16,000 คน จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้า โดยไม่หยุดที่จะเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงปรับวิธีการทำงานใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่ง กฟผ.ยืนยันยังคงสัดส่วนการผลิตสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้ากว่า 30% ของประเทศ”.