“พาณิชย์” ถกวาระเร่งด่วน เคาะชะลอ การใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ออกไป 1 ปี เพื่อประเมินผลกระทบเอสเอ็มอีก่อน ชี้ขาดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ พร้อมมอบสภาวิชาชีพบัญชีตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจ ให้คำปรึกษาและตอบข้อสงสัย และจัดเวิร์กช็อปอบรมผู้ทำบัญชีและนิติบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อม
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน-กลุ่มเครื่องมือทางการเงินไปปฏิบัติ ซึ่งแต่งตั้งโดย กกบ. ได้หารือในวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาแนวทางการลดผลกระทบจากการใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS 9 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ชะลอ การใช้มาตรฐานดังกล่าวออกไป 1 ปี จากเดิมที่ จะเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2561 และเริ่ม บังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป เป็นให้มาพิจารณาการใช้มาตรฐานดังกล่าวอีกครั้งหลังเดือน มิ.ย.2562
“ได้หารือกันแล้วเห็นว่ามาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ที่ออกมา จะกระทบกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้แบงก์พาณิชย์และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น การพิจารณาลูกหนี้ การกันสำรอง และจะส่งผล ให้ปล่อยกู้ยากขึ้น หรือคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น แล้วจะกระทบกับเอสเอ็มอี จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรีบใช้ ขอศึกษาผลกระทบให้ชัดเจนก่อน เพราะต่างประเทศเองก็เพิ่งเริ่มใช้”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแบงก์พาณิชย์มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีอยู่แล้ว มีการสำรองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ จึงไม่ใช่ปัญหา ยกเว้นธนาคารของรัฐที่ตั้งขึ้นมาโดยมีภารกิจเฉพาะ เช่น ธนาคารเอสเอ็มอี ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอี อาจมีเงื่อนไขที่ต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของทางกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กกบ.ได้มอบหมาย ให้สภาวิชาชีพบัญชี โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจัดตั้งคลินิกบัญชีเฉพาะกิจสำหรับ IFRS 9 เพื่อตอบคำถามในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชี IFRS 9 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กรมสรรพากร ตลอดจนผู้สอบบัญชีที่อยู่ในตลาดทุนร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษา และให้จัดการอบรมในลักษณะการ อบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ให้กับผู้ทำ บัญชีและนิติบุคคลที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ใหม่ เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการของมาตรฐานการบัญชีให้มากขึ้น
สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากล อย่างเต็มรูปแบบ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS : International Financial Reporting Standards ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคงรองรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่ภาคเอกชนต้องการให้เลื่อนการมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ออกไป เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้
สามารถปรับตัวได้และไม่กระทบโอกาสของการได้สินเชื่อว่าการนำ IFRS 9 มาใช้นั้นต้องคำนึง ถึงปัจจัยหลายด้าน ในส่วนของสถาบันการเงินแม้ว่ามีความพร้อม เนื่องจากได้เตรียมการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญในเรื่องผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วย
ทั้งนี้ ธปท.กำลังประสานงานเพื่อให้สถาบันการเงินเพื่อจัดทำประมาณการผลกระทบของเรื่องดังกล่าวต่อต้นทุนของสถาบันการเงินและการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป และเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ทาง ธปท.ก็จะเสนอความเห็นให้ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) พิจารณาต่อไปว่าควรจะนำมาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าวมาใช้เมื่อใดและอย่างไร.