“นที”ยอมรับความจริง! รัฐสร้างปัญหาทีวีดิจิทัล

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“นที”ยอมรับความจริง! รัฐสร้างปัญหาทีวีดิจิทัล

Date Time: 16 เม.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • ปัญหาของทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้น มีเหตุจากปัจจัยแรก การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท) ผู้ผลักดันการประมูลทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2556 ยอมรับว่า ปัญหาของทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้น มีเหตุจากปัจจัยแรก การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกำหนดให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 จากเดิมที่ระบุว่า เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลให้นำมาพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีของประเทศ

แต่มีการแก้ไขเป็นให้นำเงินจากการประมูลทีวีดิจิทัล นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประมูลทีวีดิจิทัลทุกราย เพราะการตัดสินใจเข้าประมูลครั้งนั้น จะต้องมีเงินมาช่วยพัฒนาทีวีดิจิทัล
หากมีปัญหาก็จะมีเงินจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กปทส.) มาเป็นกลไกที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลให้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ การแจกคูปองทีวีดิจิทัล เพื่อนำไปแลกซื้อกล่องดิจิทัล (SET TOP BOX) จากเดิมกำหนดราคาไว้ที่ 1,100-1,200 บาท เพื่อให้ครอบคลุมทั้งกล่อง ดาวเทียม กล่องดิจิทัล เสาอากาศ และค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง แต่เมื่อมีการนำเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช.กลับไม่เห็นชอบเรื่องราคา กระทั่งมีการปรับลดราคาลงเหลือ 690 บาท

คุณภาพกล่องต่ำเพราะราคาถูก

“การแจกคูปองของ Set Top Box ในราคา 690 บาท ทำให้ไม่มีเสาอากาศ ไม่มีค่าติดตั้ง ประชาชนจึงไม่สนใจ ไม่ มาแลกกล่อง หรือถ้าแลกกล่องไปก็ไม่ติดตั้ง จากยอดที่แจกคูปองทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 22.9 ล้านใบ มาแลกคูปองทีวีดิจิทัลเพียง 9 ล้านใบเท่านั้น ซึ่งนอกจากราคาคูปองทีวีดิจิทัลไม่จูงใจให้ผู้ผลิตกล่องทำธุรกิจได้อย่างมีกำไรแล้ว ขั้นตอนการแจกและการอนุมัติตัดสินใจของ กสทช. ก็ล่าช้ามาก”

โดยหลักการควรเริ่มทยอยแจกคูปองตั้งแต่เริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัล เพราะในช่วงแรกทีวียังคงเป็นระบบเดิม ทำให้ต้องใช้กล่องดิจิทัลในการรับชม แต่ปัจจุบันโรงงานผลิตทีวีต่างๆได้ผลิตทีวีเป็นทีวีดิจิทัลในตัว และในอนาคตอันใกล้กล่องดิจิทัลก็จะหายไป เพราะทีวีทุกเครื่องจะสามารถดูทีวีดิจิทัลได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กล่องดิจิทัลอีกต่อไป

ยอมรับ “พลาด” พอๆกันหมด

ขณะนี้ธุรกิจทีวีดิจิทัลซึ่งดำเนินการมาครบ 4 ปี หลังจากประมูลเสร็จ และทยอยเปิดดำเนินการในเดือน เม.ย.2557 นั้น เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลานั้นเศรษฐกิจซบเซา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ บรรยากาศจึงมิได้เอื้ออำนวยต่อการเริ่มต้นของธุรกิจในขณะที่ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถพัฒนาเนื้อหารายการได้อย่างเต็มที่ และคิดนอกกรอบไม่ได้ ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปประเทศ กระทบเป็นลูกโซ่สู่วงจรการโฆษณาที่มีเงินก้อนเดียวกันหมุนเวียนอยู่ในระบบ การประเมินว่าธุรกิจจะขาดทุนในช่วง 4-5 ปีแรกจึงยาวออกไปกว่านั้น

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

นายนที กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้ามา ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็วสู่แพลตฟอร์มบนสมาร์ทโฟนด้วย อย่างไรก็ตาม หากแต่ละช่องทีวีสามารสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวเองได้ด้วยคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาสาระคุณภาพ เช่น ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส หรือเสนอรายการผ่านแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่สามารถเรียกผู้ชมเข้าไปชมย้อนหลังได้ หลังจากที่ออกอากาศไปแล้ว 48 ชม. ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทีวีช่องนั้นๆได้ เช่น ช่อง 7 และช่อง 3 เป็นต้น

รัฐบาลต้องช่วยเหลือทีวีดิจิทัล

เมื่อทีวีดิจิทัลมีปัญหา รัฐก็จำเป็นจะต้องช่วย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพื่อให้เดินหน้าธุรกิจต่อไปให้ได้ เพราะทีวีดิจิทัลคือฟรีทีวี เป็นบริการสาธารณะ รัฐมีหน้าที่ให้บริการประชาชน และเป็นบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือรายวัน ก็ไม่มี และการช่วยเหลืออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง แต่เพื่อให้ทุกรายมีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนพัฒนาเนื้อหารายการที่ดี เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่รับชม และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมทีวีของประเทศ

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาพักชำระค่าประมูลออกไปเป็นเวลา 3 ปี และช่วยแบ่งเบาค่าเช่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัล โดย กสทช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 50% เป็นระยะเวลา 24 เดือนนั้น ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้ว ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ เพราะหากรัฐไม่ช่วย ทีวีดิจิทัลบางช่อง อาจต้องเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากทีวีเป็นช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐาน หากหายไปก็จะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ