นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีตัวแทนชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ประเภทชีวมวลและผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอสพีพีกว่า 25 โรง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน หลังจากรัฐบาลเปลี่ยนสัญญากับผู้ประกอบการรายเล็กมาก (วีเอสพีพี ) ชีวมวล จากการอุดหนุนแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) เป็นฟีดอินทารีฟ (FiT) ในราคา 4.24 บาท/หน่วย ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวล ว่า ยืนยันหลักการรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตจะพิจารณาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากปัจจุบันรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปริมาณรวมสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ จากที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการใช้ไฟฟ้า มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 20-25 สตางค์ต่อหน่วย เป็นภาระระยะยาว 10-20 ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของค่าไฟฟ้า
“กระทรวงพลังงานยืนยันมีนโยบายส่งเสริมการรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นอันดับแรกๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ผลิตแล้วต้นทุนจะต้องไม่เกินค่าไฟฟ้าขายส่งที่ประมาณ 2.40 บาทต่อหน่วย กรณีเอสพีพีชีวมวลเสนอมาก็จะพิจารณาทบทวน โดยใช้หลักการต้นทุนเป็นหลักว่าซื้อแล้วจะเพิ่มภาระต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตอบไม่ได้ว่า จะพิจารณาตามมติ กบง.เดิมหรือไม่”
ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ประเภทชีวมวล กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาไปแล้วระดับหนึ่ง อยู่ระหว่างนำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งหวังว่าในการประชุม กพช. วันที่ 23 เม.ย.นี้จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะหากรัฐไม่มีแนวทางช่วยเหลือ ผู้ประกอบการก็คงอยู่ไม่ได้.