พีทีทีจีซี เชื่ออีอีซี ดูดเม็ดเงินเข้าไทย ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ลงทุน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พีทีทีจีซี เชื่ออีอีซี ดูดเม็ดเงินเข้าไทย ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ลงทุน

Date Time: 22 มี.ค. 2561 21:34 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • พีทีทีจีซี มอง พ.ร.บ.อีอีซี เพิ่มเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศ ดึงดูดเม็ดเงินเข้าไทยครั้งใหญ่ ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ก่อสร้างโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ ปักหมุด 23 มี.ค.นี้...

Latest


พีทีทีจีซี มอง พ.ร.บ.อีอีซี เพิ่มเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศ ดึงดูดเม็ดเงินเข้าไทยครั้งใหญ่ ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ก่อสร้างโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ ปักหมุด 23 มี.ค.นี้...

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดที่ประกอบด้วย จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย หลังจากที่ พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งจะเป็นกฎหมายรองรับการดำเนินงานที่สำคัญได้ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติ(สนช.) เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการประมาณ พ.ค.นี้

นอกจากนี้ มองว่ากฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้าต่างเฝ้ารอการคลอดกฎหมายดังกล่าวมาพอสมควร โดยเป็นที่น่าจับตาว่าเม็ดเงินการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในส่วนของภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซีเมื่อปีที่ผ่านมาแตะระดับ 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเกินกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นในปี 2561 นี้การลงทุนทั้งรัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะพัฒนาในอีอีซีและเอกชนมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้วางเป้าหมายไว้ว่าการลงทุนของรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซี จะมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก อาทิ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก, ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด เฟส 3 แหลมฉบัง เฟส 3 สัตหีบ, รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมเป้าหมาย, เป็นต้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 5% ต่อปีเกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตราต่อปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาทต่อปี ฯลฯ

ขณะเดียวกันการพัฒนาอีอีซี เป็นการหยิบเอานโยบาย Thailand 4.0 สมาร์ทเทคโนโลยี-สมาร์ทประชาชน มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่ง จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นระเบียงของกรุงเทพฯ อีอีซี จึงเป็นการสานต่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีก่อนให้เสร็จสมบูรณ์มากขึ้น และเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นที่ให้โตเกียวเป็นศูนย์กลาง แล้วให้จังหวัดรอบๆ ดึงเข้ามาพัฒนาเชื่อมกัน

ทั้งนี้กลุ่มปตท. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ดตั้งแต่เริ่มแรก จึงถือเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซีเพื่อการพลิกโฉมประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐให้การส่งเสริม โดยได้เตรียมพร้อมโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 70,000 ล้านบาท เป็นรายแรกของไทย ในการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins Reconfiguration Project) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการผลิตโอเลฟินส์ ณ โรงงานที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี โดยวันที่ 23 มี.ค. 2561 นี้ กำหนดวางศิลาฤกษ์ เพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 36 เดือน และสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563

นอกจากนี้ ยังมีอีกโครงการภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์ ภายใต้บริษัทย่อยคือ GC Oxirane (GCO) และโครงการผลิตสารโพลิออลส์ ภายใต้บริษัทร่วมทุน GC Polyols (GCP) โดยโครงการผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงทั้งสองโครงการเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น

"อีอีซีถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีความแน่นอน ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และจากการที่ พ.ร.บ.อีอีซี เตรียมประกาศใช้ มีความชัดเจนว่าจะมีการดูแล เศรษฐกิจระดับชุมชน สิ่งแวดล้อม เชื่อว่านับจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งจากไทยและต่างชาติที่แสดงความสนใจอย่างมาก เพราะความชัดเจนในนโยบายของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนรวมไปถึง พ.ร.บ.อีอีซี ที่ได้วางกรอบการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยมีการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการกระจายความเจริญไปสู่ทุกระดับ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และเกษตรอีกด้วย" 

ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐในพื้นที่อีอีซีจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต ดังนั้นเราจะได้เห็นมิติใหม่ของการลงทุนไทยที่หยุดนิ่งมาเกือบ 10 ปีให้ขับเคลื่อนและไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยอีอีซีจะเป็นฐานการลงทุนของไทยเพื่อสร้างเทคโนโลยี สำหรับเจเนอเรชั่นต่อไป และเปิดประตูการค้าเชื่อมสู่เวทีโลก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์