ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการ “สร้างนวัตกรรม” ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต
เราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆจากบริษัทเอกชนอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังแพร่หลายและเข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้นไปทุกขณะ
หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศเอง ก็ประกาศนโยบายและมาตรการส่งเสริมนวัตกรรมกันขนานใหญ่ ขณะที่รัฐบาลไทยเราเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อเศรษฐกิจจึงงัดมาตรการส่งเสริมทั้งการสร้างและการใช้นวัตกรรมของภาคเอกชนอย่างรอบด้าน
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61 ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการวิจัยและสร้างนวัตกรรมโดยการยกเว้นภาษีให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนำค่าใช้จ่ายบริจาคเข้ากองทุนวิจัยและนวัตกรรม 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยภาครัฐยอมสูญเสียรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อต้องการส่งเสริมด้านการทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมให้มากขึ้น
ขณะที่ภาคการศึกษาเป็นอีกกำลังสำคัญสร้างเสริมนวัตกรรมและสร้างภูมิปัญญาของประเทศ
“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างนวัตกรรมและพร้อมทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการนำร่องปูพื้นฐานด้านการศึกษาและบ่มเพาะ “นักรบเศรษกิจ” ที่นำเอานวัตกรรมมาเป็นแรงขับเคลื่อนผลงาน
“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงแนวคิดในการบ่มเพาะและสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ดังนี้ :
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตื่นตัวเรื่องการนำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนผู้ประกอบการ (Innovation Driven Entrepreneurship : IDE) หรือการเป็นผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมในการทำธุรกิจ (Business Model) หรือผลิตสินค้าเพื่อสร้าง “นักรบเศรษฐกิจ” รุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
พร้อมๆกับที่รัฐบาลผลักดันนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหา “กับดักรายได้ปานกลางของประเทศ” นั้น
ณ ขณะนี้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ก่อให้เกิด “ระบบนิเวศ (Ecosystem)” หรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ได้มากขึ้นแล้ว โดยรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่นแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงเข้ามาอยู่ในไทยเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่ภาคเอกชนก็มุ่งหานวัตกรรมผลิตสินค้า สร้างมูลค่าในตัวผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ (IDE)
ขณะที่สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สร้างพันธมิตรและชุมชน (Community) ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความต้องการที่จะเป็น IDE มากขึ้น ล่าสุดได้ยกเลิกวิชาที่ไม่จำเป็นในปัจจุบัน และหันมามุ่งเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับ IDE และวิชาที่รองรับไทยแลนด์ 4.0 อย่างวิชา IDE 101 (การประกอบการเชิงนวัตกรรม) และวิชา Digital Coding วิชาบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อปูพื้นให้นักศึกษาได้รู้จักการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนผู้ประกอบการ และเรียนรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัล
เพราะจากข้อมูลของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (MIT) พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจ IDE เพิ่มขึ้นทุกปี และเด็กจบใหม่จาก MIT มักจะเป็น IDE โดย 80% ของเด็กจบใหม่เหล่านี้ สามารถดำเนินธุรกิจได้นานกว่า 5 ปี และ 70% ทำธุรกิจได้นานกว่า 10 ปี
“เนื่องจาก IDE ที่จบจาก MIT จะถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักกว่าจะผลิตสินค้าได้ 1 ชิ้น ต้องผ่านการนำเสนอไอเดีย (Pitch idea) นับครั้งไม่ถ้วนจนได้ไอเดียที่ดีที่สุดมาผลิตเป็นสินค้า 1 ชิ้น!! มหาวิทยาลัยจึงนำความรู้ของ MIT หรือทฤษฎี 24 ขั้นในการสร้าง IDE มาประยุกต์สอนในวิชา IDE 101 ที่จะเน้นภาคปฏิบัติ นำเสนอไอเดียธุรกิจแบบ Business Pitching และไม่มีการวัดผลการสอบแต่จะให้นักศึกษาออกไปหาปัญหาที่เกิดขึ้นในย่านห้วยขวาง เมื่อพบปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้มานำเสนอวิธีการทำธุรกิจหรือผลิตสินค้า
เพราะการจะเกิด IDE หรือผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมได้ ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของผู้ผลิต แต่เริ่มจากต้องรู้ก่อนว่าปัญหาของผู้บริโภคคืออะไร รู้ว่าผู้บริโภคเป็นใคร รู้ว่าจะหาแหล่งเงินทุนได้อย่างไร ฯลฯ แล้วจึงนำเสนอไอเดีย หาแหล่งเงินทุน และผลิตสินค้า เพื่อแก้ปัญหาให้คนเหล่านั้น
“นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คนหนึ่ง ได้นำเสนอไอเดียเครื่องปรุงรสแบบพกพา เช่น พริกป่น ถั่วป่น เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคบางคนที่ชอบก๋วยเตี๋ยว แต่แพ้สารเคมีในเครื่องปรุงที่ไม่สะอาด แล้วส่งผลงานประกวดในงาน IDE Competition 2018 ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3”
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อให้เกิด IDE มากขึ้น อย่างการประกวด IDE Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันแผนธุรกิจด้านนวัตกรรม โดยในปี 61 จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้สนับสนุนทั้งจาก MIT และ University of California, Berkeley (UC Berkeley)
ภายใต้การประกวด IDE Competition นั้นแบ่งเป็นการประกวดย่อย 3 รายการ โดย 2 รายการแรกจะเป็นการแข่งขันในระดับนานาชาติ ได้แก่ MIT Enterprise Forum ที่ผู้ชนะจะได้รับเงินสนับสนุนและได้รับโอกาสไปเปิดประสบการณ์กับทริป MIT Innovation Deep Dive ที่ MIT สหรัฐฯ
อีกรายการประกวดคือ Global Social Venture Competition การแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อสังคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UC Berkeley ผู้ชนะจะได้รับเงินทุน และโอกาสเข้าแข่งขันในรอบ Global Final ในเดือน เม.ย.นี้ และสุดท้ายคือ “กะเทาะเปลือก” เป็นการแข่งขันระดับประเทศ เปิดรับทีมที่มีนวัตกรรมและธุรกิจเพื่อสังคม
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และพันธมิตร สร้างชุมชนที่จะผลักดันให้เกิด IDE ทั่วประเทศ เช่น โครงการ Boot Camps มุ่งเน้นการอบรมทฤษฎี 24 ขั้นของ MIT และกำหนด Theme ที่เป็นโจทย์ให้ผู้เข้าอบรมได้นำเสนอไอเดีย เช่น Medical Device หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นต้น
“ที่สำคัญในปีนี้ เรายังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในเอเชีย ที่จะร่วมกับ MIT ทำโครงการ MIT IDE Inclusive Challenge สำหรับภูมิภาคเอเชีย เปิดโอกาสให้บริษัทหรือองค์กรทั่วเอเชียที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วแต่ยังอยู่ในวงจำกัด มานำเสนอแผนธุรกิจเพื่อคัดเลือกผลงานไปแข่งขันระดับโลก ผลงานที่ชนะเลิศ นอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้วยังมีโอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามาช่วยขยายธุรกิจให้ด้วย”
ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าไทย ภายใต้การนำของ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการคนปัจจุบันที่มีนโยบายมุ่งลดความเหลื่อมล้ำให้คนในสังคม และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
รศ.ดร.เสาวณีย์ ยืนยันว่ารัฐบาลนี้เดินมาถูกทางแล้วที่มีนโยบายสร้าง “นักรบเศรษฐกิจ” ถ้าไทยไม่มี IDE คงตามโลกไม่ทัน ที่สำคัญประเทศไทยมีของดีอยู่ควรใช้ของดีนั้นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าว ผู้ประกอบการควรหานวัตกรรมมาผลิตข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตลาดต้องการและมีมูลค่าเพิ่มสูงๆ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อีกมาก
“ทุกวันนี้ ไทยจะมัวแต่ผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะตกยุคและขายไม่ได้ ต้องผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และมีมูลค่าสูงๆ ผลิตน้อยชิ้น แต่ขายได้ราคาแพงๆ ย่อมดีกว่าผลิตมากชิ้น แต่ขายได้ราคาต่ำ ถ้าไทยก้าวไปสู่ประเทศที่มี IDE มากๆ จะเป็นทางออกของประเทศ ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล”
ดร.ภาณุ สุกิจปาณีนิจ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการประดิษฐ์แผ่นกรอง : Membrane (Senior Membrane Scientist) จาก Koch Membrane Systems Inc. เมืองบอสตัน สหรัฐฯ (บริษัทใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ) คนไทยหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับรางวัล MIT Technology Review’s Top Innovators Under 35 ในปี 2558 และได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวด IDE Competition 2018 เล่าว่า ปัจจุบันประเทศไทยตื่นตัวในการสร้าง IDE มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นแนวโน้มของโลกที่ต้องตามให้ทัน
การจะเป็น IDE ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ขอให้รู้ปัญหาของผู้บริโภคก่อน แล้วคิดหาหนทาง หรือหาสินค้าที่จะแก้ปัญหาให้คนเหล่านั้น ตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในทีม R&D มีหน้าที่หลักในการค้นหาเทคโนโลยี และประดิษฐ์แผ่นกรองที่สามารถกรองของเสียออกจากสิ่งต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ
“ลูกค้าบางรายจะบอกว่า ต้องการกรองของเสียออกจากไวน์ แต่ยังคงกลิ่น และสีไว้เหมือนเดิม หรือกรองสารเคมีออกจากอาหารได้เกือบ 100% ผมก็ต้องประดิษฐ์แผ่นกรองที่มีคุณสมบัติแบบนั้น ซึ่งต้องรู้ปัญหาของลูกค้าก่อน แล้วจึงผลิตสินค้าตามที่เขาต้องการ ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ ไม่ใช่สินค้าตกยุค ที่ผลิตแล้วขายไม่ได้”
สำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็น IDE ตนอยากให้ “คิดใหญ่ (Think Big)” หรือคิดถึงปัญหาของโลก ของมวลมนุษยชาติ แล้วคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ หรือสินค้าที่แก้ปัญหาให้กับโลกและมนุษยชาติ เพราะจะได้สินค้าที่สามารถแก้ปัญหาให้กับโลกและขายได้ทั่วโลก ไม่ใช่คิดถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะในไทย
อย่างสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจาก MIT เกิดขึ้นตอนเรียนปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เนื่องจากสิงคโปร์ขาดแคลนน้ำต้องซื้อน้ำจากมาเลเซีย ประกอบกับน้ำในโลก แม้มีมากถึง 70% ของพื้นที่โลก แต่มีเพียง 1% ที่นำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ขณะที่ในอนาคต ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจขาดแคลนน้ำ จึงคิดหาวิธีที่จะทำน้ำสะอาดจากแหล่งน้ำในธรรมชาติที่มีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายมากมาย
“ผมจึงคิดทำ membrane จากพลาสติก (โพลิเมอร์) มีความคงทน รูปร่างเหมือนหลอดดูดน้ำ ขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 50 เท่า ทำให้กรองน้ำได้เร็ว และได้ปริมาณมากกว่าแผ่นกรองแบบอื่น สามารถกรองของเสียที่ปนเปื้อนในน้ำได้ในระดับนาโน หรือระดับที่เล็กมากๆ ประหยัดต้นทุนกว่าแผ่นกรองจากกระดาษ หรือวัสดุอื่นที่คงทนน้อยกว่า และยังลดการใช้พลังงาน เพราะการผลิต membrane ใช้สารเคมีน้อยกว่าแผ่นกรองทั่วไปถึง 15%”
จากผลงานดังกล่าวทำให้ Professor ที่ NUS, Professor ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส และนักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่สหรัฐฯ ส่งชื่อตนเข้าประกวดรางวัล MIT Technology Review’s Top Innovators Under 35 สำหรับนักประดิษฐ์อายุน้อยกว่า 35 ปี สำหรับภูมิเอเชียแปซิฟิก จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากทั่วโลกกว่า 250 คน จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานจากแต่ละภูมิภาคให้เหลือภูมิภาคละ 10 คน และสุดท้ายคัดเลือกให้เหลือ 35 คน ซึ่งตนเป็น 1 ใน 35 คน และเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลของ MIT ในปี 2558
“ทุกวันนี้ membrane ของผมถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร พลังงานทดแทน และผมยังคงพัฒนาไปเรื่อยๆ ให้มีคุณสมบัติที่ดีมากขึ้นอีกตามที่ลูกค้าต้องการ โดยผมคิดเสมอว่า เมื่อคนอื่นทำได้ ผมก็ทำได้ คนไทยก็ต้องทำได้ และสามารถเป็น IDE ได้เช่นกัน” ดร.ภาณุกล่าวในที่สุด
********
นี่เป็นตัวอย่างความสำเร็จของคนไทยที่อาศัยงานนวัตกรรมเป็นจุดขาย และเป็นอีก “ไอดอล” ของการสร้าง “นักรบเศรษฐกิจ” ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาขับเศรษฐกิจไทยเพื่อทะยานขึ้นไปผงาดบนเศรษฐกิจโลกในอนาคต.
ทีมเศรษฐกิจ