นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า วันที่ 26 ม.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) จะมีการอนุมัติโครงสร้างต้นทุนค่าโดยสารเครื่องบิน ออกเป็น 2 ประเภท คือ โครงสร้างต้นทุนสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) และโครงสร้างต้นทุนสายการบินที่ให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส (สายการบินที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ เช่น สายการบินไทย) โดยสายการบินโลว์คอสต์ จะให้มีอัตราค่าโดยสารที่จัดเก็บได้ขั้นสูง ได้ไม่เกิน 9.40 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร (กม.) ขณะที่สายการบินแบบฟูลเซอร์วิส จะจัดเก็บค่าโดยสารได้ไม่เกิน 13 บาทต่อคนต่อ กม. ทำให้เห็นโครงสร้างราคาของต้นทุนค่าโดยสารมีความชัดเจน เพื่อป้องกันการจัดเก็บค่าโดยสารที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น เมื่อ กบร.อนุมัติก็ต้องรอให้มีการลงนามโดย รมว.คมนาคม ในประกาศของกฎกระทรวง จากนั้นต้องใช้
เวลา 30 วัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และในประกาศยังจะระบุชัดเจนว่า สายการบินแบบฟูลเซอร์วิส ต้องมีบริการทั้งอาหารและเครื่องดื่ม, ให้บริการน้ำหนักกระเป๋า, ให้ผู้โดยสารคืน หรือเปลี่ยนตั๋วโดยสารได้ ส่วนเรื่องการออกใบอนุญาต
ผู้ประกอบการเดินอากาศใหม่ (เอโอซี) กพท.จะทยอยมอบให้ครบ 20 สายการบิน ที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ ภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนการปลดล็อกปัญหาการบินกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ที่ปรับลดระดับมาตรฐานความปลอดภัยของไทย ไปอยู่ระดับที่ 2 โดยห้ามบินเข้าสหรัฐฯ คาดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ในกลางปีนี้ และสามารถเปิดบินได้ทันตารางบินฤดูหนาวปีนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการมอบเอโอซีระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กับสายการบินเอเชียแอตแลนติก แอร์ไลน์สว่า สายการบินเอเชียแอตแลนติกเป็นสายการบิน
ที่ให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศลำดับที่ 14 ที่ได้รับเอโอซีจาก กพท.