วิจัยกสิกร คาด "ช็อปช่วยชาติ" กระตุ้นใช้จ่ายธุรกิจค้าปลีก ประมาณหมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ภาครัฐประเมิน เผยผลสำรวจ ชี้คนรายได้สุทธิ 2 ล้านบาทขึ้นไป วางแผนใช้สิทธิเต็มจำนวน...
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่เอกสารระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พ.ย. 2560 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ "ช็อปช่วยชาติ" ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560 ระยะเวลารวม 23 วัน โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ได้ไม่เกิน 15,000 บาท นั้น มองว่า มาตรการช็อปช่วยชาติดังกล่าวน่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยให้กับธุรกิจค้าปลีกได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ และน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตสินค้า (Supplier) เกษตรกร รวมถึงการจ้างงานของธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่ของธุรกิจค้าปลีก
จากที่ก่อนหน้านี้ ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศ โดยสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดขายของสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนก.ค.-ส.ค. และต.ค.-พ.ย.และครอบคลุมหลายๆ พื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมีแนวโน้มเติบโตดี หลายภาคส่วนมีการปรับประมาณการ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่หากมองในฝั่งกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ กลับพบว่า การเติบโตยังคงกระจุกตัวในบางภาคส่วน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน (รถยนต์) แต่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่คงทนและกึ่งคงทน) ยังคงมีความเปราะบางหรือยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยแรงส่งของมาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีก คิดเป็นเงินใกล้เคียงกับที่ภาครัฐได้ประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องของสต๊อกสินค้า การจัดการเรื่องของใบกำกับภาษี และเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายให้เร็วขึ้นกว่าปีก่อน เพื่อหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค
นอกจากนี้ในการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ จะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดยคนที่มีฐานรายได้สุทธิมากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป ยังคงวางแผนใช้สิทธิใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีฐานรายได้สุทธิ 2 ล้านบาทขึ้นไป วางแผนที่จะใช้สิทธิเต็มจำนวน แต่คนที่มีฐานรายได้สุทธิไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี วางแผนที่จะใช้สิทธิลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม
ทั้งนี้มาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกใกล้เคียงกับที่ภาครัฐได้ประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่จากการสำรวจพบว่ากว่า 40% ของผู้ที่จะใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าว มีแผนที่จะใช้จ่ายอยู่แล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพียงแต่อาจวางแผนเลื่อนวันในการซื้อสินค้าให้เร็วขึ้นในช่วงที่ออกมาตรการ เพื่อต้องการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าต่อชิ้นสูง คาดว่าบรรยากาศโดยรวมในการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีนี้ น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ 2 รอบ คือ ช่วงมาตรการช็อปช่วยชาติและช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งต่างจากปีก่อนที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน.