สภาผู้ส่งออก คาดส่งออกไทยปีนี้ พุ่งไม่ต่ำกว่า 8% รับอานิสงส์การค้าระหว่างประเทศทั่วโลก กระเตื้องดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก พลิกกลับมาโต ชงรัฐดูแลค่าบาท ไม่ให้แข็งเกิน คาดไตรมาส 2 ปีหน้า กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย...
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ส่งออกของไทยปี 60 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% ตามทิศทางการค้าโลก หลังเดือน ก.ย.60 ขยายตัว 12.2% มีมูลค่า 21,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และสูงสุดในรอบ 56 เดือน โดยการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 720,176 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้การส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ในรูปเงินบาทการส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 6,001,376 ล้านบาท เติบโต 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY)
ทั้งนี้ การเติบของการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา พลิกกับมาโตช่วงปลายไตรมาส 3/60 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั้งทางทะเลและทางอากาศระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก น้ำตาลทราย ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจากปัจจัยบวก อาทิ ราคา และความต้องการสินค้าเพื่อนำไปผลิตต่อของคู่ค้า นอกจากนี้การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาล Thanksgiving ในช่วงพ.ย.นี้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกไทย อาทิ นโยบายของผู้สมัครประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมาแทนที่คนปัจจุบัน จะหมดวาระลงในเดือน ก.พ. 2561 อาจมีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นและอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนต่อไป การเคลื่อนย้ายแรงงานและการสร้างตลาดแรงงานที่มีคุณภาพต่อการผลิต และสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี
อย่างไรก็ตาม สรท.เสนอภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ ประกอบกับใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศมากเกินไป คาดว่า กนง.อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วง ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดขั้นตอน อุปสรรค และต้นทุนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยให้การค้าในระบบ E-Commerce มีการขยายตัวได้มากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ ต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรี ปรับปรุงเงื่อนไขในกรอบการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว เร่งรัดกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ไทยได้มีข้อได้เปรียบทางการค้าเหนือคู่แข่งสำคัญ รวมถึงแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม.