ม.หอการค้าไทย คาดเงินสะพัดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยสูงสุดตั้งแต่สำรวจมา แต่การขยายตัวอยู่ที่ 2.55 ต่ำกว่าปีก่อน ที่ขยายตัว 4.2% สะท้อนประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย..
วันที่ 12 ต.ค.60 นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปี 60 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,177 คนทั่วประเทศ ว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ จะมีเงินสะพัดกว่า 45,081 บาท ขยายตัวจากปีก่อน 2.5% เพราะราคาอาหารเจและวัตถุดิบที่ทำอาหารเจสูงขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่าง 36.5% จะกินเจในช่วงเทศกาล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และตั้งใจทำบุญ รวมถึงกินเจเป็นประจำอยู่แล้ว ขณะที่อีก 63.5% ตอบว่าไม่กิน เพราะอาหารเจแพง ที่บ้านไม่มีใครกิน และเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยผู้ที่ตอบกินเจ ส่วนใหญ่ 32.1% จะซื้ออาหารปรุงสำเร็จมากินที่บ้าน
สำหรับค่าใช้จ่ายโดยรวมปีนี้ ส่วนใหญ่ 53.9% ตอบว่า ซื้อของกินของใช้สำหรับกินเจในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะผักและผลไม้ และยังใช้เงินซื้อของกินของใช้ และทำบุญเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 10,245 บาท ต่อคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 9,700.30 บาทต่อคน
นอกจากนี้ แหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วงกินเจปีนี้ ส่วนใหญ่ 76.1% มาจากรายได้ประจำ รองลงมา 12.9% มาจากเงินออม, 9.6% มาจากรายได้พิเศษ, 1.4% มาจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ และ 0.1% มาจากการกู้ยืม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นเม็ดเงินที่สูงสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมาในปี 51 แต่หากมองในด้านของการขยายตัวที่อยู่ 2.5% เท่านั้น ถือว่าขยายตัวต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในปีก่อน ที่สูงถึง 4.2% สะท้อนให้เห็นว่า คนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอยู่ เพราะข้าวของมีราคาแพงขึ้น ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่เปราะบาง ไม่โดดเด่น ซึ่งหวังว่าการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะมีเงินโอนไปยังผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาทต่อเดือนนั้น จะมาช่วยหนุนกำลังซื้อในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้ได้ระดับหนึ่ง.