มั่นใจเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง ดันยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือน มิ.ย. พุ่ง 12% ส่วนใหญ่ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาฯ ร้านอาหาร มูลค่าทุนจัดตั้ง 4 หมื่นกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%...
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงยอดการจดทะเบียนธุรกิจในเดือน มิ.ย.60 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,525 ราย เพิ่มขึ้น 693 ราย คิดเป็น 12% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 5,832 ราย และเพิ่มขึ้น 609 ราย คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 5,916 ราย โดยมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน มิ.ย.60 มีจำนวนทั้งสิ้น 40,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,505 ล้านบาท คิดเป็น 30% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 31,411 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 23,114 ล้านบาท คิดเป็น 130% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 17,802 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 610 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 354 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 198 ราย ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 168 ราย และธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 142 ราย
สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกกิจการในเดือน มิ.ย.60 มีจำนวน 1,548 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 474 ราย คิดเป็น 44% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.60 ซึ่งมีจำนวน 1,074 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 156 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.59 ซึ่งมีจำนวน 1,392 ราย
ส่วนผลการจดทะเบียนธุรกิจในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.60) พบว่า ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 60) จำนวน 1,396,254 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 21.00 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 665,618 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.22 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 484,649 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,174 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,795 ราย
ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 60 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 35,942 ราย มีมูลค่าจดทะเบียนทั้งสิ้น 164,281 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 4,150 ราย คิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-มิ.ย.59) ซึ่งมีจำนวน 31,792 ราย เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ประกอบกับมีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับครัวเรือน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีขึ้น
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังเปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทย โดยมีปัจจัยที่สำคัญ 3 ลำดับแรก คือ การมีซัพพลายเออร์ที่เพียงพอ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจให้เกิดการลงทุนต่อในประเทศไทย.