ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ประเด็น Work life balance และ Work hard to survive กลายเป็นหัวข้อถกเถียงร้อนแรงในสังคม เนื่องจากคนบางกลุ่มมองว่า ในยุคเศรษฐกิจโตต่ำ การบริโภคซึมลง ซ้ำร้ายยังถูกทั้งสินค้าจีนและคนจีนเข้ามาตีตลาดแย่งงานทำ การจะหวังทำงานชิลๆ มีเวลาไปใช้ชีวิต อาจเป็นแค่ “ฝันกลางวัน” ไปแล้ว หากใครยังใช้ชีวิตเรื่อยๆ แบบเดิมต่อไปก็เสี่ยงตกงานโดยไม่รู้ตัว ชี้ให้เห็นว่ายุคนี้ถ้าจะอยู่รอดต้องทำงานหนักเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ “การทำงานหนัก” ถวายชีวิต เพื่อบรรลุเป้าหมายองค์กร โดยยึดติดกับ KPI ไม่ได้การันตีว่าเราจะสามารถทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพเสมอไป ในทางตรงกันข้าม การทุ่มเทแรงใจแรงกายกับทุกอย่าง มักนำไปสู่ภาวะ หมดไฟ (Burn out) หรือนานวันเข้าหลายคนอาจรับแรงกดดันไม่ไหวจนตัดสินใจลาออกได้
Thairath Money ชวนทำความรู้จัก “The 85% rule” หรือกฎ 85% เทคนิคการบริหารความพยายาม ให้เราทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่เหนื่อยน้อยลง
กฎ 85:15 มีแนวคิดมาจาก Carl Lewis อดีตนักกรีฑาชาวอเมริกัน ระดับตำนาน ผู้เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 9 เหรียญ ซึ่งเชื่อว่าเทคนิคการวิ่งแบบใช้แรง 85% และเก็บแรงไว้ที่ตัวเอง 15% จะทำให้สามารถวิ่งได้เร็วและนานกว่าการวิ่งแบบใส่แรงเต็มร้อย จะเห็นได้จากเวลาแข่งวิ่ง แม้เขาจะออกตัวช้ากว่านักกรีฑาคนอื่นๆ แต่สุดท้ายก็มักถึงเส้นชัยก่อน เนื่องจากตลอดการวิ่งเขาปล่อยร่างกาย และจิตใจให้เป็นอิสระ แทนการแบกความกดดัน เร่งตัวเองให้วิ่งเข้าเส้นชัย สะท้อนว่าการใส่ความพยายามเต็มร้อยในทุกอย่างไม่ได้การันตีความสำเร็จ โดยแนวคิดนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำไปปรับใช้กับการทำงาน หลังจากที่เขาคว้ารางวัล 9 เหรียญทอง ในการแข่งขันกรีฑาโอลิมปิก
ภายใต้วัฒนธรรมการทำงานแบบเก่า เรามักจะเคยชินกับการใช้แรงกดดันขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงาน ผู้ใหญ่มักปลูกฝังแนวคิดการทำงานถวายชีวิต ยิ่งทำมากยิ่งได้มากว่าเป็นกุญแจที่นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ แต่ผลการศึกษาล่าสุดของ University of London ยิ่งตอกย้ำแนวคิดของ Carl Lewis โดยพบว่า การทุ่มเทกับการทำงานมากเกินไป ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือเพิ่มรายได้ให้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม ยิ่งเราทุ่มเทแรงกายแรงใจ กดดันตัวเอง ทำงานล่วงเวลามากเท่าไร ก็มีแต่ทำให้ร่างกายและสมองไม่ได้พักระหว่างวัน เมื่อหนื่อยล้าสะสมนานวันเข้า ในที่สุดประสิทธิภาพการทำงานก็จะแย่ลงจนนำไปสู่ภาวะหมดไฟ
โดยทั่วไปแล้ว พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง (High performers) ทำผลงานได้ดี มักเป็นกลุ่มที่มีแรงจูงใจในการทำงานอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้วีธีเพิ่มแรงกดดันแบบเดียวกับพนักงานทั่วไป มีแต่จะทำให้หมดไฟ ผลการศึกษาของ Yale Center for Emotional Intelligence และ Faas Foundation ซึ่งทำการสำรวจพนักงานกว่า 1,000 คนในสหรัฐฯ พบว่า 20% ของพนักงานกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในงานสูง ในขณะเดียวกันก็มีภาวะหมดไฟสูงเช่นกัน และที่น่าตกใจคือพนักงานประสิทธิภาพสูงเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะลาออกสูงสุด
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ อาจสูญเสียพนักงานฝีมือดี ไม่ใช่เพราะมีส่วนร่วมในงานน้อย แต่เป็นเพราะความเครียดและภาวะหมดไฟในระดับสูงต่างหาก
1.จัดลำดับความสำคัญงานว่างานไหนควรใช้ความพยายามเท่าไร ทุ่มเทไปแล้วได้อะไร ผลลัพธ์คุ้มค่าแค่ไหน เช่น เวลานำเสนองานเป็นทีม เราอาจไม่ต้องใส่ความพยายามไป 100% แค่ 70% ก็มีประสิทธิภาพแล้ว
2.หาวิธีลดแรงกดดันในสถานการณ์จริง แน่นอนว่าการคิดง่ายกว่าการลงมือทำจริงเสมอ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีตอบสนองต่อแรงกดดันที่ต่างกันไป สิ่งที่ต้องหาคำตอบให้ได้คือ เราจะหาวิธีผ่อนคลายตัวเองในสถานการณ์ท่ีน่ากดดันได้อย่างไร บางคนอาจทำสมาธิ ฝึกควบคุมการหายใจ หรือออกกำลังกายเบาๆ ก่อนเริ่มงาน
3.กำหนดเวลาการทำงานที่ชัดเจน ว่าเมื่อไรควรพอ เวลาไหนควรพัก ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับหัวหน้า หรือเจ้าของธุรกิจ การสนับสนุนให้พนักงานทำงานล่วงเวลา นอกจากไม่ได้งานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงให้พนักงานก่อความผิดพลาด การแสดงความห่วงใยต่อพนักงานด้วยการกำหนดเวลา และขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน ช่วยให้พวกเขามีกำลังใจทำงานต่อได้
4.หาเวลาพัก เติมพลังกาย พลังใจระหว่างวัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุด ผลการศึกษาพบว่า พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง (High performers) มักจะหยุดพัก 8 ครั้งต่อวัน ด้วยโมเดล 555 ซึ่งเป็นการทำงานสลับกับพัก โดยตั้งใจทำงาน 55 นาที พัก 5 นาที โดยภายในห้านาทีนี้ห้ามคิดถึงเรื่องงาน ให้หาอะไรทำเพื่อผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง จิบกาแฟ หรือนั่งเฉยๆ ซึ่งการหยุดพักช่วงสั้นๆ จะให้ประสิทธิภาพการทำงานครั้งต่อไปดีขึ้น
5.เลิกประชุมก่อนเวลาจริง 10 นาที ผลการวิจัยของ Human Factors Lab โดย Microsoft พบว่า สมองของเราทำงานแตกต่างออกไป เมื่อเราพัก 10 นาทีระหว่างการประชุม การหยุดพักเล็กๆ น้อยๆ นั้นจะช่วยลดความเครียดสะสม ในขณะที่การประชุมติดต่อกันแบบไม่พัก จะทำให้คนมีประสิทธิภาพในการรับรู้น้อยลง.
อ้างอิง