จบมา มีแค่“ใบเกรด”อย่างเดียวไม่พอ ต้องมี Skill Transcript ด้วย นายจ้างยุคใหม่ มองหาคนทำงานแบบไหน?

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จบมา มีแค่“ใบเกรด”อย่างเดียวไม่พอ ต้องมี Skill Transcript ด้วย นายจ้างยุคใหม่ มองหาคนทำงานแบบไหน?

Date Time: 8 ก.ค. 2567 11:03 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • อาจารย์ ม.ดัง เผย ความคาดหวัง และ ความต้องการของ “นายจ้าง” ยุคใหม่ ที่มีผลต่อ เด็กจบใหม่ และ การเตรียมพร้อม ของระบบการศึกษาไทย หลังพ่อค้า-นักธุรกิจใหญ่ เปรย จบมา มีแค่ “ใบเกรด” อย่างเดียวไม่พอ
  • ต้องมี Soft Skill ด้วย เรียนเก่ง - จบจาก ม.ดัง แต่อีโก้สูง ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ ก็ไม่รับเข้าทำงาน

Latest


คงไม่ใช่แค่ มาตรฐานใหม่ ของ การจ้างงาน ที่ชวนขบคิด แค่เรื่องเดียว เมื่อผู้บริหารในไทย กว่า 74% ออกมาประกาศชัด ว่า หลังจากนี้ จะให้ความสนใจ กับ คนสมัครงานที่มีทักษะ ด้าน AI มากกว่า คนที่มีประสบการณ์ทำงานทั่วไปสูง และไม่ต้องการ “จ้างพนักงาน” ที่ไม่มีทักษะ AI หลังจากที่โลกได้ก้าวสู่ยุค AI โดยสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อน ถึง แนวโน้มตลาดแรงงาน และ เทรนด์การทำงาน ของบริษัทไทย เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน!

ความคาดหวัง ของ นายจ้างยุคใหม่ อยากได้ "คนทำงาน" แบบไหน? 

แต่ ล่าสุด ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เผยถึง ความคาดหวัง และ ความต้องการของ “นายจ้าง” ยุคใหม่ ที่มีผลต่อ เด็กจบใหม่ และ การเตรียมพร้อม ของระบบการศึกษาไทย ในแง่ Soft Skill หรือ คนที่มี ทักษะด้านสังคม ทั้งการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ก็เป็นที่หมายตาของเหล่านายจ้าง บริษัท องค์กร ห้างร้านต่างๆ เช่นกัน


โดย ดร.มานะ เล่าเรื่องว่า ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีเหล่าพ่อค้าวาณิช นักธุรกิจใหญ่จากหอการค้าไทยเป็นกรรมการสภา ได้มีกรรมการท่านหนึ่งเปรยขึ้นว่า

“เดี๋ยวนี้รับเด็กจบใหม่มาทำงาน ดูแค่ชื่อมหาวิทยาลัย หรือดูแค่ใบเกรดอย่างเดียวไม่ได้แล้วนะ มันต้องดูทักษะการทำงานด้วย…

…ไม่ใช่ได้เกียรตินิยมจากมอดัง แต่ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ อีโก้สูง อันนี้บริษัทผมก็ไม่เอานะ…

…มันน่าจะมีอะไรที่โชว์ให้นายจ้างเขารู้ด้วยว่าเด็กเรามีทักษะในการทำงานโดดเด่นด้านไหน คล้ายๆ กับใบเกรด"

จึงอาจกล่าวได้ว่า วันนี้ โลกแห่งการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในอดีตบริษัทห้างร้านต่างๆ มักรับพนักงานโดยดูจากวุฒิการศึกษาว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหน ได้เกรดเท่าไรแต่วันนี้ ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานของผู้สมัครงานมากขึ้น  


ทั้งนี้ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พัฒนาทรานสคริปต์โชว์ผลทักษะต่างๆ มาหลายปี โดย “Skill Transcript” จะแยกเป็นส่วนของ Hard Skill และ Soft Skill

ด้านของ Hard Skill จะเป็นทักษะทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับงาน วิชาชีพต่างๆ ในส่วนนี้ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับคณะวิชาต่างๆ โดยฝ่ายกิจการนักศึกษา พัฒนา Soft Skill มีการดึงเอาทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) เป็นกรอบในการพัฒนาตัวชี้วัด ซึ่งพบว่า ทักษะที่จำเป็น มีเยอะมากๆ เลยจัดรวบ แบ่งกลุ่มใหม่ให้เหลือ 7 กลุ่ม ได้แก่

  • ทักษะการคิด
  • ทักษะการสื่อสาร
  • ทักษะศิลปวัฒนธรรม
  • ทักษะความรับผิดชอบต่อสังคม
  • ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
  • ทักษะภาวะผู้นำ
  • ทักษะกีฬาและสุขภาพ

พอแบ่งเสร็จ เราได้พัฒนา App (UTCC Plus) ของมหาวิทยาลัย ให้รองรับการทำกิจกรรมทุกประเภท ตอนนี้ทุกคณะวิชา ทุกชมรม กลุ่มชุมนุมเวลาจัดกิจกรรมสามารถ แจ้งประชาสัมพันธ์ เชิญชวน จองที่นั่ง ลงทะเบียน ประเมินผลต่างๆ ผ่าน App ในมือถือของนักศึกษาทุกคน

พอนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมมันก็จะบันทึกชั่วโมงกิจกรรมทันที แยกตามประเภทและทักษะต่างๆ ที่ผู้จัดกิจกรรมกำหนดไว้ แสดงผลเป็น Soft Skill Transcript ใยแมงมุมและรายละเอียดแจกแจง ซึ่งนับเป็นการพัฒนา Skill Transcript เฟสแรกของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปเชื่อมกับส่วนของ Hard Skill รวมถึง เชื่อมระบบสมัครงานออนไลน์ และระบบแรงจูงใจต่างๆ ใช้ AI มาช่วยคัดสรรให้นายจ้างตามสถานประกอบการต่างๆ สามารถเลือกสรรนักศึกษาที่มีความโดดเด่นในทักษะต่างๆ ได้ตรงกับความต้องการของแต่ละตำแหน่งงาน

เปิด 7 Soft Skills สำคัญ ในโลกการทำงาน 

สอดคล้องกับ 7 Soft Skills ที่คนทำงานต้องมี ในโลกยุคใหม่ ที่ (อาจ) ไม่แน่นอน  อ้างอิงข้อมูลจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งระบุว่า นอกจาก Hard Skills หรือ ทักษะทางวิชาชีพ ที่เป็นทักษะความรู้ ความสามารถ เฉพาะเจาะจง ที่ต้องมีในแต่ละงาน โดยอาจใช้เวลาหลายปีเพื่อฝึกฝนให้เกิดความชำนาญเฉพาะทาง โดย Soft Skills ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 

  • Emotional Intelligence (ความฉลาดทางอารมณ์) เป็นการเข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร คนที่เราทำงานด้วยรู้สึกอย่างไรและเราสามารถควบคุมหรือตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร 
  • Resilience (ล้มแล้วลุก) ล้มเหลวแล้วเรียนรู้ ล้มเหลวแล้วไปต่อได้ ไม่ใช่ล้มเหลวทีหนึ่งก็ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว 
  • Empathy (ความใส่ใจ/เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) การไม่โฟกัสที่ตัวเราคนเดียวแล้วพยายามไปเข้าใจคนอื่นๆ บ้างว่าเขาคิดอะไร เขารู้สึกอะไร เขาต้องการอะไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถปฏิบัติกับเขาได้ดียิ่งขึ้น 
  • Adaptability (ความสามารถในการปรับตัว) เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแล้ว เราสามารถปรับตัวได้ไว
  • Initiative (ความริเริ่มด้วยตัวเอง) การที่เราเป็นคนริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าต้องรอคำสั่งอย่างเดียว ทักษะด้านนี้เป็นสิ่งสำคัญ
  • Tenacity (การยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ) คือ การยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือมีโฟกัสในงานที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคแค่ไหนก็ตาม ถ้ามีเป้าหมายแล้วต้องทำให้สำเร็จ
  • Relationship Management (ความบริหารจัดการความสัมพันธ์) คือ การมีความสามารถในการบริหารความสัมพันธ์จะมาช่วยเติมช่องว่างของความสัมพันธ์ได้ ทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกันอยู่ รู้สึกเป็นทีมเดียวกัน

เจาะสถานการณ์ การศึกษาไทย คนในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เคยออกมาระบุว่า ปัจจุบัน เทรนด์โลกเปลี่ยน แผนยุทธศาสตร์การผลิตกำลังคน ของระบบการศึกษาไทย จึงต้องปรับด้วย ทั้งการพัฒนาทางด้านหลักสูตร และ ด้านการพัฒนากำลังคน

ตลอดจนสร้างแพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับผู้ประกอบการในการทำงานร่วมกัน และมีการกำหนดกลไกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมมือกัน ระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมให้กับนักศึกษา ก่อนออกไปสู่ ตลาดแรงงานจริง 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ