ผลสำรวจชี้ ความสุขของคนทำงาน มีผลต่อ GDP โลก ยิ่งน้อย มูลค่าเศรษฐกิจยิ่งเสียหาย

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผลสำรวจชี้ ความสุขของคนทำงาน มีผลต่อ GDP โลก ยิ่งน้อย มูลค่าเศรษฐกิจยิ่งเสียหาย

Date Time: 19 มิ.ย. 2567 17:25 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ผลสำรวจของ Gallop ในหัวข้อ “State of the Global Workplace” พบว่าอารมณ์ ความรู้สึก และความผูกพันต่องานและองค์กรของพนักงาน มีผลกระทบถึงระดับเศรษฐกิจโลก ซึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9% ของ GDP โลก

แน่นอนว่าเรื่องอารมณ์และสุขภาพของคนทำงาน ย่อมมีผลกระทบไม่เพียงแต่เพื่อนร่วมงาน หรือองค์กรเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วยังส่งผลกระทบไปยังระดับเศรษฐกิจด้วย จากรายงาน “State of the Global Workplace” โดย Gallup ชี้ ความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กร (Employee Engagement) ซึ่งเป็นสภาวะที่พนักงานมีความสุข รู้สึกมีพลัง มุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงาน ในที่นี้หากมีน้อยเท่าไร ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับโลกเท่านั้น 

จากผลสำรวจล่าสุด ที่ได้สอบถามพนักงาน 128,278 คน ใน 140 ประเทศ พบว่าการมี Employee Engagement ต่ำ ทำให้เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9% ของ GDP โลก

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าประมาณ 20% ของพนักงานทั่วโลก ในแต่ละวันมีความรู้สึกโดดเดี่ยว โกรธ และเศร้า และอีก 41% พบว่ามีความเครียดจากการทำงาน โดยกลุ่มที่รู้สึกโดดเดี่ยวนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นพนักงานที่อายุไม่เกิน 35 ปี เป็นพนักงานที่ทำงานแบบไม่เข้าออฟฟิศ หรือ Remote Wokers และอีกส่วนคือกลุ่มพนักงานที่ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนเดียวกับงาน

ถ้าให้ทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ทำงานเลยดีกว่า

พนักงานที่ “ไม่ชอบ” งานที่กำลังทำ มีความเป็นไปได้ที่จะมีความเครียดต่อวันมากที่สุด และจะส่งผลให้เกิดอารมณ์ด้านลบอื่นๆ ตามมา ซึ่งพนักงานในกลุ่มนี้ยังมีความคิดอีกว่า “ทำงานที่ไม่ชอบทำให้มีอารมณ์ด้านลบ (ความเครียด ความโกรธ ความกังวล และความโดดเดี่ยว) เทียบเท่าหรือมากกว่าการไม่มีงานทำ”

ขณะเดียวกัน ในรายงานยังพบอีกว่า “ถ้าพนักงานพบว่างานที่ทำมีความหมาย พนักงานจะรู้สึกเพลิดเพลินในการทำงานแต่ละวัน และจะมีความเครียดหรืออารมณ์ด้านลบต่ำ” โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คือ 2 ประเทศที่มีอัตราพนักงานที่มีความต้องการจะเติบโตมากที่สุด พนักงานมีความเครียดน้อยที่สุด และเป็นพื้นที่ที่พนักงานอยากไปทำงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

อาเซียน ภูมิภาคที่พนักงานมีความเครียดต่อวันน้อย

จากผลสำรวจพนักงานจาก 10 ภูมิภาคทั่วโลก พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มประเทศที่มีความน่าสนใจ และได้รับการจัดอันดับ ดังนี้

  • พนักงาน มีความเครียดต่อวันน้อยสุดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศในกลุ่มรัฐหลังสหภาพโซเวียต (Post-Soviet Eurasia)
  • พนักงาน มองว่า มีบรรยากาศในการทำงานดีมากที่สุด ซึ่งอาเซียนอยู่ที่อันดับที่ 2 รองจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
  • พนักงาน มีความรู้สึกโกรธต่อวันมากเป็นลำดับที่ 4 
  • พนักงาน มีความรู้สึกเศร้าต่อวันมากเป็นลำดับที่ 4
  • พนักงาน มีความรู้สึกโดดเดี่ยวมากเป็นลำดับที่ 4

ถ้าหัวหน้ามาทำงานด้วย พนักงานจะรู้สึกผูกพันกับงานมากขึ้น

จากรายงานของ Gallup พบว่า 23% ของพนักงานรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการสำรวจปีก่อนหน้า ซึ่ง “ความรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำ” นี้ หมายถึงพนักงานจะมีความตั้งใจที่จะทำงาน มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และมีส่วนร่วมในที่ทำงาน โดยที่พฤติกรรมเหล่านี้จะไปส่งเสริมให้มีผลงานที่ดี และสร้างนวัตกรรมเพื่อผลักดันองค์กรไปข้างหน้าได้

ซึ่งกว่า 62% ของพนักงานทั่วโลก ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับงานที่ทำและกับองค์กร นั่นหมายความว่า พนักงานกำลังทำงานโดยที่ไม่ได้มีความชอบต่องานที่ทำ และยังพบอีกว่าหากหัวหน้าในระดับผู้จัดการ (Manager) มีความผูกพันกับงาน จะทำให้พนักงานมีความรู้สึกผูกพันกับงานมากขึ้น

จากรายงาน พบว่า 3 ใน 4 ของหัวหน้าระดับผู้จัดการที่มีความผูกพันกับงาน จะส่งเสริมให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานและในชีวิตส่วนตัว และจะมีการคัดเลือกพนักงานที่เหมาะสมมาช่วยทำงาน เพื่อช่วยให้ที่ทำงานมี Productivity มากขึ้น และสามารถสร้างผลงานและผลกำไรได้มากขึ้น


อ้างอิง: CNNGallup

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์