เศรษฐกิจ-สังคมวันนี้เป็นอย่างไร เปิดมุมมองและผลกระทบของ "คนไทย 4 GENs"

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจ-สังคมวันนี้เป็นอย่างไร เปิดมุมมองและผลกระทบของ "คนไทย 4 GENs"

Date Time: 10 มิ.ย. 2567 06:25 น.

Summary

  • ในวันที่ 13 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” จะมีการจัดงาน Thairath Forum 2024 “Talk of the GENs” เปิดเวทีความคิดหลากหลายมุมมองของคนหลายเจน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความสนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน

Latest

วิธีรักษา “คนเก่ง” ไว้กับองค์กร ในยุคที่มีแต่ “คนอยากสำเร็จไว” และเลือกที่จะ “ย้ายงานเร็ว”

ในวันที่ 13 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” จะมีการจัดงาน Thairath Forum 2024 “Talk of the GENs” เปิดเวทีความคิดหลากหลายมุมมองของคนหลายเจน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความสนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน “แม้ต่างวัยแต่ไม่แตกต่าง” ในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะในด้านสังคม เช่น ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต หรือทัศนคติในการทำงาน หรือแม้แต่การเมือง

ยิ่งไปกว่านั้นความแตกต่างของวัยยังทำให้เกิดมุมมองทางเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน โดยหากมองภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ค่าครองชีพที่สูงมากในวันนี้ อาจจะทำให้คนในวัยเกษียณและวัยทำงานมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติมากกว่าวัยเริ่มต้น ทำงาน และวัยรุ่นที่มีมุมมองที่ดีกว่า

ขณะเดียวกัน ความถนัดในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งความตื่นเต้นในการเรียนรู้โลกใหม่ๆ อย่างโลกดิจิทัลและโลกเสมือนจริง ทำให้ความสนใจในการลงทุนและทำธุรกิจที่แตกต่างกัน

และเพื่อให้เราเห็นภาพ “เศรษฐกิจและสังคมไทย” วันนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น เห็นภาพของกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้คนต่างเจเนอเรชัน มีโอกาสได้รับรู้ความคิดเห็นของอีกเจเนอเรชันหนึ่ง และสร้างความเข้าใจในมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เลือกตัวแทนของคนต่างเจน ตั้งแต่ Baby Boomer Generation หรือ Gen B หรือ คนที่เกิดช่วง พ.ศ.2489-2507 Generation X หรือ Gen X หรือคนที่เกิดช่วง พ.ศ.2508-2522 Generation Y หรือ Gen Y เรียกอีกอย่างว่า Millennials หรือ คนที่เกิดช่วง พ.ศ.2523-2540 และสุดท้าย Generation Z หรือ Gen Z หรือคนที่เกิดหลัง พ.ศ.2540 ว่าแต่ละเจนมีมุมมอง “เศรษฐกิจและสังคมไทย” วันนี้ว่ามีผลกระทบต่อเจเนอเรชันของตัวเองอย่างไร

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย : Baby Boomer Generation

ในฐานะที่เป็นตัวแทน “เบบี้บูมเมอร์” : Baby Boomer มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์แบบในหลายๆด้าน โดยด้านแรกเปลี่ยนจากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล ที่ทำให้คนไทยทุกเจเนอเรชันต้องปรับตัว เพราะทุกอย่างเปลี่ยนเป็นดิจิทัลหมด ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แต่ Gen Alpha, Y และ Z จะชำนาญดิจิทัลสูงกว่า เกิดนักธุรกิจวัยรุ่นร้อยล้าน วัยรุ่นพันล้าน ที่ประสบความสำเร็จด้วยอายุยังน้อยเพียง 30 ปี หรือน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ตอัพ

ส่วนด้านที่สอง การเปลี่ยนแปลง Gen อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะปัจจุบัน เป็นยุคของกลุ่ม Gen Y, Z, Alpha มีสัดส่วนสูงกว่า Gen อื่นๆทำให้มีอำนาจซื้อสูง และเป็นคนกำหนดทิศทางแนวทางการทำธุรกิจ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นห่วงโลก ใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จะเห็นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล วัสดุจากธรรมชาติ การทำธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น

ด้านที่สาม ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนจากตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป มาสู่พลังเศรษฐกิจใหม่ทางตะวันออก หรือเอเชีย โดยจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และกลายเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเช่นเดียวกับอินเดีย ที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก และเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเช่นกัน ยังมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ซึ่งล้วนแต่อยู่ในกลุ่ม BRICS รวมถึงยังมีเกาหลีใต้ที่โดดเด่นด้าน K-Pop และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง

“เศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง และมาแรงของฝั่งเอเชีย ทำให้ BRICS กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างโดดเด่น กลายเป็นจุดสนใจมาก แทนที่กลุ่มประเทศชั้นนำทั้ง 7 (G7) ทำให้ไทยต้องเข้าเป็นสมาชิก BRICS และ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เพื่อรวมกลุ่มกับประเทศที่แข็งแกร่ง”

ด้านที่สี่ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน โลกเกิดการแบ่งขั้วจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อีกทั้งสหรัฐฯยังมีสงครามตัวแทนกับรัสเซีย ทำให้การวางตัวเป็นกลาง หรือเลือกข้างเป็นสิ่งสำคัญมาก และสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมาก ทำให้บริบทโลกเปลี่ยนแปลงไป การใช้ชีวิตของผู้คน การทำธุรกิจ การผลิตสินค้า มุ่งสู่ธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้างใหม่สู่โลกอนาคต แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต้องเปลี่ยนแปลงตาม เพราะเศรษฐกิจไทยยังตามไม่ทัน ยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปี จำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

โดยมุ่งสู่อนาคต หันมาใช้พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสะอาด ดูแลสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนสินค้าส่งออก ที่ตอบสนองเทรนด์โลก เพิ่มมูลค่าสินค้า หนุนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ไทยก้าวตามให้ทันโลก และหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ไม่ต่ำกว่า 4-5%”

โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาดและนวัตกรรม เดนท์สุ ประเทศไทย : Gen X

จากมุมมองของตนเห็นว่า คน Gen X เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำของรายได้ ที่สำคัญยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น และความท้าทายในการเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อายุมากควบคู่กับการเลี้ยงดูตัวเอง และลูกนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน

“คน Gen X ในวันนี้ จึงเหมือนเป็น “แฮมเบอร์เกอร์” ที่มีบุพการีที่ต้องดูแล และถ้ามีบุตรก็ต้องใส่ใจบุตรควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นกลไกหลักในมุมประชากรศาสตร์ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐสถานะของครัวเรือน”

นอกจากนี้ Gen X ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่เร่งตัวอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ของสถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น สิ่งนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ติดอยู่ระหว่างโลกแบบอนาล็อกและดิจิทัล และโหยหาความสุขสามัญที่มีความหมายมากขึ้น อีกทั้งตนยังเห็นว่า Gen X มีความผิดหวังทางสังคม เพราะเติบโตมาพร้อมกับความผิดหวังในอุดมคติทางการเมือง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมองโลกในความเป็นจริงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้มักต้องการสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ทำให้ต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสมดุลดังกล่าว โดยอาจให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและจุดมุ่งหมายในอาชีพการงาน แต่ก็ต้องรับมือกับความรับผิดชอบในครอบครัวด้วย

“แต่ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของ Gen X ถือเป็นเรื่องที่น่าสังเกตเช่นกัน เพราะคนกลุ่มนี้ เป็นที่รู้จักในเรื่องความสามารถในการแก้ปัญหา จริยธรรมในการทำงาน ค่านิยมในการทำงาน และครอบครัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ สามารถช่วยให้ Gen X รับมือกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ซับซ้อนได้”

กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข “หยก”
หมอดูไพ่ป๊อก : Gen Y

“คนในยุค Gen Y เกิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีข้อดีหลายอย่างที่ทำให้เกิดความทันสมัยและเรียนรู้ได้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันต้องปรับตัว เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สำหรับอาชีพหมอดูถือเป็นอาชีพเสริม และอาชีพ “หมอดู” ไม่ได้เลือกเอง แต่เป็นไปตามโชคชะตาและบรรพบุรุษให้มา”

ส่วนมุมมองด้านเศรษฐกิจหลังจากโควิดที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้กระทบกับการเป็นอยู่ส่วนตัวเท่าไรนัก เนื่องจากอาชีพที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง แต่ในช่วงปี 66-67 ที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างต่ำ หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น รายได้ของคนในปัจจุบันจึงไม่พอกับรายจ่าย อัตราการบริโภคในประเทศจึงลดลงไปด้วย เพราะไม่มีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้น แน่นอนว่าอาชีพสื่อมวลชนแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ถ้าสภาพเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ รายได้ก็น่าจะไม่พอกับรายจ่ายในอนาคต

“เราจึงได้เห็นผู้คนมากมายหันมาหาอาชีพเสริม หรือการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินที่มีให้พอใช้ในอนาคต ก็ต้องจับตาดูว่าภาครัฐจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรบ้าง และจะหามาตรการดูแลปากท้องของประชาชนต่อไปอย่างไร”

ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐควรหามาตรการเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐอาจจะให้การดูแลแค่เฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง แต่เรามองว่ากลุ่มคนวัยทำงานที่เป็นผู้เสียภาษีให้กับภาครัฐโดยตรงนั้น ยังไม่มีมาตรการดูแลแก้ปัญหาหนี้ รวมถึงการให้สวัสดิการต่างๆให้กับพวกเขาเลย ก็อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คิดนโยบายดูแลหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของประเทศด้วย

ส่วนในมุมมองสังคม คิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตมากนัก ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองบนหลักการและเหตุผล ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละในสังคมและความใจกว้างของผู้คนยังมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าหากในอนาคต รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ส่วย และการทุจริตต่างๆ ปัญหาสังคมที่หมักหมมคงเป็นปมใหญ่ที่สะสางได้ยาก

ณภัทร วิกัยรุ่งโรจน์ ชื่อเล่น ณ
ยูทูบเบอร์ ช่อง YT ชื่อ nathings : GEN Y

ผลงานที่ผ่านมา แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2, KinnPorsche The Series, One Night Stand คืนเปลี่ยนชีวิต, Bad Guys ล่าล้างเมือง, Voice in the Rain เสียงรักในสายฝน

“ณ” มองว่าปัจจุบันถือเป็นยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตเยอะขึ้นมาก ทั้งการซื้อของ หาข้อมูล ความรู้ รวมทั้งผู้คนสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ความมีตัวตนได้อย่างเสรี มีเครื่องมือเครื่องใช้ให้คนหาความสุขให้กับตัวเองได้เต็มไปหมด ทั้งแพลตฟอร์มดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมและเทคโนโลยีต่างๆ

ขณะเดียวกัน สังคมได้เปิดกว้างในเรื่องความเชื่อ การแสดงความสามารถ ความโดดเด่น รวมทั้งการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ของผู้คนในสังคมจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่อาจจะยังเข้าถึงได้แค่กลุ่มนึง ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีโซเชียลมีเดียที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากๆในมือ แต่ถ้าขาดการเลือกใช้ที่ดี ในทางที่เป็นประโยชน์ ก็จะไม่เกิดการมองหาโอกาสใหม่ๆหรือแนวทางของคำตอบที่จะทำให้เรามี “ชีวิตที่ดี” ในแบบที่เราต้องการได้

แต่หากใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด ไม่สร้างสรรค์ ไม่ใช้วิจารณญาน ในการเลือกเสพก็มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะพาไปในทางที่ไม่ดีได้ ไม่ว่าจะเกมหรือพนันออนไลน์รวมทั้งลัทธิความเชื่อต่างๆ

“ณ” ยังกล่าวต่อว่า ระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานในการเลือก “ชีวิตที่ดี” ของคนในประเทศ แต่ยังมีปัญหาความไม่ทั่วถึง บางพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่ดี ที่สำคัญหลักสูตรในระบบที่ใช้มานานมากแล้ว วิชาการที่จำเป็นในการใช้ชีวิตจริงๆ ไม่อยู่ในหลักสูตร อย่างเรื่องการเงิน เรื่องภาษี สุขภาพจิต ความเข้าใจตัวเอง เรื่องทางเพศ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานมากๆในการใช้ชีวิต แต่เราต้องมาตั้งคำถาม หาคำตอบในเรื่องนี้กันด้วยตัวเอง ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ โดยรัฐบาลควรเข้ามาจัดการแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งเรื่องระบบการศึกษา หลักสูตร และการให้ความรู้พื้นฐาน

สุดท้ายการจะใช้ชีวิตในสังคมในยุคนี้สมัยนี้ เราต้องมาตอบตัวเองให้ได้ว่า “ชีวิตที่ดี” ของเราเป็นยังไงด้วยตัวเราเอง จากทรัพยากรที่เรามี ให้พอมีแรงใช้ชีวิตของเราต่อไปได้อย่างมีความสุข และเพื่อหาจังหวะโอกาสใหม่ๆให้ชีวิต ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้จะเป็นยังไงเราต้องทำสิ่งที่เราถนัด ทำสิ่งที่เราทำได้ให้ดีที่สุด รักษาสุขภาพจิตตัวเองให้ดี เพื่อให้เรามีส่วนช่วยผลักดันสังคมไปในทางที่ดีขึ้นไปด้วยกัน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ