โอ๊ต ปราโมทย์ ซีอีโอ โคตรคูล เปิดทาง เวิร์คพอยท์ ร่วมถือหุ้น เพราะอยากให้ธุรกิจยั่งยืน

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

โอ๊ต ปราโมทย์ ซีอีโอ โคตรคูล เปิดทาง เวิร์คพอยท์ ร่วมถือหุ้น เพราะอยากให้ธุรกิจยั่งยืน

Date Time: 13 พ.ย. 2566 19:17 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • โอ๊ต ปราโมทย์ ซีอีโอ บริษัท โคตรคูล จำกัด เปิดใจทำบริษัทเอง ถือหุ้น 100% มานาน 6 ปี ถึงเวลาสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ รับจับมือกับ ไทยบรอดคาสติ้ง ธุรกิจในเครือ WORKPOINT เพราะเคมีตรงกัน ต้องการหาพี่เลี้ยงช่วยส่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai

โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน นักร้องนักแสดง เริ่มก่อตั้งบริษัท โคตรคูล จำกัด โดยจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 6 เดือน 6 ปี 2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,026,100 บาท ปีแรกบริษัทของเขามีรายได้รวม 13.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.5 ล้านบาท 


ผ่านมาเข้าสู่ปีที่ 5 บริษัท โคตรคูล จำกัด แจ้งงบการเงิน ณ สิ้นปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 112 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 18 ล้านบาท เรียกว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และรวดเร็ว


กระทั่งล่าสุด ด้วยดีลการเข้าถือหุ้น 49% ของบริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ THB บริษัทย่อยของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK และตีมูลค่าวงเงินลงทุนว่าไม่เกิน 216 ล้านบาท 


เกิดเสียงอื้ออึงว่า มูลค่าบริษัท โคตรคูล จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ 6 ปี มีมากถึง 500 ล้านบาท!!


#ThairathMoney ได้คุยกับ โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ซีอีโอ โคตรคูล ซึ่งเขาจะเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ บนเวที Talk Stage : From Challenge to Talent ซึ่งจัดโดยไทยรัฐกรุ๊ปในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ด้วย 


ซีอีโอโคตรคูลรับสายระหว่างกำลังเดินทางไปทำงานที่พัทยาในค่ำวันเสาร์ว่า ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทหลายคนเสนอร่วมธุรกิจมาเรื่อยๆ และกับเวิร์คพอยท์ก็คุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างเคยทำงานร่วมกัน ไปออกรายการของกันและกันมาเป็นระยะๆ รวมถึงความสนิทสนมกับกร ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ ที่เขาเรียกว่า "พี่กร"


ส่วนเหตุผลที่โคตรคูลตัดสินใจเลือกเป็นหุ้นส่วนกับเวิร์คพอยท์ โอ๊ตแจกแจงว่า 


หนึ่ง เพราะธุรกิจใกล้เคียงกัน เป็นธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงเหมือนกัน เพียงแต่คนละขา โดยโคตรคูลเน้นออนไลน์สุดโต่ง ส่วนเวิร์คพอยท์ถนัดออฟไลน์ 


สอง ด้วยเคมีการทำงานที่ตรงกัน ดังนั้นหากอยากจะผนวกกับใครก็ต้องเป็นเวิร์คพอยท์


สาม เพราะตนทำงานคนเดียวมาตลอด เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว 100% มาตลอด เมื่อถึงจุดที่ต้องการให้บริษัทเติบโตมั่นคง ก็ต้องมีคนเข้ามาช่วยจริงๆ จังๆ 


“ผมไม่ได้เรียนบริหาร ที่ผ่านมา ผมก็ทำงาน by heart เลย ด้วยใจอย่างเดียว ไม่ได้มีระบบระเบียบมากพอ แต่ก็คิดๆ ว่าจะทำอย่างไร หากต้องการให้บริษัทเติบโตกว่านี้” 


“จากวันแรกที่มีคนทำงาน 5 คน ขยับเป็น 10 เป็น 30 คน จนตอนนี้จะ 50 คนแล้ว ผมก็คิดว่า ถ้าใหญ่กว่านี้ ผมคนเดียวทำไม่ไหวแล้วแน่ๆ ที่ผ่านมา งานบัญชีผมก็เอาต์ซอร์ส และจนถึงวันนี้ HR บริษัทผมยังไม่มีเลยครับ ฝ่าย HR ผมก็ทำเอง ลูกทุ่งสุดๆ”


ดังนั้น ในวันที่รู้สึกว่า บริษัทเริ่มมีคนมากขึ้น และต้องถึงเวลาขยับขยายแล้ว จึงจำเป็นต้องจัดระบบหลังบ้าน และแก้ pain point นี้ แล้วการทำดีลกับเวิร์คพอยท์จึงเกิดขึ้น 


ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่ถือสัดส่วน 49% โอ๊ต ปราโมทย์ถือหุ้น 51% โอ๊ตย้ำว่า โคตรคูลยังทำงานในแบบโคตรคูลเหมือนเดิม พนักงานเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ปรับปรุงคือมีบริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด เข้าช่วยจัดระเบียบหลังบ้าน จัดระบบบัญชีใหม่ ดูแลระบบบริหารงานทรัพยากรบุคคล (HR) ให้ เป็นต้น


“ยืนยันฝั่งหน้าบ้าน ฝั่งครีเอทีฟ โพสต์โปรดักต์ชัน โคตรคูลถนัดอยู่แล้ว เราก็ทำของเราต่อเนื่องไป การมาของผู้ถือหุ้นร่วมจึงมาแปะจุดรั่วที่เรามี ให้มันรั่วน้อยลง และเติบโตมากขึ้น เพื่อให้ในอนาคตบริษัทเราเติบโต มีระบบเป็นสากลมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2566 นี้ ซีอีโอโคตรคูล บอกว่าบริษัทยังไม่มีการรับคนเพิ่ม หรือขยายกำลังการผลิต แต่สำหรับปีหน้าและปีต่อๆ ไปก็ต้องมาทำแผนงานประจำปี และนั่งคิดร่วมกันกับผู้ถือหุ้นร่วมในเรื่องการขยายงาน การเพิ่มกำลังการผลิต การเพิ่มช่องทางหารายได้ต่างๆ หรือถ้าจะทำโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น ใช้ทุนมากขึ้น ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากทางผู้ถือหุ้นร่วม เป็นต้น


ด้วยเป้าหมายในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า โอ๊ตหวังจะพาบริษัท โคตรคูล จำกัด เดินหน้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในสักวันหนึ่ง


“ผมทำโคตรคูล โดยไม่ได้มีความใฝ่ฝันอะไรมาก ทำเพราะสนุกอย่างเดียว แต่พอมันโตขึ้นมา จนมันติดอันดับ 1 ใน 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย ผมก็รู้สึกว่า โคตรคูล มันมาไกลแล้ว และเหตุผลหลักของดีลนี้ เพราะผมอยากให้โคตรคูลยั่งยืน ซึ่งต้องมีคนมาช่วยทำให้ยั่งยืนมากขึ้น ผมทำคนเดียวไม่ไหว”


“เราอยากทำให้บริษัทเรามั่นคงขึ้น แล้วพอคิดถึงความมั่นคง เราก็คิดถึงการพาบริษัทนี้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ในตลาด mai ไปอยู่ในกระดานซื้อขายหุ้นได้ไหม ให้มันเป็นบริษัทมหาชนได้ไหม ซึ่งการจะเข้าไปตรงนั้น ด้วยกำลังของผมและโคตรคูลเอง มันไม่พอแน่นอน ดังนั้นต้องมีรุ่นพี่มาช่วยดูแล เหมือนเราบวชพระยังต้องมีพระพี่เลี้ยงมาช่วยดูแล ให้เราอยู่ในร่องในรอย เพื่อให้เราทำงานสนุกมากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงหลังบ้าน” โอ๊ต กล่าว


ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท โคตรคูล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 เดือนมิถุนายน 2560 และมีผลประกอบการ ดังนี้


รายได้รวม

  • ปี 2561 จำนวน 29,413,562 บาท
  • ปี 2562 จำนวน 29,650,490 บาท
  • ปี 2563 จำนวน 37,416,525 บาท
  • ปี 2564 จำนวน 80,222,271 บาท
  • ปี 2565 จำนวน 112,461,003 บาท


กำไรสุทธิ 

  • ปี 2561 จำนวน 4,212,416 บาท
  • ปี 2562 จำนวน 4,655,268 บาท
  • ปี 2563 จำนวน 2,517,415 บาท
  • ปี 2564 จำนวน 6,079,140 บาท
  • ปี 2565 จำนวน 18,186,874 บาท

แล้วมาฟังมุมมองบริหารงานธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ กับ โอ๊ต ปราโมทย์ ปาทาน เต็มๆ จุกๆ ได้ที่งาน Thairath Talk Stage : From Challenge to Talent วันที่ 25 พ.ย. นี้ ที่สำนักงานใหญ่ไทยรัฐ วิภาวดี-จตุจักร

มาปลุกไฟปลุกใจ ให้คุณไปได้ไกลกว่าเดิม พร้อมฟังเคล็ดลับจาก 3 CEO รันวงการ Entertainment "โอ๊ต ปราโมทย์ CEO โคตรคูล", วงการ Commerce "ดร.วีระพงศ์ CEO Lazada" และวงการ Digital Platform "ดร.พิเชษฐ CEO Line Thailand" และสามารถซื้อบัตรราคาเพียง 990 บาท ที่ www.thairath.co.th/talkstage


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์