4 สตรีแกร่ง ผู้ทรงอิทธิพลระบบการเงินโลกในปัจจุบัน

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

4 สตรีแกร่ง ผู้ทรงอิทธิพลระบบการเงินโลกในปัจจุบัน

Date Time: 19 เม.ย. 2566 20:02 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ในแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน ผู้ชายมักมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความเป็นไปเสมอ แต่วันนี้ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ชวนส่องผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลในโลกการเงินปัจจุบันมีใครบ้าง

เพราะพลังหญิง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกนี้ได้ ในแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมนี้มักจะเป็นพื้นที่ของผู้ชายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ และกำหนดทิศทางความเป็นไปเสมอ ดังนั้นหากมีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมานำทัพ ก็จะกลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในทันที มาดูกันว่าผู้นำหญิงแกร่งที่ทรงอิทธิพลในระบบการเงินโลกในปัจจุบันมีใครบ้าง 

เจเน็ต เยลเลน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ)

เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ที่เขตบรูคลิน เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Brown และปริญญาดุษฎีบัณฑิต (PhD) จากมหาวิทยาลัย Yale หลังจากนั้นได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจนถึงปี 2519 และโลดแล่นในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ในสภาผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

2557-2561 ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยมีวาระ 4 ปี ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระหว่างดำรงตำแหน่งในฐานะประธานเฟด เยลเลนประสบความสำเร็จอย่างมากกับการแก้ปัญหาตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นความสนใจหลักของเธอในฐานะนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบาย โดยอัตราการว่างงานลดลงจาก 6.7% เป็น 4.1% และลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน อีกทั้งเธอยังยืนหยัดในการปกป้องกฎหมาย Dodd Frank Financial Reform and Consumer Protection (2553) ที่กำหนดขอบเขตการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินและมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการควบคุมส่วนต่างๆ ของภาคการเงินอย่างเข้มงวดมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่าจำเป็น โดยเยลเลนเชื่อว่าการกำกับดูแลจะทำให้ระบบธนาคารแข็งแกร่งขึ้น

2564-ปัจจุบัน ตอบรับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลังจากได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยมีหน้าที่หลักคือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อและฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากโควิด-19 ถือเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติการลดอัตราเงินเฟ้อปี 2022 เยลเลนได้สั่งให้กระทรวงการคลังพัฒนาแผนปฏิบัติการสําหรับการปรับใช้เงินทุนมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยกระดับการทำงานของกรมสรรพากร โดยมีจุดประสงค์ในการปราบปรามเหล่ามหาเศรษฐีและบริษัทขนาดใหญ่ที่หลบเลี่ยงภาษี และปรับปรุงการให้บริการผู้เสียภาษีให้ดีขึ้น อีกทั้งยังให้สัญญาว่าจะไม่มีการเพิ่มเกณฑ์การตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดกับคนชนชั้นกลาง

คริสตาลินา กอร์เกียวา (กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ : IMF)

เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2496 เมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์และปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมจากมหาวิทยาลัย  National and World Economy

2560-2562 ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลก (World Bank) ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกอร์เกียวามีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุนชุมชนระหว่างประเทศ เพื่อระดมทรัพยากร และสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้กับกลุ่มผู้ที่เปราะบาง รวมถึงมีบทบาทสำคัญในหลายคณะทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ช่วยกำหนดวาระของสหภาพยุโรประหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ โดยทำหน้าที่ดูแลงบประมาณ 161 พันล้านยูโรของสหภาพยุโรป (175 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และพนักงาน 33,000 คน ตลอดจนวางแผนการรับมือของสหภาพยุโรปต่อวิกฤติหนี้ในยูโรโซน และวิกฤติผู้ลี้ภัยในปี 2558 ก่อนหน้านั้นเคยเป็นกรรมาธิการความร่วมมือระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการรับมือภาวะวิกฤติ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการงบประมาณด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

2562-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถือเป็นกรรมการจัดการ IMF คนแรกที่มาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างบัลแกเรีย และเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำ IMF 

คริสติน ลาการ์ด (ประธานธนาคารกลางยุโรป: ECB)

เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2499 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Paris Nanterre และปริญญาโทจากสถาบันรัฐศาสตร์ใน Aix en Provence

2550-2554 ดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส โดยเป็นผู้หญิงคนแรกในกลุ่มประเทศ G-8 ที่ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ ในฐานะสมาชิกของ G-20 เธอยังมีส่วนร่วมในการจัดการวิกฤติทางการเงิน ช่วยส่งเสริมนโยบายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกํากับดูแลทางการเงินและกฎระเบียบ และเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลก 

2554-2562 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระหว่างดำรงตำแหน่งเธอต้องเผชิญกับความท้าทายจากผลพวงของวิกฤติการเงินโลก วิกฤติหนี้ยูโรโซน และข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการอนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 56 พันล้านดอลลาร์แก่ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2561

2562-ปัจจุบัน เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคุมทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรหรือกลุ่มยูโรโซน ในฐานะประธาน ECB จุดแข็งของเธอคือความเฉียบแหลมทางการเมือง การติดต่อ และความสามารถในการสร้างฉันทามติ อย่างไรก็ตามการไม่มีภูมิหลังด้านเศรษฐศาสตร์หรือความเห็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการเงินทำให้เธอต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

อลิซาเบธ วอร์เรน (ส.ว.รัฐแมสซาชูเซตส์ พรรคเดโมแครต)

เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2492 เมืองโอกลาโฮมา รัฐโอกลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาพยาธิวิทยา การพูดจากมหาวิทยาลัย Houston และปริญญาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Rutgers

2553-2554 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2010 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้แต่งตั้งอลิซาเบธ วอร์เรน เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีและที่ปรึกษาพิเศษของกระทรวงการคลังในสำนักคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน หรือ CFPB โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยออกแบบ CFPB ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายปฏิรูปการเงิน Dodd-Frank เป้าหมายหลักของ CFPB คือการตรวจสอบสถาบันการเงินผู้ให้กู้สินเชื่อและป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคสมัครใช้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้ตั้งใจ วอร์เรนได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ในกรณีที่มี ปัญหาหรือข้อพิพาททางกฎหมายกับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคมปี 2554 เธอได้ก้าวลงจากตำแหน่งเนื่องจากเผชิญแรงต่อต้านจากฝ่ายค้านของพรรครีพับลิกัน ที่โหวตไม่สนับสนุนให้เธอดำรงตำแหน่งต่อ

2555-ปัจจุบัน ชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และเข้ารับตําแหน่งในเดือนมกราคม 2556 โดยวอร์เรนถือเป็นวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกที่มาจากรัฐแมสซาชูเซตส์

2561-2563 วอร์เรนประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 จากนั้นก็กลายเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหลักที่ได้รับความสนใจในการเข้าชิงตําแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค เดโมแครตในปี 2563 ด้วยการเสนอนโยบายที่ดูหัวก้าวหน้าตั้งแต่การแก้ปัญหาการทุจริตในวอชิงตัน สวัสดิการคุ้มครองเด็กถ้วนหน้าไปจนถึงการแก้ปัญหาเงินกู้เรียนของนักศึกษา อีกทั้งยังมีนโยบายเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ช่วงหนึ่งเธอได้รับการพิจารณาเป็น front-runner อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคมเธอประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเนื่องจากแพ้ผล การหยั่งเสียงซุปเปอร์ทิวสเดย ทำให้พรรคเดโมแครตเหลือผู้แข่งขันสองคนคือ โจ ไบเดน และเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์