อัจฉรา อัมพุช เปิดโรดแมป “ซอฟต์พาวเวอร์” ด้านแฟชั่น พัฒนาฝีมือ เพิ่มแรงงาน สร้างฮีโร่โปรดักต์

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อัจฉรา อัมพุช เปิดโรดแมป “ซอฟต์พาวเวอร์” ด้านแฟชั่น พัฒนาฝีมือ เพิ่มแรงงาน สร้างฮีโร่โปรดักต์

Date Time: 19 ธ.ค. 2567 17:55 น.

Video

เปิดเคล็ดลับ ลดหย่อนภาษี ถือสั้น กำไรพุ่ง ต้องซื้อกองทุนฯ แบบไหน ? | Money Issue

Summary

  • ทำไม “แฟชั่นไทย” ถึงกลายมาเป็น Soft Power ระดับประเทศ ชวนหาคำตอบไปกับ "อัจฉรา อัมพุช" ประธานอนุกรรมการ
  • ที่จะมาเปิดโรดแมป “Soft Power แฟชั่น” กับการเร่งพัฒนาฝีมือ เพิ่มแรงงาน สร้างฮีโร่โปรดักต์ ให้ไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก พร้อมกับกล่าวขานว่า "เมืองไทย" ไม่ได้มีดีแค่ "อาหาร"

Latest


วทานิกา (Vatanika), GENTLEWOMAN, PIPATCHARA, POEM, SHU, Rally Movement หากเอ่ยชื่อแบรนด์เหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะมีน้อยคนแล้วที่จะไม่รู้จัก

นั่นก็เพราะ “แฟชั่น” ไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม หรือการสวมใส่เพียงอย่างเดียว แต่เป็น “ศิลปะ” ที่แสดงถึงคอนเซ็ปต์และคาแร็กเตอร์ต่างๆ ทั้งตัวผู้ออกแบบและผู้สวมใส่ ทำให้แบรนด์ไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหาที่เปรียบได้ยาก

เรากำลังพูดถึง “แฟชั่น” ที่ในวันนี้ได้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ผ่านโยบายแผนผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ไทย

ซึ่งเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เห็นชอบหลักการในแผนงานโครงการภายใต้ทั้ง 11 สาขา จำนวน 54 โครงการ กรอบวงเงิน 5,164 ล้านบาท โดยในสาขาแฟชั่น มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 268.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.17% ของงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด

แล้วทำไม “แฟชั่นไทย” ถึงกลายมาเป็น Soft Power ระดับประเทศได้นั้น Thairath Money ชวนไปหาคำตอบกับ “อัจฉรา อัมพุช” รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่น

เริ่มแรก อัจฉรา เล่าว่า ภาพรวมการแข่งขันตลาดแฟชั่นไทย กับต่างชาติ นั้นต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยตามหลังชาติอื่น เนื่องจากไทยไม่ใช่ “ผู้นำทางแฟชั่น” แม้ว่าจะมีการบริโภคแฟชั่นเป็นปริมาณมากก็ตาม ซึ่งต่างจากในอดีตที่การผลิตเสื้อผ้าและแฟชั่นโดยโรงงานไทยถือเป็นฮับในระดับภูมิภาค จนกระทั่งจีน เวียดนามเข้ามาตีตลาด ด้วยจุดเด่นคือความหลากหลายและ “ราคาถูก” นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ “ไทย” ต้องเร่งหาทางออก พลิกฟื้นอุตสาหกรรมแฟชั่นให้กลับมาโดดเด่นดังเดิม

เจาะอุตสาหกรรมแฟชั่น 4 สาขา

ดังนั้นจากการดำเนินโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์แฟชั่นไทยสู่สากล : Soft Power Fashion ภายใต้การสนับสนุนโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมด้วยการผลักดันของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นได้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น 4 สาขา ประกอบไปด้วย

1.เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (Apparel)

ที่จะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าไทยทันสมัย รวมทั้งใช้วัตถุดิบ ฝีมือ ที่ผลิตโดยคนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น ผ้าขาวม้า ซึ่งก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้มีการผลักดันอย่างมาก เห็นได้จากงาน OTOP ที่ถูกจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ให้คนบริโภคผ้าไทยมากขึ้นนั่นเอง พร้อมกับโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้การใส่ผ้าไทยเป็นเรื่องสนุก?

จึงเป็นที่มาของการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่น เพื่อสื่อสารไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เน้นบริโภคสินค้าต่างประเทศ ให้หันกลับมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น ผ่านการทำให้ผ้าไทยกลับมาทันสมัย คนรุ่นใหม่ใส่ได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการทุ่มงบทางการตลาดที่จะเน้นสื่อออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดกระแส everyday can wear

“คนไทยไม่ค่อยมีการสร้างแบรนด์ เพราะถูกแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ดังนั้นด้วยความที่คนไทยเป็น “ผู้รับจ้างผลิต” หรือ “OEM” (original equipment manufacturer) ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยนั้น ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ซอฟต์พาวเวอร์ จึงจะเป็นการทำให้กลุ่มวัยรุ่นหันกลับมามองสินค้าไทยที่มีความทันสมัย เข้าถึงได้ทุกยุคมากขึ้น แม้ว่าราคาจะสู้กับจีนไม่ได้ แต่จะเน้นลงลึกถึงระดับ “คุณภาพ” เพื่อให้มี Revenue ที่เติบโตขึ้น” อัจฉรา กล่าว

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรม (Craft)

เป็นที่รู้กันดีว่างานฝีมือของคนไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ยิ่งสิ่งทอและงานจักสานถือว่ามีความเป็นเอกลักษณ์และประณีต โดยฝีมือของคนไทยสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เห็นได้จาก Dior Gold House คอนเซปต์สโตร์สีทองอร่ามแห่งใหม่ของแบรนด์ดิออร์ บนถนนเพลินจิต ที่มี 9 ศิลปินร่วมสมัยและนักออกแบบชาวไทยมากฝีมือมาช่วยรังสรรค์ในการตกแต่งร้านให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ดังนั้นจะต้องมีการลงไปตามชุมชน หมู่บ้าน ที่มีช่างฝีมือคุณภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะเป็น “ฮีโร่โปรดักต์” อย่างเช่น การสาน การปัก ให้มีความโดดเด่น พร้อมกับเสาะหาตลาดที่ต้องการ โดยมีการตั้งเป้าไว้ประมาณ 10 โปรดักต์ รวมทั้งจะมีการเข้าไปช่วยพัฒนาและทำเป็น Commercial มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่า เรียกได้ว่าคณะทำงานจะเข้าไปดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้

“เราไม่ใช่แค่คิด แต่เราต้องลงไปดูทั้งหมดว่าตลาดต้องการอะไร จะขายได้หรือไม่ จากนั้นเราจึงจะต้องมาสร้างให้งานของเราแข็งแกร่ง ซึ่งมันไม่ใช่แค่ผิวเผิน ต้องทำงานแบบระยะยาว ทั้งการสร้างโปรดักต์ การประชาสัมพันธ์ การทำสื่อให้เต็มที่เพื่อสร้างกระแสควบคู่กันไป”

3.ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty)

ผลิตภัณฑ์ทางด้านความงามของไทย ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์และไม่เป็นสองรองใคร ดังนั้นจะมีการผลักดันให้เกิดเป็น TBeauty หรือที่เรียกว่า Thailand Beauty เช่น การนำสมุนไพรไทยมาเป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อสร้างจุดเด่นที่ยากจะเลียนแบบ พร้อมกับ Explore และให้ทุกแบรนด์นำไปใช้

ซึ่งปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับกรมการแพทย์ เพื่อหาวัตถุดิบที่จะมาเป็นส่วนกลางและให้ทุกแบรนด์สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนดังเช่น เกาหลี ที่มีความโดดเด่นเรื่องโสม และเมื่อนั้นผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี ราคาก็จะแข่งขันได้ ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเชื่อมต่อ และกระตุ้นเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4.อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry)

สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก และสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตจะถูกส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องด้วยทักษะฝีมือแรงงานของไทยมีความชำนาญสูงทั้งการเจียระไนอัญมณีและผลิตเครื่องประดับ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยเองมีการพัฒนาศักยภาพการผลิต การตลาดตลอดจนได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกใน 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรกในปี 2559 (อันดับ 1 ของเอเชีย) และมีมูลค่าส่งออกกว่า 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ดังนั้นจึงต้องมีการปรึกษาหารือด้านการสร้างแบรนด์ สร้างแรงงาน เนื่องจากไทยขาดแคลนช่างฝีมือ ซึ่งอาจจะมีโรงเรียนสอน ผลิตเครื่องประดับอย่างจริงจัง และเมื่อนั้นจะเกิดผลต่อเนื่องนั่นคือ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่ตลาดต้องการ

ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อผลักดันและสื่อสารแบรนด์แฟชั่นไทยไปสู่ระดับสากล โดยจะคัดเลือกผู้ประกอบการแฟชั่นไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างเนื้อหาที่มีอัตลักษณ์ไทย ผสมผสานนวัตกรรม และเชื่อมโยง Influencer Marketing ในการสื่อสารภาพลักษณ์ สร้างความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมจัดกิจกรรมทดสอบตลาดนั้น

Show Pow คาดสร้างรายได้ให้แบรนด์แฟชั่นไทยไม่น้อยกว่า 20%

นอกจากนี้ ในช่วงโค้งท้ายปี 2567 คณะทำงานได้มีการเตรียมพื้นที่ให้กับแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อทดสอบตลาดอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางสุขุมวิท ภายใต้แนวคิด โชว์ศักยภาพและสื่อสารภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่น : Creative Soft Power Fashion Community หรือ Show Pow พร้อมจัดทัพสินค้าแบรนด์แฟชั่นไทยที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ นำเสนอในราคาสุดพิเศษ รวมกว่า 100 แบรนด์ พร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์ไอเดียสุดเจ๋ง จากเหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่

พร้อมกิจกรรมความบันเทิงต่าง ๆ ตลอดงาน โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม ที่ EM Glass ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เทศกาลแห่งการมอบของขวัญ เทศกาลแห่งความสุข ซึ่งเป็นโอกาสให้กับแบรนด์ในการสร้างการรับรู้และสร้างยอดขาย

โดยผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศร่วมสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมภาพลักษณ์ และสร้างรายได้ให้แบรนด์แฟชั่นไทยไม่น้อยกว่า 20% ยกระดับแบรนด์แฟชั่นไทยสู่ตลาดโลก พร้อมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างโอกาสอีกมากมายต่อยอดธุรกิจและอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ในงาน Show Pow มีไฮไลต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ แฟชั่นโชว์ สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง จากวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

สำหรับ Road Map ในการสร้างการรับรู้ของ Soft Power ด้านแฟชั่น ตามเป้าหมายที่วางไว้ อัจฉรา ฉายภาพว่า ตรงจุดนี้คือ การนำสินค้าที่เป็นของคนรุ่นใหม่ทั้งหมดเข้ามา เพื่อให้เห็นโปรดักต์ของคนไทยที่ผลิตโดยคนไทย ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ บิวตี้ และงานคราฟท์ ที่มีความหลากหลายกว่า 100 แบรนด์ จากทั่วทั้งประเทศ โดยแบรนด์ที่คัดเลือกเข้ามา จะเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาดีไซน์สินค้าไทยแบบ traditional ดีไซน์ต้องเก๋ แตกต่างจากเดิม ราคาต้องเข้าถึงได้ เพื่อให้ฐานที่กว้างขึ้นและชาวบ้านจะได้มีกำลังใจในการพัฒนาเพิ่ม

ส่วนการผลักดัน Soft Power ในปี 2568 จะเน้นไปที่การสร้างกระแสอย่างไรให้ติดหูคนรุ่นใหม่ และผลักดันให้กว้างขึ้น พร้อมกับดึงอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนมาสร้างความเป็น International

อีกทั้งในเรื่องของการอัพสกิล รีสกิล นอกจากผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ โปรดักต์ ก็จะต้องมีการพัฒนาคนด้วยเช่นกัน โดยจะมีการสอนวิชาชีพให้กับคนทั่วไป วิธีการทำ Import-Export และสร้างคอร์สให้กับ SMEs รายย่อย ประชาชน โดยที่จะไม่สอนทฤษฎี แต่จะสอนวิชาชีพที่สามารถไปทำงานได้ เช่น น้องฉัตร ที่จะมาสอนวิธีการแต่งหน้าที่ดีเป็นอย่างไร

จากยุค “ศูนย์กลาง OEM” สู่ยุค “สร้างแบรนด์” ในเวทีโลก

ขณะที่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการผลักดัน ซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่นในครั้งนี้ อัจฉรา มองว่า คงจะต้องพัฒนาและใช้เวลา เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งหากมีงบประมาณที่มากพอ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำได้เต็มที่ และทั้งหมดก็จะกระเตื้องขึ้น

ดังนั้นภาครัฐมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันร่วมกับภาคเอกชน ทีมซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่น ก็เปรียบเสมือน “คนกลาง” ที่จะช่วยเข้าไปวางกลยุทธ์ ติดตาม ผลักดัน ชี้แนะ เพื่อให้ทั้งหมดเกิดเป็นภาพของ Commercial มากขึ้น

“จากข้อมูลพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดสินค้าแฟชั่นไทยสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันถดถอยลง เพราะความต้องการของโลกมันเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมของจีนเข้ามาตีตลาดเยอะขึ้น รวมทั้งไทยไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยี มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็น OEM ทำให้ความถดถอยลดลงไปกว่า 30-40% ดังนั้นจึงต้องมีการพยายามทำให้คนไทยหันกลับมาบริโภคสินค้าภายในประเทศ ผ่านการสร้างจุดยืนใหม่ให้ผู้ประกอบการ เพื่อหนีจากสินค้าระดับแมสอย่างจีน เวียดนาม และอินเดีย โดยที่ไม่ได้เน้นขายของถูกเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องไปในมุมของดีไซน์ คุณภาพ และการสร้างแบรนด์”

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อไปนี้ “ประเทศไทย” จะไม่ได้มีดีแค่เรื่อง “อาหาร” เพราะ “แฟชั่น” จะกลายเป็นหนึ่งในจุดเด่น ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินและถูกกล่าวถึงในฐานะ “ของดี” ของประเทศไทย และเมื่อนั้นโอกาสที่เจ้าของแบรนด์ที่เป็นคนรุ่นใหม่จะนำสินค้าไทยไปบุกตลาดโลกในหลายแบรนด์หลายรายจากฝีมือคนไทย ก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ