Thairath Creative นิยามใหม่ “ไทยรัฐ” ไม่ได้เป็นแค่ “สื่อ”

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Thairath Creative นิยามใหม่ “ไทยรัฐ” ไม่ได้เป็นแค่ “สื่อ”

Date Time: 28 พ.ย. 2567 17:04 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • คุยกับ “จิตสุภา วัชรพล” Co-CEO ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ เล่าความคิดทำไมต้องมี “Thairath Creative” ท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจสื่อ พร้อมกับบทบาทหน้าที่ของ Thairath Creative ที่ในวันนี้ นำเสนอไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และตอกย้ำว่า ไทยรัฐจะไม่ใช่แค่มีเดียอีกต่อไป แต่คือผู้ช่วยคนสำคัญของธุรกิจทุกอุตสาหกรรม

Latest


ประโยคที่บอกว่า “Content is King” ปัจจุบันยังจริงอยู่ไหม? ในยุคที่ใครๆ ก็สร้างคอนเทนต์ได้เอง และเลือกที่จะเสพสื่อได้จากหลากหลายช่องทาง

ในช่วงที่ผ่านมาหลายๆ คนคงจะเห็นข่าวคราวของ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ที่ได้ประกาศความพร้อมในการให้บริการโซลูชันด้านการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร เสริมทัพความแข็งแกร่งเปิดตัวทีมใหม่ "Thairath Creative" ภายใต้แนวคิด "When Ideas Meet Media Space"

ผ่านการนำไอเดียความคิดสร้างสรรค์ จากการเข้าใจความต้องการทั้งแบรนด์และลูกค้า มาผสานกับจุดแข็งด้านความแข็งแกร่งของแต่ละสื่อในเครือไทยรัฐ เพื่อการผลิตชิ้นงานสื่อโฆษณาในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์สินค้าหรือบริการของลูกค้าและเอเจนซีพันธมิตร

ทำไมต้องมี Thairath Creative

แล้วอะไรทำให้ “ไทยรัฐกรุ๊ป” ในฐานะธุรกิจสื่อผู้คว่ำหวอดในวงการมากว่า 75 ปี ปรับตัวครั้งใหญ่ ขยับขยายส่งท้ายปี ในครั้งนี้ Thairath Money ชวนคุยกับ “จิตสุภา วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ ถึงที่มาที่ไปของ “Thairath Creative” กัน

เริ่มแรก จิตสุภา เล่าว่า เมื่อก่อนลูกค้าหรือแบรนด์เดินเข้ามาหาไทยรัฐด้วยชิ้นงานโฆษณา และมองไทยรัฐเป็นเพียงพื้นที่สื่อ ดังนั้นในเมื่อแบรนด์รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองดีที่สุด และไทยรัฐในฐานะสื่อก็รู้จักคนดูดีที่สุดเช่นกัน Target ของลูกค้าคือคนดูของเรา จึงเกิด Thairath Creative ขึ้นมา

ผ่านการนำอินไซต์และการมองเห็นโอกาสที่อยู่ในธุรกิจสื่อมานาน มาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าในยุคดิจิทัล ที่ต้องการอะไรรวดเร็ว ครบวงจรและเบ็ดเสร็จในที่เดียว ด้วยการให้บริการโซลูชันด้านการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ Communication Strategy, Marketing Plan จนถึงงาน Creative Idea, Production และ Event & Activation

โดยที่ไทยรัฐเองก็มีฐานกลุ่มผู้ชมเป็นของตัวเองที่ครอบคลุมทุกเจเนอเรชันและทุกความสนใจ เพราะเหตุผลที่ว่า “สื่อต้องปรับตัว” ซึ่งการที่จะทำให้ไทยรัฐแตกต่างจากผู้อื่นได้ก็คือ การนำจุดแข็งที่มีสื่อครบและครอบคลุม บวกกับการมีฐานกลุ่มผู้ดูเป็นของตัวเองมาเป็น unique selling point

ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพของมีเดียลูกค้าให้มีอิมแพคมากขึ้น หากนับระยะเวลาการเริ่มฟอร์มทีม เห็นจะเป็นตั้งแต่ปลายปี 66 แต่กว่าจะประกอบร่างครบทีมก็คือครึ่งปี 67 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

“ไทยรัฐ” กับนิยามที่เป็นมากกว่า “สื่อ”

“ที่ผ่านมาไทยรัฐมักจะถูกมองว่าเป็นแค่ “มีเดีย” ส่วนใหญ่เวลาทำงานกับลูกค้าหรือเอเจนซี จะมาพร้อมกับแคมเปญไอเดียประมาณนึง ซึ่งเรารู้สึกว่าบรีฟของลูกค้าสามารถทำให้อิมแพคได้มากกว่านี้ เพราะไทยรัฐมีสื่อหลายแพลตฟอร์มในมือทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ไทยรัฐทีวี (Thairath TV), ไทยรัฐออนไลน์ (Thairath Online) ไทยรัฐสปอร์ต (Thairath Sport), ไทยรัฐพลัส (Thairath Plus), ไทยรัฐมันนี่ (Thairath Money) และ MIRROR Thailand ที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายและแตกต่าง ที่จะสามารถแพลนให้แคมเปญรับส่งถึงกันและกันได้ จึงเป็นที่มาที่จะต้องเติมพาร์ทที่เป็น “Creative Service” เข้าไปเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าตั้งแต่อันดับแรกของการวางกลยุทธ์” จิตสุภา กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของกลยุทธ์ Thairath Creative คือ เราตั้งใจเป็น Added Value service ให้กับลูกค้า และในมุมกลับกันเราจะรับโจทย์จากลูกค้าได้มากขึ้น กว้างขึ้น และเข้าไปหาลูกค้าด้วยวัตถุประสงค์มากกว่าแค่มีเดียในบ้าน แต่ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาไปเป็นเอเจนซีแบบที่รับงานเฉพาะ Creative อย่างเดียวก็ได้ 

ขณะที่การทำงานกับ Partner ธุรกิจของไทยรัฐ เช่น กลุ่มเอเจนซีต่างๆ จิตสุภา มองว่า Thairath Creative ไม่ใช่คู่แข่ง แต่อยากให้มองว่าเราเป็นพันธมิตร เป็นพาร์ทเนอร์ เพราะเราเองมีความเชี่ยวชาญด้านสื่อมานาน และมีพื้นที่สื่อที่ครอบคลุม มี Audience เป็นของตัวเอง ดังนั้นการจับมือกับเราจะทำให้เอเจนซี่ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน

โดยที่ทีม Thairath Creative เป็นการทรานส์ฟอร์มทีมงาน สร้างทีมใหม่ จากคนในองค์กรที่มากไปด้วยความสามารถ ซึ่งแต่ละคนล้วนแต่ผ่านประสบการณ์ในเอเจนซีโฆษณามาทั้งนั้น จึงทำให้เข้าใจเนเจอร์ของการทำงานโฆษณาในทุกมิติอย่างแท้จริง

การทำงานกับ BU อื่นๆ ของไทยรัฐจะเป็นอย่างไร?

“ลักษณะการทำงานที่ผ่านมา เราให้ทีมครีเอทีฟเป็นคนวางไอเดียที่ใช้ในการสื่อสาร รวมถึงการทำชิ้นงานออกมาไม่ว่าจะเป็น Mirror 50 หรือแม้กระทั่ง เมรัยไทยแลนด์ ซึ่งเหมือนกับทีมการตลาดข้างในเป็นลูกค้าของ Thairath Creative ส่วนงานที่เป็น Advertorial ก็จะมีการไปปลั๊กอินกับครีเอทีฟรายการต่อ เพราะการนำเสนองานก็จะมีการใช้สื่อที่มีในบ้านทั้งหมดมาช่วยทำให้แคมเปญใหญ่ และอิมแพคมากขึ้น ผ่านการใช้ Communication message idea พร้อมกับต่อยอดบนเว็บไซต์ หรือ Tie-in ในรายการบนช่องโทรทัศน์ เช่น บ้านกรองน้ำ, TOA”

ทั้งนี้ในส่วนของเป้าหมายการเติบโตของ Thairath Creative จิตสุภา ฉายภาพว่า Thairath Creative จะสามารถเป็น New business unit ที่ลูกค้าเลือกและไว้ใจ ซึ่งสร้างรายได้ให้องค์กรได้ ซึ่งเป้าที่วางไว้ไม่เชิงเป็นเป้าที่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากเป็นเป้าหมายเดียวกันกับ Sale สุดท้ายจะย้อนกลับไปที่ยอดขายมีเดียที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าแต่ละราย

โฟกัสธุรกิจทุกอุตสาหกรรม

ดังนั้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ Thairath Creative จะเป็นแบรนด์ ธุรกิจทั่วไป ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม แต่อาจจะเป็นไซต์ขนาดกลาง ทั้งลูกค้าเดิมที่ลงสื่อโฆษณาอยู่แล้ว เพียงแต่มีการเพิ่มบริการเข้าไปใหม่ที่ทำให้โฆษณาของลูกค้า Effective มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มลูกค้าใหม่ อย่างแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารแคมเปญแบบครอบคลุมทุกสื่อ

“การจ้างงานกับ Thairath Creative ก็เหมือนกับการจ้างงานเอเจนซีทั่วไป ซึ่งต้องมีโจทย์ให้ชัด มีวัตถุประสงค์ทางการตลาดเท่าไร มีบัจเจทเท่าไร คาดหวังอะไรจากแคมเปญ”

และเมื่อถามถึงแนวคิด When Ideas Meet Media Space จิตสุภา เปิดเผยว่า มันคือการเพิ่ม Value ให้กับพื้นที่มีเดียมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราเห็นตัวอย่างจากงานของลูกค้า บนหน้าปกหนังสือพิมพ์ กับแคมเปญ “ทำไมต้องตัดผมสั้น” ซึ่งทีมมองว่าแคมเปญนี้เหมาะกับพื้นที่มีเดียหนังสือพิมพ์ที่ยังจับต้องได้ และน่าเชื่อถือ เพราะถ้าแคมเปญนั้นไปอยู่บนโลกออนไลน์จะได้อิมแพคไม่มากนัก นั่นจึงเป็นที่ว่าทำไมต้องมี Thairath Creative นั่นเอง

สุดท้ายนี้แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่ Content is King แต่การมีเพียงคอนเทนต์ที่ดียังไม่เพียงพอ Thairath Creative จึงมุ่งเน้นการเติมเต็มด้วย Creativity เพื่อยกระดับให้คอนเทนต์มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ ที่ตอบโจทย์ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคอย่างลงตัว ทั้งหมดนี้คือ การปรับตัวเพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของการลงโฆษณาของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

เราไม่ได้สู้แค่กับสำนักข่าว แต่เราต้องสู้กับอินฟลูฯ และ Global Platform

“เราไม่ได้สู้แค่กับสำนักข่าว แต่เราต้องสู้กับอินฟลูเอนเซอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้ง Global Platform ที่เราไม่สามารถควบคุมการมองเห็นของคนได้ แต่ยังยืนยันว่าคอนเทนต์ยังคงเป็นราชา แต่ช่องทาง หรือ แพลตฟอร์มในที่นี้เป็น Queen เพราะถ้าต่อให้คอนเทนต์ดี แต่มันไปไม่ถึงสาร คนที่อยากให้เห็น มันก็ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ดี และความท้าทายอีกอย่างคือ ต้องสร้างรายได้ เพราะในยุคที่ทุกคนมองหา Media Return on Investment ซึ่งทำให้ Media Value ถูกกดราคา เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือก ดังนั้นการสร้างการรับรู้ การเสริมสร้างภาพลักษณ์ การกระตุ้นยอดขาย หรือการสร้าง Engagement กับผู้บริโภค พร้อมกับโซลูชันที่ตอบโจทย์ทุกความท้าทายทางการตลาด ตั้งแต่การสร้าง Awareness ไปจนถึงการสร้าง Return on Investmen ที่คุ้มค่าให้กับแบรนด์ ก็จะทำให้เกิดผลสำเร็จในที่สุด” จิตสุภา กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ