PANDORA จิวเวลรี่แสนล้าน ต้นกำเนิดเดนมาร์ก ช่างไทยผลิต นานกว่า 35 ปี

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

PANDORA จิวเวลรี่แสนล้าน ต้นกำเนิดเดนมาร์ก ช่างไทยผลิต นานกว่า 35 ปี

Date Time: 25 ส.ค. 2567 15:49 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • เครื่องประดับสร้อยข้อมือพร้อมชาร์ม หรือจี้เครื่องหมายแทนสิ่งสำคัญในวาระต่างๆ ของชีวิต คือ Moment Concept ที่แบรนด์เครื่องประดับ PANDORA จากเดนมาร์กคิดริเริ่มขึ้น และวางขายใน 6,700 จุดจำหน่ายใน 100 ประเทศทั่วโลก โดย 98% ของสินค้าเหล่านี้ผลิตโดยช่างฝีมือไทยจากโรงงานที่กรุงเทพฯ และลำพูน

Latest


แบรนด์เครื่องประดับอัญมณี PANDORA เป็นแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดโดย “เพียร์ และวินนี อีนีโวลด์เซ่น” ชาวเดนมาร์ก โดยเพียร์เป็นช่างทองและทำจิวเวลรี่มาก่อนเปิดธุรกิจ PANDORA ที่โคเปนเฮเกน ในปี 2525 

กระทั่งได้มาเที่ยวประเทศไทย พบกับฝีมือการทำเครื่องประดับของคนไทย จึงมาเปิดธุรกิจที่ประเทศไทยครั้งแรกในปี 2532 ต่อมาจึงตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี เขตประเวศ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 และโรงงานอีกแห่งในจังหวัดลำพูนเมื่อปี 2560 อีกทั้งยังเป็นโรงงานที่ก่อสร้างได้ตามมาตรฐานโรงงานสีเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ด้วย 

#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ “จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน แพนด่อรา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด ในขวบปีที่ แพนดอร่า อยู่ในประเทศไทยครบ 35 ปี และกำลังมีแผนจะขยายโรงงานทั้งในประเทศไทย และเวียดนาม เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดเครื่องประดับในระดับโลก 

แพนดอร่า เกิดที่เดนมาร์ก เติบโตที่ไทย ส่งขาย 100 กว่าประเทศทั่วโลก

PANDORA Group เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หรือ Copenhagen Stock Exchange (OMX) มาตั้งแต่ปี 2553 และผลประกอบการปีล่าสุด (2566) มีรายได้ 2.81 หมื่นล้านโครนเดนมาร์ก หรือประมาณ 1.43 แสนล้านบาท มีจุดจำหน่ายสินค้า 6,700 แห่งในกว่า 100 ประเทศ 

จีรเศรษฐ เล่าว่า ในช่วงที่คุณเพียร์เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทก่อนจะมาเมืองไทย PANDORA มีกลยุทธ์ธุรกิจที่เรียกว่า PANDORA MOMENT ซึ่งมีส่วนให้บริษัทเจริญเติบโต และในปัจจุบันใช้กลยุทธ์ Phoenix ซึ่งมี 4 แกน เพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจและมีกำไร ประกอบด้วย 

  • Brand
  • Design
  • Personalization
  • Core Market  

“สิ่งที่เราเน้นคือ Moment Concept คือสร้อยข้อมือ และ Charm (จี้) โดยเฉพาะ Charm ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของลูกค้า สินค้าของเราจึงมีความหมายในทุกๆ จังหวะก้าวของชีวิตลูกค้า”

จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน แพนด่อรา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด
จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน แพนด่อรา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด

ส่วนกลยุทธ์ฟีนิกซ์ในปัจจุบันมีผลทำให้บริษัทจำหน่ายเครื่องประดับได้กว่า 100 ล้านชิ้นต่อปี และ 4 แกนสำคัญที่นำมาใช้ ได้แก่ เรื่องแบรนด์ โดยเน้นเรื่องแพนดอร่า โมเมนต์ เป็นเครื่องประดับที่มีความหมายเสมอสำหรับลูกค้า ให้ความสำคัญกับความรัก และเป็นแบรนด์ที่มีราคาจับต้องได้ และทุกคนเข้าถึงได้ หรือจะเรียกว่า เราเป็นจิวเวลรี่ที่มีความ Democratize หรือเข้าถึงทุกๆ คนได้

ขณะที่เรื่องการออกแบบดีไซน์ ก็มีทั้ง Moment Platform คือสร้อยกับ Charm และยังมีเครื่องประดับอื่นๆ ทั้งสร้อยคอ แหวน ต่างหู และปีที่แล้ว (ปี 2566) มีคอลเลกชันใหม่คือ Essence รวมถึงเพชรแบบที่แพนดอร่าผลิต หรือที่เราเรียกว่า Pandora Lab-Grown Diamonds ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เป็นนวัตกรรมการผลิตเพชรที่เลียนแบบเพชรจากธรรมชาติ และเน้นเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต

ส่วนอีก 2 แกน คือ Personalization กับ Core Market คือการผลิตสินค้าจากข้อมูลเชิงลึกตามความต้องการของตลาด พร้อมกับการเน้นตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีฐานลูกค้าอยู่และยังเติบโตได้อีก

จีรเศรษฐ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันตลาดหลักของแพนดอร่าอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 30% อังกฤษ 15% อิตาลี 10% เยอรมนี 5% และที่เหลือก็คือที่อื่นๆ ในโลก ส่วนจีนตอนนี้บริษัทอาจมีตลาดอยู่ประมาณ 2-3% แต่เป็นตลาดที่เป็นเป้าหมายของบริษัทเช่นกัน

โรงงานในไทย 2 จังหวัด สร้างงาน 12,000 คน

ปัจจุบันแพนดอร่าจากประเทศไทย กำลังมีภารกิจขยายกำลังการผลิตที่เวียดนาม โดยแพนดอร่าลงทุนตั้งโรงงานที่จังหวัดบิ่ญเซือง (Binh Duong) ที่อยู่ห่างจากโฮจิมินห์ไปทางเหนือ 40 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะกดสวิตช์เปิดดำเนินการได้ในปี 2569 จ้างงานช่างฝีมือในเวียดนามอีกราวๆ 7,000 คน 

ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตและส่งออก ส่วนการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีบริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN เป็นพาร์ตเนอร์จัดจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2553 

สำหรับโรงงานผลิตในประเทศไทยมี 3 โรงงาน ใน 2 จังหวัด คือ โรงงานที่กรุงเทพฯ และลำพูน โดยที่กรุงเทพฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานีจ้างงานกว่า 8,000 คน ส่วนโรงงานลำพูนมีอีกกว่า 4,000 คน

“แพนดอร่าผลิตจากเมืองไทยประมาณ 98% และเจริญเติบโตมากับคนไทย พนักงานคนไทยหมายเลข 001 ชื่อพี่กบ ยังอยู่กับเรา ปัจจุบันแกเป็นผู้จัดการดูแลไลน์การผลิต อยู่กับเรามา 35 ปีแล้ว และอีกเรื่องที่น่าภาคภูมิใจคือ แพนดอร่าเป็นแบรนด์จิวเวลรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านจำนวน แม้จะกำเนิดที่เดนมาร์ก แต่ก็เจริญเติบโตจากเมืองไทย มีการผลิตที่ประเทศไทยเกือบ 98%”

จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน แพนด่อรา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด
จีรเศรษฐ บูรณะสัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน แพนด่อรา กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด


ด้วยความเชื่อมั่นเชื่อใจกับช่างฝีมือคนไทยที่มีทั้งความประณีตและความละเอียดใส่ใจในการผลิตทุกๆ ขั้นตอน 

ขณะเดียวกันด้วยเป้าหมายการแข่งขันและการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกธุรกิจ จีรเศรษฐไม่ปฏิเสธว่า โรงงานก็ต้องนำระบบออโตเมชันต่างๆ เข้ามาใช้งาน ต้องพัฒนาด้านการผลิตอยู่เสมอ เริ่มจากใช้เครื่องกลต่างๆ มาช่วยสนับสนุนการทำงานของพนักงาน แล้วงานที่ต้องการประสิทธิภาพความแม่นยำมากขึ้นก็ค่อยเป็นกึ่งอัตโนมัติ 

“เราจะใช้ออโตเมชัน หรือแขนกล ด้วยความสมเหตุสมผลคือ ที่ไหนที่มีความจำเป็นต้องนำมาช่วยเสริมช่างฝีมือของเรา เราเอาเข้ามาเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต เพื่อให้แพนดอร่าแข่งขันได้ในตลาดโลก แต่งานพื้นฐานของเรายังต้องใช้คน ใช้ช่างฝีมือ เพราะเราเป็นงานคราฟต์ ดังนั้น เราจึงยังจ้างงานมากถึง 12,000 คนอย่างที่เล่าไป” จีรเศรษฐ กล่าว

ติดตามข่าวสารด้านการตลาดและธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ “การเงินดีชีวิตดี” ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money