กษิรา คล่องอนันต์ Money สไตล์แม่ “นักการเงิน” สอนลูกลงทุนตามอารมณ์ พร้อมรับความเสี่ยง

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

กษิรา คล่องอนันต์ Money สไตล์แม่ “นักการเงิน” สอนลูกลงทุนตามอารมณ์ พร้อมรับความเสี่ยง

Date Time: 17 ส.ค. 2567 13:45 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • สอนลูกเก่งเรื่องเงินสไตล์คุณแม่ นักวางแผนการเงินการลงทุน “ก้อย-กษิรา คล่องอนันต์” Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)

เดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งวันแม่ และการนึกถึงคุณแม่นักการเงินที่ทำหลายหน้าที่หลายบทบาทในอุตสาหกรรมนี้ และที่สำคัญคือ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในฐานะ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” คือบทบาทสำคัญของ “ก้อย-กษิรา คล่องอนันต์” (ชื่อเดิมกาญจนา คล่องอนันต์) Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ในปัจจุบัน

กษิรา ทำงานในวงการแบงก์ไทยและแบงก์ต่างประเทศมาหลายหน้าที่ ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร (Teller) อยู่หน้าเคาน์เตอร์ รับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน เป็นด่านหน้าของแบงก์ มาสู่ระดับผู้บริหาร เคยเป็นผู้จัดการสาขา ดูแลลูกค้ากลุ่ม Wealth (ผู้มีความมั่งคั่ง) เป็นเทรนเนอร์ให้พนักงานแบงก์และปัจจุบันคือ มีหน้าที่สร้างคนให้เป็น “ที่ปรึกษาการเงินอิสระ”

ส่วนอีกบทบาทหนึ่งเธอเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชาย 2 คน ที่เมื่อจบการศึกษาก็มาทำงานในวงการธนาคารเช่นเดียวกัน

ในฐานะคุณแม่ที่อยู่ในวงการธนาคาร กษิรา ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งจากฐานะแม่และฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน มีใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner) มีใบอนุญาตประกอบอาชีพนักวางแผนการลงทุน IP (Investment Planner) เขียนหนังสือ และเดินสายให้ความรู้เรื่องวางแผนการเงิน การลงทุนกับผู้คนมาหลายระดับ

กษิรา คล่องอนันต์ Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)
กษิรา คล่องอนันต์ Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)

วางแผนการเงิน เริ่มที่ “แบ่งกล่องเงิน”

เธอให้หลักคิดการวางแผนการเงินสำหรับมนุษย์แม่รวมถึงผู้ที่มีความตั้งใจวางแผนการเงินทั่วๆ ไปว่า อาจเริ่มต้นที่การแบ่งรายได้ที่ได้มาออกเป็น 4-5 กล่อง คือ

  • กล่องที่ 1 กล่องของตัวเอง คือเงินที่ใช้ส่วนตัวของเราเอง 20%
  • กล่องที่ 2 กล่องของครอบครัว คือ เงินที่ให้พ่อแม่พี่น้อง หรือใช้กรณีฉุกเฉินในครอบครัว 20%
  • กล่องที่ 3 กล่องของลูก คือ ค่าใช้จ่ายของลูกๆ 20%
  • กล่องที่ 4 กล่องสำรองฉุกเฉิน 20%
  • กล่องที่ 5 กล่องความฝัน คือ สำหรับเติมเต็มความฝัน เช่น เที่ยวต่างประเทศ ซื้อของที่อยากได้ และกล่องนี้คือเงินที่ได้จากกล่องที่ 1 เต็ม จะเอามาเติมในกล่องที่ 5

เทคนิคคือ ค่อยหยอดเงินแบ่งออกเป็นกล่องๆ ไว้ทุกเดือน โดยกล่องที่จะนำออกมาใช้ได้จริงๆ คือ กล่องความฝัน ส่วนกล่อง 1-4 อย่าไปแตะ เพราะเป็นกล่องของเงินที่เป็นความจำเป็นในชีวิต ที่สำคัญกล่องเงินสำรองฉุกเฉินจากคิดกันว่า 3-6 เดือน ปัจจุบันต้องคิดใหม่คือ ให้กันไว้สำหรับ 1 ปีจึงจะพอ

“แล้วก่อนจะแบ่งเงินเป็นกล่องๆ เหล่านี้ สิ่งสำคัญต้องรู้รายรับรายจ่ายของตัวเอง เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเก็บเงินสำหรับสำรองฉุกเฉิน 1 ปีเป็นจำนวนเท่าไร หรือคิดถึงรายจ่ายต่อเดือน แล้วคูณ 12 จะเป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่จะต้องกันไว้ แล้วจัดสรรปันส่วนแต่ละกล่องให้เหมาะกับเรา แล้วหาผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะกับการดูแลเงินแต่ละกล่องนี้”

เช่น กล่องความฝัน มันอาจจะถูกใช้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะปล่อยวางไว้เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นต้องหาผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมกับความชอบของแต่ละคน กับความสามารถยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน แล้วเอาเงินกล่องนี้ไปลงทุนกับผลิตภัณฑ์ตามความชอบและความสามารถยอมรับความเสี่ยงนั้น

“คำว่าเหมาะสมคืออะไร แต่ละคนไม่เหมือนกันนะ มองก่อนว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้ไหม เช่น ความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินต้น หรือถ้าไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง เรารับได้แค่ไหน หรือต้องหาคนหรือสถาบันที่ไว้ใจได้ มาแนะนำ เพราะตอนนี้เรียนรู้เองกันเยอะ ในยูทูป ในกูเกิล มีสอนกันมากมาย อาจเริ่มจากเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน แล้วเดินเข้าไปหาสถาบันการเงิน เพราะการลงทุนในตลาดมีเยอะเลยตั้งแต่เสี่ยงสูงถึงเสี่ยงต่ำ เราต้องหาสิ่งที่เหมาะกับเราก่อนเป็นอันดับแรก แล้วมันเสี่ยงขนาดไหนมันโอเคไหม ชอบหรือเปล่า เป็นคำถามเริ่มต้น ทีนี้พอเราได้ตรงนี้แล้ว ค่อยเดินเข้าไปหาคนที่เขาเป็นมืออาชีพ และเดี๋ยวนี้มีที่ปรึกษาการเงินอิสระหรือผู้แนะนำการลงทุนอิสระเยอะมากที่พร้อมจะให้คำปรึกษา”

ประเมิน “สถานะการเงิน” ก่อน แล้วค่อยวางแผน “ลงทุน”

อันดับต่อมา คือ การคิดเรื่องการลงทุน ซึ่งสำหรับคุณแม่ทั่วไป เพียงค่าใช้จ่ายประจำเดือนก็กระเบียดกระเสียนอยู่แล้ว การจะแบ่งเงินไปลงทุนก็ต้องคิดให้เยอะ

“สำหรับเรา เราไม่ค่อยอยากบอกให้ออมก่อนใช้ เพราะออมเงิน เงินไม่งอกเงย เราจึงอยู่ในฝั่งที่ชอบทฤษฎีลงทุนก่อน แล้วทำให้งอกเงินแล้วค่อยเอาผลตอบแทนนั้นมาใช้”

“เคยไปสอนคอร์สการเงิน มีนักเรียนถามเยอะว่า อาจารย์หนูไม่มีเงินแม้แต่จะออมด้วยซ้ำ แล้วจะให้หนูลงทุนอะไร อันนี้คือ Challenge หลายๆ ครั้งที่นักเรียนมาบอกเรานะ เพราะค่าใช้จ่ายเขามันเยอะอยู่แล้ว เราจึงบอกว่าตอนแรกเลยทุกคนต้องรู้ก่อนว่าตัวเองมีสถานะการเงินเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไร มีรายรับอะไร มันสมดุลกันไหม ถ้าเรามีรายได้เท่านี้ รายจ่ายเท่านี้ แล้วไม่สมดุล ต้องพยายามหารายได้เพิ่มก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องการออม ส่วนมนุษย์เงินเดือนจะดีกว่านิดนึงคือ เค้ามีการลงทุนทางอ้อม ผ่านกฎระเบียบต่างๆ เช่น ลงทุนผ่านการส่งเงินประกันสังคม ข้าราชการก็มีส่งเงิน กบข. อาชีพครูก็มีเงินพวกเงินสงเคราะห์ต่างๆ อันนี้เขาหักจากเงินเดือนอยู่แล้ว”

ดังนั้น ทุกคนต้องรู้รายรับรายจ่ายตัวเองก่อน แล้วต้องคิดว่า จะเกษียณอายุเท่าไร จะมีลูกกี่คน ลูกหนึ่งคนใช้เงินเท่าไร แล้วค่อยคิดเป็นขั้นๆ ไป อย่างไรก็ตาม กษิรา ยอมรับว่า ปัจจุบันคนจำนวนมากไม่สามารถมีรายได้ทางเดียวได้ ดังนั้นการหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จึงจำเป็น และปัจจุบันมีช่องทางหารายได้ มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เธอเชื่อว่า ทฤษฎี “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย” เหมาะสมที่สุด

กษิรา คล่องอนันต์ Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)
กษิรา คล่องอนันต์ Head, Independent Wealth Sales หรือ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารทีมที่ปรึกษาการเงินอิสระ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)

สอนลูกลงทุน ต้องยอมให้เจ็บเพื่อเรียนรู้

ในฐานะคุณแม่ที่ทำอาชีพที่ปรึกษาการเงินการลงทุน เธอก็ให้ลูกเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เธอเล่าว่า เคยให้เงินก้อนลูกทั้ง 2 คนไปลงทุน ในครั้งแรกๆ ผลคือไม่ถึง 6 เดือน ก็เจ๊งทั้งคู่ แต่เรายอมเสีย เพราะตอนนั้นอยากให้ลูกได้เรียนรู้

“คนหนึ่งไม่ได้เรียนรู้เพราะเล่นตามเพื่อน อีกคนชอบดูกราฟ ทฤษฎีแน่นมาก แต่ก็ช่วยไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไปพวกเขาก็ได้รู้ว่า อะไรที่ตัวเองไม่รู้ และตอนหลังเราก็คอยช่วยดูอย่างใกล้ชิด และให้เขาลงทุนในสิ่งที่เขาชอบ เขามีข้อมูล

“เพราะเราเชื่อว่า การลงทุนเป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องของ Sentiment ลูกชอบนาฬิกา ชอบเสื้อวินเทจ เขาก็ลงทุนตรงนั้น แล้วเขามีข้อมูลเขาเรียนรู้ตลาดได้ ลูกคนนึงเคยซื้อเสื้อวินเทจมา 90,000 บาท แล้วเอาไปปล่อยขายได้ 120,000 บาท เขาได้กำไร 30,000 บาทในเวลาสั้นๆ ตอนแรกเราก็เอ๊ะๆ แต่เราก็ยอมให้เขาลงทุน

“อยากให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ล้มเอง เจ็บเอง แล้วลุกเอง อยากให้เขาลงทุนในสิ่งที่เขามีความสุข แล้วเราให้ลูกยืมเงินไปลงทุนนะ ไม่ได้ให้ฟรี เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ”

เธอย้ำว่า การสอนลูกเรื่องเงิน ต้องให้ลูกรู้จักประเมินตัวเองเป็นอันดับแรก ส่วนทฤษฎีต่างๆ ค่อยเอามาประกอบ แต่ตัวเราเองต้องเรียนรู้ให้มากพอ จนสามารถบอกตัวเองได้ว่า เวลาขาดทุน มันเพราะอะไร อย่าบอกว่า ไม่รู้ว่าเจ๊งเพราะอะไร

เป็นการสอนลูกเรื่องเงินเรื่องลงทุนสไตล์แม่ก้อย ที่สะสมจากประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์ชีวิตให้ลูกๆ

ติดตามข่าวสารอัปเดต อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ที่จะทำให้ "การเงินดีชีวิตดี" ล่าสุด ได้ที่นี่ https://www.thairath.co.th/money/investment

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money