นายอัศวิน อิงคะกุล ประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงการดำเนินธุรกิจในเครือมิราเคิล ว่า ได้ถ่ายทอดวิชาให้ลูก 2 คนสืบทอดธุรกิจต่อ โดยให้ “ลักษมีกานต์ อิงคะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมิราเคิล กรุ๊ป ดูแลโรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น และ “อนัคพล อิงคะกุล” รองประธานกรรมการบริหาร มิราเคิล กรุ๊ป ลูกชายดูแล โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
ขณะที่ธุรกิจในเครือยังมีโรงแรมอีก 2 แห่ง คือโรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น อยู่ซอยวิภาวดี 64 โรงแรมแห่งแรกในชีวิตการทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2535 และโรงแรมมิราเคิล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต ถนนกิ่งแก้ว ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำธุรกิจกับการท่าอากาศยานไทยมานานหลาย 10 ปี ได้ทำโรงแรมในสนามบิน ส่วนแลนด์ไซด์ด้านนอก ชื่อ สลีพ บ็อกซ์ บาย มิราเคิล ที่พักแห่งแรกเปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมือง แห่งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณชั้น 4 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 มีห้องพัก
55 ห้อง
“ที่เพิ่งเปิดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 คือ ไพรม์ สลีพ แอนด์ คาเฟ่ บาย มิราเคิล บริเวณชั้น 6 ตึกอาคารจอดรถโซน 3 ติดกับพิพิธภัณฑ์ ตรงข้ามประตู 8 อาคารผู้โดยสารขาออก บริการที่พักและคาเฟ่ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ลงทุนไปกว่า 30 ล้านบาท เป็นห้องพัก 25 ห้อง พร้อมห้องน้ำ สามารถเข้าพัก ทั้งแบบรายชั่วโมงและรายวัน ขณะนี้คนรู้จักมากขึ้นโดยเฉพาะที่เดินทางไฟลท์เช้า”
อย่างไรก็ตาม โรงแรมในส่วนแอร์ไซด์ อยู่ในบริเวณที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไปแล้ว ให้บริการเฉพาะนักท่องเที่ยวทรานซิท ที่รอต่อเครื่อง คือ โรงแรมมิราเคิล ทรานซิท บนชั้น 4 Concourse A มีห้องพัก 33 ห้อง และในเดือน ก.ย.2566 ได้เปิดมิราเคิล เลานจ์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณชั้น 4 อาคารเทียบเครื่องบินรอง SAT-1 บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 150 ล้านบาท และในอาคารนี้ได้เพิ่มห้องพักของโรงแรมมิราเคิล ทรานซิท อีก 35 ห้อง ซึ่งในส่วนนี้มีปัญหา
“เมื่อ 3-4 ปีก่อน ท่าอากาศยานไทย ออกแบบอาคาร SAT-1 วางแผนเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่บินระหว่างประเทศ จึงต้องมีห้องพักรองรับนักท่องเที่ยวที่รอต่อเครื่อง แต่พอเปิดอาคารนี้กลับกลายเป็นเอาสายการบินโลว์คอสต์มาลงแทน ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวทรานซิทเลย ห้องพักที่สร้างมาก็ไม่มีลูกค้า เจ็บปวดที่สุด และผมก็ถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้พื้นที่มาตลอด จริงๆ เราฟ้องก็ได้แต่ไม่ใช่นิสัยของผม ทำธุรกิจด้วยกันมานาน อยากให้ทำอะไรผมก็ทำให้มาตลอด ล่าสุดได้ทำหนังสือไปถึงการท่าอากาศยานไทยเพื่อขอให้พิจารณาหยุดการเรียกเก็บเงินไว้ก่อน ส่วนมิราเคิล เลานจ์ ที่เปิดในอาคารนี้ มีคนใช้บริการวันละ 3-5 คน ผมก็ขาดทุนไป”
นายอัศวิน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของธุรกิจ มิราเคิล เลานจ์ มีทั้งหมด 18 แห่ง รองรับผู้โดยสารขาออกทั้งหมด กระจายอยู่ทั่วท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก ขาออกภายในประเทศ และขาออกระหว่างประเทศ 13 แห่ง ตั้งแต่ Concourse A, C, F, G และ D บนเนื้อที่รวมกว่า 3,000 ตารางเมตร ที่ออกแบบและบริการที่ได้ตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด ที่ทำให้ได้รับรางวัลเลานจ์ที่ดีที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก จาก Priority Pass ติดอันดับมา 4 ปี โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีที่สนามบินดอนเมืองอีก 5 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจศูนย์อาหารในกลุ่มแมจิก ฟู้ด ซึ่งคำว่า “แมจิก” แปลว่า “มหัศจรรย์” เหมือน “มิราเคิล” ประกอบด้วย ศูนย์อาหาร แมจิก ฟู้ด พอยท์ ศูนย์อาหารแมจิก การ์เด้นท์ แมจิก หวานเย็น แมจิก อร่อย ที่สนามบินดอนเมือง และศูนย์อาหารแมจิก ฟู้ด กรุ๊ป สนามบินสุวรรณภูมิ โดยหลักการจะให้บริการด้านอาหารของกลุ่มเป็นมาตรฐานโรงแรม แต่ราคาถูก
“อาหารในสนามบินผมขายจานละ 30-40-50 บาท ขอให้ไปดูว่าราคานี้จริงมั้ย บางทีเราก็จ่ายหน้ามืดเลย บางทีก็ขาดทุนซะชินเลย”
นายอิศวิน ได้ย้อนกลับมาพูดถึงโรงแรม 2 แห่งคือ โรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น และโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนกำแพงเพชร 6 ใกล้สี่แยกหลักสี่ ว่า ทั้งสองโรงแรมส่งต่อลูกค้าให้กันและกัน เวลาแห่งหนึ่งเต็มก็ส่งมาอีกแห่ง ไม่เหมือนตอนสร้างคนชอบบอกว่ามาสร้างใกล้กันทำไม หลักๆ โรงแรมทั้งสองแห่งนี้ใช้รองรับการจัดประชุม สัมมนา และจัดงานแต่งงานที่ลูกค้ายอมรับมากๆ
แต่ในขณะนี้ต้องยอมรับว่า ตลาดไม่เหมือนเดิม เมื่อก่อนมาจัดงานแต่งงาน เดือน พ.ย. 60-70 คู่ ปีนี้เดือน พ.ย.จองไว้ 15-20 คู่ ลูกค้าของเราเป็นลักษณะพูดกันปากต่อปาก บางคนมาทานอาหารกันแบบครอบครัว คนสูงอายุเราก็ไม่คิดเงิน มาทานวันแม่ บอกว่าเป็นแม่เราก็เชื่อ ไม่ขอดูบัตรประชาชน
“รวมๆธุรกิจในเครือหลังจากโควิด-19 กลับมามีกำไรในระดับ 10% กว่า เมื่อเทียบกับสมัยก่อนเคยมีกำไร 30% ก็ต้องยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจตอนนี้กำลังซื้อของคนไม่เหมือนเดิม คนที่อยากทำโรงแรม อย่าทำเลยแต่ผมเกิดมาเพื่อทำงานบริการ”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่