ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปี และรายได้ต่อคนต่อปีของประชากรไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ในระดับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ยิ่งห่างไกลกันไปเรื่อยๆ
สาเหตุเกิดจากอะไร และจะมีปัจจัยใดทำให้เศรษฐกิจไทยทะยานกว่านี้ คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน
#ThairathMoney สัมภาษณ์ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ผู้อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน การลงทุนไทยมาหลายทศวรรษ และให้ความคิดเห็นเพื่อกระทุ้งผู้กำหนดนโยบายในประเทศมาหลายครั้งหลายวาระ ถึงแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจไทย
บรรยง เล่าว่า ในปี 2503 ธนาคารโลกเริ่มเก็บประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา และในเวลานั้นนับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งในโลก
ในปี 2503 ประเทศไทยมีรายได้ต่อคนต่อปี 101 เหรียญสหรัฐ เมียนมา 180 เหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ 240 เหรียญสหรัฐ มาเลเซีย 300 เหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 400 เหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐ หรือ 20 เท่าของประเทศไทย
แล้วในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยก็พัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาเรื่อยๆ แซงหลายประเทศ เช่น แซงเมียนมาไม่เห็นฝุ่นจนถึงปัจจุบัน รายได้ต่อคนต่อปีของเมียนมาปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ของไทย กรณีเวียดนามเดิมสูงกว่าไทย 2 เท่า วันนี้ลงไปเหลือ 60% เพราะทั้งเมียนมาและเวียดนามเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนฟิลิปปินส์ สาเหตุรายได้ต่อคนต่อปียังน้อย เพราะที่ฟิลิปปินส์มี 7 ตระกูลเท่านั้นที่ครอบครองธุรกิจทุกอย่าง เป็น Marcos Croneyism หรือพวกพ้องมาร์กอส ซึ่งทำให้ประเทศเจริญช้า
ส่วนประเทศไทยปัจจุบันมีรายได้ต่อคนต่อปีที่ 7,500 เหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 60,000 เหรียญสหรัฐ มาเลเซีย 12,000 เหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยก็ยังอยู่ตรงนี้ ซึ่งสำหรับบรรยงแล้ว คำตอบสุดท้ายว่าทำไมรายได้ต่อคนต่อปีของคนไทยจึงติดตรงนี้มาหลายปี นั่นก็เพราะคำเดียวคือ “Productivity” หรือ “ผลิตภาพ” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการผลิตของไทย เพราะระบบเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อปัจจัยการผลิตที่ใช้ไปได้
“คำถามคือทำไม Productivities ของเราต่ำ ซึ่งมันก็มีปัญหาอุปสรรคหลายเรื่อง ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาแก้ปัญหา และไม่สามารถแก้เรื่องเดียวแล้วทำทุกอย่างได้ เป็นไปไม่ได้” บรรยง กล่าว
ข้อเสนอของบรรยง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย เขาระบุว่า อันดับแรกคือทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เริ่มด้วยการแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แย่มาก และทำให้ประชาชนไทยเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าประชาชนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยดีขึ้น
เรื่องที่ 2 คือต้องลดบทบาทรัฐ ซึ่งหมายถึง ขนาด บทบาท และอำนาจ ซึ่งถ้าคุณมองแต่งบประมาณของรัฐบาลไทย 24% ของรายได้ประชาชาติ หลายคนก็บอกว่ามันต่ำมาก มันไม่สูงมากถ้าเทียบกับอย่างประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปเหนือ กับงบประมาณเกือบ 50% เขาเก็บภาษีเกือบ 50% กับของรายได้ประชาชาติ
แต่ที่มันต่างกันคือของยุโรปเหนือ 80% ของงบประมาณ ใช้ในการทำรัฐสวัสดิการ เอาจากคนมีเอามาใส่ตรงกลางแล้วจ่ายกระจาย แต่ของประเทศไทยงบประมาณแค่ 20% แต่อีก 80% ของงบประมาณ เป็นงบดำเนินการ คือเป็นเงินเดือนข้าราชการ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ มันเลยเป็นคนละเรื่องกัน อีกตัวหนึ่งที่คนไม่ค่อยได้สังเกตก็คือตัวงบประมาณปีละ 3.5 ล้านล้านบาท แต่รัฐวิสาหกิจไทย 56 แห่ง มีงบใช้จ่ายและงบลงทุนรวมกันปีละ 6 ล้านล้าน อีก 2 เท่าของงบประมาณ และจากการศึกษาจากประสบการณ์ที่ผมเคยพยายามเข้าไปปฏิรูป พบว่าไม่มีรัฐวิสาหกิจไหนเลยที่มีประสิทธิภาพ ผลิตภาพได้มาตรฐานสากล และไม่มีรัฐวิสาหกิจไหนเลยที่ไม่มีการรั่วไหล
“ข้าราชการไทยมี 2.4 ล้านคน เทียบประชากร 70 ล้านคน ส่วนญี่ปุ่นมีข้าราชการ 5 แสนคน เทียบประชากร 150 ล้านคน แม้แต่องค์กรที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศไทย อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย มีคนทำงาน 3,500 คน แต่ที่สิงคโปร์ มีหน่วยงานที่ชื่อ MAS ที่ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง มีเจ้าหน้าที่ 400 คน”
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือทำให้คนของเรามีผลิตภาพ มี Productivity มีประสิทธิภาพ และทำให้เอกชนมีความสามารถแข่งขันต่างประเทศไทย นั่นคือหนทางทำให้ประเทศไทยขยับขยายสู่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney