“ศิรเดช โทณวณิก” GEN 3 ดุสิตธานี ความภูมิใจในตำนาน Hospitality Company

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

“ศิรเดช โทณวณิก” GEN 3 ดุสิตธานี ความภูมิใจในตำนาน Hospitality Company

Date Time: 6 ก.ค. 2567 12:57 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • สัมภาษณ์พิเศษ “ศิรเดช โทณวณิก” รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT หลานชายของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิต จำกัด ในวันที่เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้บริหารธุรกิจโรงแรมและการบริการ ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด ในวันที่ดุสิตธานีแผ่ขยายอาณาจักรด้วย 4 ธุรกิจหลัก และ 8 แบรนด์โรงแรม ในมือเจเนอเรชันที่ 3

Latest


ชื่อชั้นของ “โรงแรมดุสิตธานี” อยู่ในความทรงจำและความประทับใจของผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมานาน โดยเฉพาะ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ” ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2513 

หากแต่โรงแรมแห่งแรกที่ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้ก่อตั้งและอดีตประธาน บริษัท ดุสิต จำกัด ก่อตั้งแห่งแรกคือ “โรงแรมปริ๊นเซส” บนถนนเจริญกรุง เมื่อปี 2492 

#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ “ศิรเดช โทณวณิก” รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT หลานชายของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ในวันที่เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้บริหารธุรกิจโรงแรมและการบริการที่ได้รับการจับตามากที่สุดรายหนึ่ง

จากงานสายการเงิน สู่ ธุรกิจโรงแรมของครอบครัว

ศิรเดช เล่าว่า เขาเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของธุรกิจนี้ ที่เริ่มก่อตั้งยุคคุณย่า (ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย) ส่งต่อมาที่คุณพ่อ (ชนินทธ์ โทณวณิก) และรุ่นของเขา โดยยอมรับหลังจากเรียนจบด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองจากอังกฤษ ก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปที่ไม่ได้อยากกลับมาทำโรงแรม และต้องการมีประสบการณ์ทำงานด้านอื่นๆ จึงไปทำงานในธุรกิจภาคการเงินที่ต่างประเทศ 2-3 ปี แต่ก็ประจวบกับเป็นช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 จึงตัดสินใจกลับมาทำงานกับธุรกิจของครอบครัว ในช่วงเวลาที่คุณพ่อเป็น CEO ของดุสิต และได้เรียนรู้งานจากรุ่นพ่อ

“ตอนกลับมา ผมน่าจะอายุประมาณ 24-25 ปี และการทำงานในบริษัท ได้ทำในหลายๆ สายงาน เริ่มจากงานสายพัฒนาธุรกิจ ไปสายปฏิบัติการ ต่อด้วยรายได้ ฝ่ายขายและการตลาด และก็ดูแลธุรกิจขาที่เป็นการศึกษา จนได้ทำแบรนด์โรงแรมอาศัย (ASAI) กับทีม วนไปเรื่อยๆ แต่ที่ชอบคือสายงานพัฒนาธุรกิจที่ทำตอนนี้ ซึ่งก็เป็นสายงานที่เคยทำตั้งแต่เริ่มต้นมาทำงานในธุรกิจของครอบครัว”

ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT
ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT

4 ธุรกิจ 8 แบรนด์โรงแรม ในกลุ่มดุสิตธานี

สำหรับธุรกิจของ DUSIT ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง เมื่อได้ฟัง “ศิรเดช” เล่าและกางภูมิทัศน์ธุรกิจของ DUSIT ปัจจุบันแล้วยิ่งน่าสนใจ 

เขาบอกว่า ปัจจุบันภายใต้บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT มีการดำเนินการใน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรับจ้างบริหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอาหาร

  • ธุรกิจโรงแรมและรับจ้างบริหารโรงแรม เป็นธุรกิจหลักที่ดำเนินการ โดยปัจจุบันบริษัทบริหารงานในโรงแรม 60 แห่ง รวมกับลักชัวรี่วิลล่าอีก 300 กว่าแห่งทั่วโลก
  • ธุรกิจการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยดุสิตธานี ที่สอนเรื่องการจัดการโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอ เบลอ ดุสิต และ The Food School Bangkok ที่สามย่าน
  • ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการมิกซ์ยูส อย่าง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และอนาคตก็ต้องการทำมิกซ์ยูสเพิ่มขึ้น ที่เป็นส่วนผสมระหว่างโรงแรมกับที่พักอาศัย
  • ธุรกิจอาหาร คือ ดุสิต ฟู้ดส์ ซึ่งมี 4-5 แบรนด์ภายใต้ธุรกิจนี้ เช่น Epicure Catering เป็นบริษัทจัดการด้านจัดเลี้ยง จัดหาอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งมีสาขาที่ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง รวมถึงแบรนด์ร้านเบเกอรี่ “บองชู” (BONJOUR) ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 100 สาขา 


“ทั้ง 4 ธุรกิจ สะท้อนการเป็น luxury hospitality company จริงๆ มันอยู่ภายใต้ธุรกิจโรงแรมและการบริการจริงๆ ซึ่งถ้าดูบริษัทโรงแรมขนาดใหญ่ต่างประเทศ เขาเป็นธุรกิจโรงแรมที่เป็น house of brand แต่ละบริษัทก็จะมีแบรนด์ที่อยู่ภายใต้จำนวนมาก 30-50 แบรนด์ เป็นต้น เป็นโมเดลธุรกิจของเขา ซึ่งดีเพราะเขามี economy of scale แต่คุณค่าและมูลค่าธุรกิจของดุสิตธานีคือ hospitality คือการดูแลการเอาใจใส่ เป็นดีเอ็นเอแบบไทยจริงๆ และเป็นจิตวิญญาณของธุรกิจเราอยู่”

อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจโรงแรมและการรับจ้างบริหารโรงแรม ปัจจุบัน ดุสิตธานี มีอยู่ 8 แบรนด์ ได้แก่ DEVANARA, DUSIT THANI, DUSIT SUITE, dusitD2, DUSITPRINCESS, ASAI, DUSIT COLLECTION และ ELITE HAVENS  

“ความจริงเรามีแบรนด์โรงแรมอยู่เยอะนะ แต่คนทั่วไปจะคิดว่าเราก็มีเพียง ดุสิตธานี ดุสิตปริ้นเซส ดุสิตดีทู เป็น 3 แบรนด์ที่คนรู้จักกัน แต่ความจริงเรามี ดุสิตสวีต มีอาศัย มีเดวาราณา ดุสิตคอลเลคชั่น และแบรนด์ที่ 8 คือ อีลีต ฮาเวนส์ เป็นลักชัวรี่วิลล่า และเราเป็นแพลตฟอร์มลักชัวรี่วิลล่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีอยู่ประมาณ 300 วิลล่า ตั้งแต่ฮอกไกโด นิเซะโกะ บาหลี ลอมบอก มัลดีฟส์ ส่วนที่ประเทศไทยมีภูเก็ต สมุย เป็นต้น” ศิรเดช กล่าว

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เริ่มเปิดเฟสแรกปลายปีนี้ 

สำหรับโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 46,000 ล้านบาท “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่ร่วมทุนกับ “เซ็นทรัล พัฒนา” ซึ่งก่อสร้างปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2562 และในปี 2567 นี้ ในช่วงปลายเดือนกันยายนจะเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในรูปโฉมใหม่ ภายใต้โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” 

“โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เปิดให้บริการเฟสแรกปลายปีนี้ ส่วนศูนย์การค้ากับสำนักงานให้เช่าเปิดปี 2568 และอันสุดท้ายคือที่พักอาศัยที่มี 2 แบรนด์ ได้แก่ Dusit Residence และ Dusit Parkside เป็นลำดับถัดไป”

ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT
ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT

นอกจากนี้ การรักษาเอกลักษณ์และบุคลิกของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทายาทรุ่นที่ 3 ของดุสิตธานี บอกว่า ระหว่างการก่อสร้าง ทีมงานได้เก็บภาพและจัดทำเป็นภาพยนตร์สารคดีไว้ รวมถึงได้ทำงานร่วมกับหลายองค์กร เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร เก็บรักษาวัตถุโบราณ หรือรูปภาพ การดีไซน์ต่างๆ ที่นำจากเอกลักษณ์ของโรงแรมเดิมมาไว้ในตึกใหม่ เพราะอาคารเดิมในยุคหนึ่งเป็นตึกโมเดิร์นแรกของประเทศไทย และสูงที่สุดในเวลานั้น ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้น่าจะได้เผยแพร่ภาพยนตร์สารคดี (documentary) ที่ทำไว้ให้ทุกคนได้ดู

พร้อมกับย้ำว่า แม้ตัวอาคารจะเปลี่ยนรูปโฉมไป แต่สิ่งที่ดุสิตธานียังเก็บรักษาไว้ คือการบริการแบบไทย ที่ในกลุ่มดุสิตธานีเรียกว่า “Gracious Hospitality” ซึ่งเป็นทั้งลายเซ็นและดีเอ็นเอของดุสิตธานี

ทั้งหมดนี้คือ ดุสิตธานี ใน New Chapter หลังโควิด-19 หอบความท้าทายมากมายให้กับอุตสาหกรรมโรงแรมและการบริการ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมา DUSIT ได้ระบุในรายงานด้วยความหวังว่า แนวโน้มธุรกิจปี 2567 จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มปลดล็อกมูลค่าการลงทุนจากการเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในปลายไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นเฟสแรกของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

อีกทั้งยังมีมุมมองบวกจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคาดว่า รายได้จากธุรกิจโรงแรมของปี 2567 จะเติบโต 18-20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

ส่วนธุรกิจอาหารยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 30-35% จากการขยายสาขา การเพิ่มสินค้าใหม่ และการขยายฐานลูกค้า รวมถึงการเริ่มรับรู้รายได้ใหม่จากธุรกิจครัวกลาง และจัดส่งอาหารในระบบคลาวด์ 

ธุรกิจการศึกษา ยังคงมีความท้าทายในหลักสูตรประกาศนียบัตร อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่า EBITDA ของธุรกิจการศึกษาจะกลับมาเป็นบวกในครึ่งปีแรกของปี 2567 และคาดว่ารายได้รวมจากธุรกิจปัจจุบันในปี 2567 จะเติบโตประมาณ 18-20% โดยมีอัตรา EBITDA ประมาณ 14-15% ของรายได้รวม 

และนี่คือการเติบโตของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บริษัทที่เริ่มต้นจากโรงแรม และการขยายสู่ Hospitality Company ที่เป็นตำนาน.

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money