RAVIPA จิวเวลรี่ ที่เติบโตจาก passion ผ่าน 10 ขวบแรก ด้วยยอดขายกว่า 210 ล้าน

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

RAVIPA จิวเวลรี่ ที่เติบโตจาก passion ผ่าน 10 ขวบแรก ด้วยยอดขายกว่า 210 ล้าน

Date Time: 16 มิ.ย. 2567 13:04 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • เส้นทางการเติบโตของแบรนด์เครื่องประดับ RAVIPA จากวันที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุน 10,000 บาท ที่ 2 สาวพี่น้อง “ระวิภา และ ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” ร่วมก่อตั้งและเปิดบริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ถึงวันนี้เติบโตอย่างไร และอะไรทำให้มีรายได้ล่าสุด ทะยานสู่ระดับ 200 ล้านบาท จากธุรกิจที่เป็น passion สู่ function ในปัจจุบัน

Latest


เส้นทางธุรกิจของคนวัย 30 ต้นๆ ที่เริ่มต้นจาก passion เริ่มจากความรู้สึกว่า แบรนด์ไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก และมีความมุ่งหวังให้เครื่องประดับใส่ได้ทุกวัน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเทอะทะ เล่นใหญ่ เน้นเรียบง่าย แต่มีความหมายและให้พลังใจผู้สวมใส่

นั่นคือที่มาของเครื่องประดับแบรนด์ “RAVIPA” ที่ก่อตั้งโดย 2 สาวพี่น้อง “ระวิภา และ ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” ที่มีความถนัดคนละแบบ แล้วนำมาสอดรับสร้างธุรกิจร่วมกัน

#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ ธนิสา วีระศักดิ์ศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ RAVIPA กับเส้นทางกว่า 10 ปี ของ RAVIPA สู่ความฝันใหญ่สร้างแบรนด์จิวเวลรี่ไทยบนเวทีโลก

หลายคนที่ติดตามเส้นทางของแบรนด์ RAVIPA ผ่านสื่อต่างๆ น่าจะพอทราบแล้วว่า เธอและพี่สาวเริ่มต้นธุรกิจจากการทำเครื่องประดับ pre-order ธนิสาดูแลด้านธุรกิจ ระวิภาดูแลด้านการออกแบบ และผ่านการเข้าประกวดในรายการ VOGUE Who’s On Next, The VOGUE Fashion Fund และได้เข้ารอบ Top 10 Finalist รุ่นเดียวกับ แบรนด์เสื้อผ้า POEM รวมถึงแบรนด์ Ek Thongprasert เป็นต้น

กระทั่งเดือนมีนาคม 2556 จึงได้จดจัดตั้งบริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และเมื่อครบรอบ 10 ปีของบริษัทเมื่อปี 2566 จึงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2 ล้านบาท

หลักสูตรที่ดีที่สุดคือล้มเองเจ็บเอง Learning by Doing

แม้จะจบด้าน International Business หรือ BBA (The Bachelor of Business Administration) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เธอบอกว่า เป็นความรู้ที่ดีที่สุดจากประสบการณ์ทำ RAVIPA มากว่า 10 ปี คือ การล้มเองเจ็บเอง

“หลักสูตรที่ดีที่สุด คือล้มเองเจ็บเอง คือ Learning by doing และทุกวันนี้ยังเชื่อสิ่งนี้มีคนถามเยอะมาก ว่าไปเรียนที่ไหนถึงแบบรู้อะไรแบบเนี่ย แต่บอกเลยว่าเจ็บเองมาเยอะ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทุกอย่าง มีต้นทุนการเสียโอกาสจากการที่เราไม่รู้มาก่อน ข้อผิดพลาดเหล่านั้น มันทำให้เราโตขึ้น มีภูมิมากขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรในห้องเรียนที่จะสอนจริงๆ” ธนิสา กล่าว

จากวันที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุน 10,000 บาท ทำกับพี่สาว 2 คน สู่วันที่บริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ส่งรายงานงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อดำเนินธุรกิจครบ 10 ปี พบว่า ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 211 ล้านบาท กำไรสุทธิ 36 ล้านบาท ส่วนปี 2565 มีรายได้รวม 175 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 150 คน และธนิสา บอกว่า เมื่อปี 2566 ยังมีพนักงานเพียง 60 คน แต่ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว เพื่อรองรับกับธุรกิจที่เติบโตขึ้น

“ตอนนี้เรามีพนักงานน่าจะ 150 กว่าคน จากเริ่มวันแรกคือ 2 คน เรากับพี่สาว ถือว่าโตกว่าที่เราตั้งใจไว้มากๆ โดยเฉพาะปีหลังๆ อย่างปีที่แล้ว ยังมี 60 คนอยู่เลย ตอนนี้ดับเบิลแล้ว”

จากทำ pre-order สู่ปัจจุบันมี 35 สาขาในประเทศไทย และจะเพิ่มเป็น 40 สาขาภายในสิ้นปี 2567 นี้ ปัจจุบัน RAVIPA ยังมีจุดจำหน่ายในต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง นิวยอร์ก และเกาหลีใต้ที่ร่วมกับห้างฮุนได

ธนิสา วีระศักดิ์ศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ RAVIPA
ธนิสา วีระศักดิ์ศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ระวิภา จิวเวลรี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ RAVIPA

โควิด ทำให้ฟุบและลุกกลับมาได้

หลังผ่านวิกฤติโควิด จนเกือบจะต้องปิดกิจการ แต่ด้วยการสั่งทำเครื่องประดับคอลเลกชันพิเศษจากลูกค้ารายหนึ่ง ทำให้คอลเลกชันนั้นถูกส่งต่อและเป็นกำลังใจกับผู้คนที่ได้รับ เป็นเครื่องประดับเสริมสร้างกำลังใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของหลายๆ คน และทำให้ RAVIPA ได้ยืนหยัดในเส้นทางธุรกิจต่อมา

“ตอนโควิดเรากำลังจะเลิก เพราะว่าตอนนั้นมีเงินจ่ายพนักงานอีกแค่ 2 เดือน เราประสบปัญหาสภาพคล่อง ตอนนั้นมี 9-10 สาขาและห้าง Shut down หมดเลย เราไม่อยากตัดเงินเดือน หรือ จ่ายครึ่ง หรือ จ่ายดีเลย์พนักงาน ตอนนั้นทำให้เข้าใจเลยว่าที่เขาพูดกันว่า ทุบหม้อข้าว คืออะไร มันมีแรงฮึดที่สุดยอดจริงๆ

“ตอนนั้นตัดสินใจว่าเงิน 2 เดือนนั้น จะเอาไปทำอะไร เรามีไพ่หลายใบ คือ จะล้มเลิก หรือ จะอยู่แบบเฉื่อยๆ แล้วหวังว่า จะเลิกล็อกดาวน์ แต่ที่สุด ก็มีลูกค้าคนหนึ่งซื้อสร้อยข้อมือเราไป แต่คอลเลกชันนั้นเราทำสั้นๆ พอชนะ Design Award ก็ไม่ได้ทำต่อ แล้วลูกค้ารายนั้นขอให้ทำให้เพื่อไปมอบให้เพื่อนของเขา การฟังเสียงลูกค้าครั้งนั้น คือการพลิกชีวิต มีคนมาซื้อ RAVIPA ให้กับตัวเอง ให้กับคนที่เขารักมากๆ ในช่วงโควิดที่คนต้องการที่ยึดเหนี่ยว มันเป็น Timing มากๆ เลย และจะพูดขอบคุณลูกค้าท่านนั้นทุกครั้ง หวังว่าเขาจะได้รับรู้จากสักรายการหนึ่ง” ธนิสา กล่าว

เป้าหมายต่อไปสร้างแบรนด์จิวเวลรี่ไทยบนเวทีโลก

เส้นทางเดินของ RAVIPA ยังมีเรื่องให้ตื่นเต้นอีกมาก จากปัจจุบันมีช่องทางจำหน่าย ทั้งอีคอมเมิร์ซ, โซเชียล คอมเมิร์ซ และสาขา จากจุดเริ่มต้นทำแหวนคู่ สู่โปรดักต์เครื่องประดับที่ใส่ได้ทุกวัน เป็น everyday look และทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกฮีลใจ fullfeel กับตัวเอง ให้พลังบวกกับตัวเองได้ ในทุกๆ วัน

ถึงวันนี้ RAVIPA ได้ร่วมทำงานออกแบบเครื่องประดับกับแบรนด์ระดับโลก เช่น ดิสนีย์ และมีร้านจัดจำหน่ายในเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ในอีกแง่หนึ่ง ธนิสา บอกว่า RAVIPA ยังมีคอลเลกชันเฉพาะที่ประเทศไทย เป็น Exclusive Product ด้วยความมุ่งหวังที่สอดคล้องไปกับภาพใหญ่คือ ให้ประเทศไทยเป็น Tourist Destination

“เราก็เป็นเหยื่อการตลาดคนหนึ่ง คือเวลาเราไปต่างประเทศ เรายังต้องไปช็อปแบรนด์ของเขา ซื้อของออริจินัลเขา แล้วเราก็อยากให้เวลาคนมาเที่ยวประเทศไทย ก็อยากให้เขามาซื้อของที่เรา เป็นของสินค้าที่มีเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งมันฟลูฟีลเรามาก”

กับอีกหนึ่งความตั้งใจของธนิสา คือ การสร้างแบรนด์ไทยบนเวทีโลก เธอบอกว่า มาถึงจุดนี้ ไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ทุกครั้งที่มีคนถามว่า ยอดขายเท่าไร เธอบอกตรงๆ ว่า เธอก็ยังไม่รู้ แต่สิ่งที่สร้างความสุขให้กับเธอคือ การได้มาทำงานทุกวัน ได้เห็นแบรนด์ RAVIPA เติบโต แบรนด์นี้คือลูกคนหนึ่ง รักเหมือนลูก และคาดหวังให้แบรนด์ RAVIPA เติบโตในเวทีโลกมากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่ ที่อาจไม่ใช่เพียงดิสนีย์

“แบรนด์ไทย ก็ไม่แพ้ชาติไหนในโลก เรามีศักยภาพที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ก็อยากเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกๆ กลุ่มแรกๆ ที่จะไประดับเวทีโลกให้ได้” ธนิสา กล่าว

ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์การออกคอลเลกชันใหม่ๆ เธอให้ความเห็นว่า ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มันมี Life Cycle มีวัฎจักรชีวิต แต่คีย์อันหนึ่งคือ เธอจะไม่ทำให้ life cycle ของแบรนด์หล่นไปตาม Life Cycle ของโปรดักต์ เพราะทุกโปรดักต์มีขึ้นมีลง ดังนั้น RAVIPA จะไม่รอวันที่มันลง แต่จะต้องคิดถึงโปรดักต์ใหม่มาชดเชยด้วย

“มันจึงเป็นเหตุผลที่ RAVIPA ให้ความสำคัญกับเรื่องดีไซน์มากๆ เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า เดี๋ยวจะมีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นตลอด ก็เมื่อไหร่ที่จะทำให้ลูกค้าใจเต้นได้ สาก็คิดว่าแบรนด์ก็จะไม่ตาย” ธนิสา กล่าว

พร้อมกับเผยเคล็ดลับธุรกิจว่า ผลิตภัณฑ์ของ RAVIPA แต่ละคอลเลกชัน ทีมงานออกแบบจะใช้เวลากว่า 6 เดือน กว่าจะพัฒนาในแง่คอนเซปต์การออกแบบ เพราะเครื่องประดับที่ทำแต่ละชิ้นมีความหมายตั้งแต่ขั้นตอนระดมความคิด วาดคอนเซปต์ และไม่ใช่แค่สวยแต่ต้องมีความหมาย ผลิตออกมาแล้ว ต้องลองใส่ลองใช้ ว่า ใช้ได้จริง ใช้งานได้ทุกๆ วัน

และนี่คือเรื่องราวของ RAVIPA แบรนด์เครื่องประดับของชาวไทยที่พร้อมจะไปเติบโตบนเวทีโลก

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money