“เจ้าสัว” ขนมขบเคี้ยว ของฝากภูธร ว่าที่หุ้นตัวใหม่ “ณภัทร โมรินทร์” ทายาทรุ่นที่ 3 นำทัพ

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

“เจ้าสัว” ขนมขบเคี้ยว ของฝากภูธร ว่าที่หุ้นตัวใหม่ “ณภัทร โมรินทร์” ทายาทรุ่นที่ 3 นำทัพ

Date Time: 28 พ.ค. 2567 18:46 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ทำความรู้จัก “เจ้าสัว” ขนมขบเคี้ยว ของฝากภูธร สู่ว่าที่หุ้นตัวใหม่ ภายใต้การนำทัพของ “ณภัทร โมรินทร์” ทายาทรุ่นที่ 3 ที่มองว่าอยากขายดี ต้องแตกต่าง และเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง

กรุบ กรุบ กรอบ กรอบ เสียงเคี้ยวขนมข้าวตัง หมูแท่ง ในห่อหลากสีสัน คงจะเป็นแบรนด์ไหนไปไม่ได้ นอกซะจาก “เจ้าสัว” ขนมขบเคี้ยวสัญชาติไทย ที่ขึ้นชื่อเรื่องสูตรลับความอร่อย จนติดปากคนไทยมานานกว่า 66 ปี ที่คราวนี้จะไม่ใช่แค่ขาย “ขนม” แต่จะขาย “IPO” ด้วย 

สำหรับแบรนด์เจ้าสัว นับว่าเป็นสินค้าที่รู้จักกันดีของคนไทย ในฐานะของฝากชื่อดังในปั๊มน้ำมัน ที่ในอดีตเราจะรู้จักกันดีในชื่อของ “เตีย หงี่ เฮียง” ผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ริเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2501 ด้วยแนวความคิดที่ว่า “จะต้องมีประโยชน์ และอยู่ดีกินดี”

ไม่ใช่แค่ขาย “ข้าวตัง” แต่จะขาย IPO

จนกระทั่งธุรกิจครอบครัวได้ส่งไม้ต่อสู่ทายาทรุ่นที่ 2 ทำให้ภาพสินค้าของฝากแบบดั้งเดิม ได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารสู่รูปแบบต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งยังได้มีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น “เจ้าสัว” ในฐานะขนมขบเคี้ยวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวตังหน้าหมูหยอง หมูแท่ง โดยเป็นการหยิบยกสิ่งที่มีอยู่เดิมมาแปลงโฉมใหม่ ให้ทานง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

และต่อมาก็ถึงคราวของทายาทรุ่นที่ 3 ภายใต้การบริหารงานของ “ณภัทร โมรินทร์” กับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทรานส์ฟอร์มแบรนด์ จากเดิมที่รู้จักกันในฐานะ “สินค้าของฝาก” กลายเป็นขนมที่สามารถทานได้ทุกวัน ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และที่ได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ (มีการส่งออกไปกว่า 12 ประเทศ ทั้งส่งออกโดยตรงยังห้างค้าปลีก และอีกส่วนคือผ่านตัวแทนจำหน่าย)

พร้อมทั้งมีการเดินหน้าลงทุนระบบคุณภาพ ทั้งการบริหารจัดการผลิต การมีทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ชูโรงด้วยของทานเล่นที่ฮิตที่สุดอย่าง ‘ข้าวตังหน้าหมูหยอง’ รวมทั้งการก้าวไปอีกขั้น กับการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมพร้อมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 

คนไทยยังยอมจ่าย กับสินค้าเพื่อสุขภาพ

ในครั้งนี้ #ThairathMoney จะพาไปรู้จักกับ “เจ้าสัว” ให้มากขึ้น ผ่านการสัมภาษณ์ Exclusive กับ “ณภัทร โมรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO 

เริ่มแรก ณภัทร ได้เล่าถึงตลาดที่ “เจ้าสัว” อยู่ในปัจจุบันว่า จากข้อมูล Research ของ Frost & Sullivan ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท โดยภาพรวมแล้วพบว่าตลาดขนมขบเคี้ยวของไทยจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.6% ทุกปี ส่วนตลาดที่แบรนด์อยู่คือ ตลาดข้าวตัง และหมูแท่ง จะมีการเติบโตเฉลี่ย 23% ทุกปี

ขณะที่เจ้าสัวอยู่ในกลุ่มขนมขบเคี้ยวแปรรูปประเภทข้าว มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าสัวมีสัดส่วนทางการตลาดประมาณ 78.5% ถือเป็นอันดับ 1 ส่วนอีกกลุ่มคือขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อสัตว์ มีมูลค่าตลาดประมาณ 500 ล้านบาท มีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ที่ 57% ก็ถือเป็นอันดับ 1 เช่นกัน 

โดยจุดเด่นหลักๆ ที่ทำให้เจ้าสัวติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้นั้น คือ การเป็นผู้นำด้าน Modern thai snack ที่รสชาติอร่อย มีประโยชน์ และอีกสิ่งคือ มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ ซึ่งสินค้าในพอร์ตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาหารพร้อมทาน พร้อมปรุง อาทิ กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ที่มีสัดส่วนการจำหน่ายประมาณ 17.3% และอีกกลุ่มคือขนมขบเคี้ยว ที่มีสัดส่วนการขายอยูที่ 82.7% อาทิ ข้าวตังหน้าต่างๆ ขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมูอย่าง หมูแท่ง หมูแผ่น 

จาก Local brand สู่แบรนด์ขนมที่ทุกคนรู้จัก 

เนื่องจากสินค้าผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพและมีประโยชน์ คือ ทำจากเนื้อสัตว์ หรือข้าว ความท้าทายในมุมของ ณภัทร จึงเป็นในเรื่องของต้นทุนที่สูง แต่แบรนด์ก็สามารถนำเสนอในราคาที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่าย เพราะคุ้มค่า ราคาเข้าถึงได้ด้วยขนาดหลายไซส์ ที่เริ่มต้นเพียง 20 บาท 

“เพราะการแข่งขันในเรื่องของราคาของกลุ่มสแน็กค่อนข้างสูง เราจึงต้องมีการบริหารจัดการกระบวนการผลิต ให้สามารถผลิตได้ภายใต้คุณภาพมาตรฐานระดับสากล และยังต้องขยายช่องทางจำหน่ายไปยังช่องทางต่างๆ ให้ได้กว้างขึ้น นั่นจึงเป็นสิ่งที่มองว่ายาก แต่ก็ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้”

ซึ่งสิ่งสำคัญในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ที่มองว่าการจะสำเร็จได้นั้น หัวใจหลักคือ เรื่องของทีมงาน ที่จะต้องทำให้ทุกคนมี Growth mind set ที่ดี พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ทันตลอดเวลา พร้อมที่จะเรียนรู้และคิดนอกกรอบ อีกทั้งกลยุทธ์สำคัญ คือ การนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย ให้ทันกับยุคสมัย อย่างเช่น การทำสินค้ารสชาติใหม่ อาทิ หมูแท่งสอดไส้อัลมอนด์ คั่วพริกกรอบ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาด 

ทำให้ปัจจุบันเจ้าสัวมี 4 ช่องทางการจำหน่าย คือ โมเดิร์นเทรด เทรดดิชันนอลเทรด ส่งออกต่างประเทศและออนไลน์ โดยที่โอกาสและการเติบโตในช่องทางการส่งออกต่างประเทศค่อนข้างสูง จากเดิมสัดส่วน 27% ในปี 65 สู่การเติบโต 38% ในปี 66  

และจากการเข้าไปทำตลาด ทำให้ ณภัทร รู้ว่าจะต้องเตรียมพร้อมด้านกำลังการผลิตที่จะขยายโรงงานแห่งที่สองของบริษัทในเครือ บริษัท โฮลซัม ทรี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เป็นกลุ่มสินค้าประเภท Non-Pork โดยที่มองเห็นศักยภาพของกลุ่มสินค้าฮาลาล นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้

เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน เราต้องปรับ เจาะออนไลน์มากขึ้น

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภค แม้จะไม่ได้เติบโตเยอะมาก แต่ตลาดขนมขบเคี้ยวก็ยังคงเป็นที่ต้องการ เพราะผู้บริโภคที่สนใจสินค้าที่มีประโยชน์ หรือเป็นทางเลือก ยังคงมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ โดยอายุอยู่ระหว่าง 18-45 ปี ส่วนในต่างประเทศแม้ไม่ได้เติบโตสูง แต่ก็ไม่ได้หดตัว ทำให้สินค้าขายดี Top 3 ขายดี คือ กลุ่มข้าวตัง หมูแท่ง แครกเกอร์ธัญพืช ที่ส่งออกค่อนข้างเยอะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นอเมริกา 

และช่องทางการจำหน่ายที่ขายดีสุด คือ โมเดิร์นเทรด 37% เทรดดิชันนอลเทรด 30% และส่งออก 27% ที่เหลือเป็นออนไลน์ 6% ที่เพิ่งเริ่มได้เพียง 1 ปีเท่านั้น

“เพราะด้วยเทรนด์ช็อปปิ้งของผู้บริโภคเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น และยิ่งช่วงโควิด ออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น เราจึงได้รุกช่องทางใหม่ๆ อีกทั้งมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซบูมอย่างมาก เราจึงเข้าไปอยู่ในทุกๆ ที่”

นำเงินทุนไปขยายกำลังการผลิต และก่อสร้างโรงงาน

และหลังจากที่ CHAO ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ 

ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบอัตโนมัติ และการปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ ขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ และใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน

รวมทั้งในปีนี้บริษัทฯ ได้ตั้งงบการตลาดไว้ที่ 70 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ทั้ง OOH, Online และทีวี KOL ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น 

ขณะที่รายได้จากการขายของเจ้าสัว ย้อนหลังไป 3 ปี (2564-2566) จะอยู่ที่ 1,135.1 ล้านบาท 1,413.6 ล้านบาท และ 1,493.4 ล้านบาท ตามลำดับ ด้านกำไรสุทธิในปี 2564-2566 อยู่ที่ 64.4 ล้านบาท 86.6 ล้านบาท และ 161.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้จากการขายเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 14.7%

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney