ชวน “สฤณี อาชวานันทกุล” กะเทาะ “ธนาคารไทย” เส้นทางสู่ Net Zero ยังมีอีกหลายด่าน

Business & Marketing

Executive Interviews

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)

Tag

ชวน “สฤณี อาชวานันทกุล” กะเทาะ “ธนาคารไทย” เส้นทางสู่ Net Zero ยังมีอีกหลายด่าน

Date Time: 26 พ.ค. 2567 14:29 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • “ความยั่งยืน” ได้กลายเป็นแนวคิดหลักขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญในการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่ ESG Thairath Money ชวนพูดคุยกับ “สฤณี อาชวานันทกุล” หัวหน้าทีมวิจัย Fair Finance Thailand ถึงประเด็นสถานการณ์ความยั่งยืนในประเทศไทย และความท้าทายของภาคธนาคารในการขับเคลื่อนธุรกิจไทยตามกรอบ ESG

Latest


จาก “โลกร้อน” สู่ “โลกรวน” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วได้ผลักดันให้ทั่วโลกร่วมกันหาแนวทางอยู่รอด ก่อนที่อุณภูมิโลกจะทะลุ 2 องศาฯ จนสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจกู่ไม่กลับ 


“ความยั่งยืน” ได้กลายเป็นแนวคิดหลักขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการเงิน ที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อต่อแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนการสนับสนุนทางการเงิน ช่วยผลักดันลูกค้าทั้งรายใหญ่ และ SME เปลี่ยนผ่านธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี 


อย่างไรก็ตาม Climate Change คงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ผลักดันให้ธนาคารไทยต้องสนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินงานด้วยความยั่งยืนมากขึ้น เทรนด์การลงทุนที่เปลี่ยนไป โอกาสทางธุรกิจ การกำกับดูแลของภาครัฐ ล้วนเป็นความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่ ESG

Thairath Money ชวนพูดคุยกับ “สฤณี อาชวานันทกุล” หัวหน้าทีมวิจัย Fair Finance Thailand องค์กรอิสระที่วิจัยและติดตามผลกระทบความท้าทายของธุรกิจธนาคาร มุ่งผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Banking ถึงประเด็นสถานการณ์ความยั่งยืนในประเทศไทย และความท้าทายของภาคธนาคารในการขับเคลื่อนธุรกิจไทยตามกรอบ ESG


แต่ก่อนจะไปเจาะลึกเบื้องหลังโอกาสและความท้าทายของภาคธนาคาร เราต้องทำความรู้จักกับหัวใจของการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Banking ว่ามีบทบาทอย่างไร 


บทบาท 3 ระดับ สู่ “การธนาคารที่ยั่งยืน”


สฤณี อธิบายว่า หัวใจของการเป็นธนาคารที่ยั่งยืน คือ ต้องให้การสนับสนุนทางการเงินที่ตอบโจทย์ทิศทางความยั่งยืนที่สังคมคาดหวัง โดยในภาวะโลกรวนที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็นทิศทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากภาคธนาคาร จากการความพยายามที่จะลดการสนับสนุนทางการเงินกับภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาสนับสนุนภาคพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้บทบาทของธนาคารมี 3 ระดับ


1.ระดับพื้นฐาน ธนาคารต้องจัดสรรเงินทุนพอร์ตสินเชื่อในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม หรือสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยลดการสนับสนุนกิจกรรมที่ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนผ่านไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมที่ยั่งยืน


2.ธนาคารต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในองค์กรของธนาคารเอง และปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความยั่งยืน 


3.การยกระดับความรู้ทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) และเพิ่มการเข้าถึงด้านการเงิน ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลาของไทย ธนาคารในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหนี้มีความรู้บริหารจัดการหนี้ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกหนี้จัดสรรเงินของตัวเองได้ 

“โลกรวน” กดดันความสามารถการแข่งขัน โอกาสทางธุรกิจใหม่ของภาคธนาคาร


สฤณี อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันภาคธนาคารไทยจะมุ่งสู่ความยั่งยืนตามกรอบ sustainable banking เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งที่จริงแล้วธนาคารไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรเลยก็ได้ แต่ปัจจัยที่ผลักดันให้ธนาคารสนใจประเด็น ESG คือ ปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนหันมาลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ธุรกิจสีเขียว หรือคาร์บอนฟุตปริ้นท์ กลายมาเป็นตัวกำหนดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะในประเทศที่มีกฎหมายเข้มข้นด้านสิ่งแวดล้อม 


ทำให้ปัจจุบันการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ไม่ได้พิจารณาแค่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ทางภาษีของประเทศนั้นๆ แต่ยังดูประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้วย เช่น สัดส่วนการผลิตหรือใช้พลังงานสะอาดของภาคธุรกิจ รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ 


จากการศึกษาของ Fair Finance Thailand แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม พบว่า ธนาคารใหญ่ทุกแห่งในประเทศไทยประกาศรับหลักการชี้แนะขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารต้องพิจารณาเรื่องความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อ


“วันนี้ ต้องยอมรับว่าธนาคารขนาดใหญ่มีความทะเยอทะยาน ที่ไม่ได้เป็นผู้นำความยั่งยืนแค่ในประเทศอย่างเดียว แต่อยากจะมีบทบาทระดับภูมิภาค ทำให้เวลาตามลูกค้าไปต่างประเทศ ก็จะต้องนำหลักเกณฑ์สากลมากลั่นกรองโครงการที่สนับสนุนทางการเงิน”


จะเห็นได้ว่าท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน ก็นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จึงเป็นที่มาว่าทำไมธนาคารหลายแห่งถึงพยายามผลักดันให้ลูกค้าของตัวเองเห็นความสำคัญด้าน ESG มากขึ้น


“ธนาคารไม่ได้มองว่าตัวเองมีหน้าที่แค่ปล่อยสินเชื่อสีเขียวอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้คำแนะนำกับลูกค้า ในการเปลี่ยนผ่านกิจกรรมสีน้ำตาล ไปสู่กิจกรรมเขียวมากขึ้น”

เป้าหมาย Net Zero ของแต่ละธนาคาร จะไม่สำเร็จ หากรัฐไม่ปฏิรูปภาคพลังงาน


แม้ภาคธนาคารไทย โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่จะพยายามผลักดันให้ลูกค้าของตัวเอง ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และ SME เปลี่ยนผ่านไปสู่ ESG แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ Net Zero โดยไม่ปฏิรูปภาคพลังงาน ซึ่งภาครัฐต้องมีแผนอย่างชัดเจนในการปรับลดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างจริงจัง แล้วเพิ่มพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากภาคพลังงานสร้างก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนมากถึง 60%-70% ของประเทศ


ด้านผู้ประกอบการไทยเองปัจจุบันก็เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา Climate Change ที่ส่งผลให้ภาระต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนหลายตัวสามารถแข่งขันได้ และมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว รวมถึงประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน ที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน 


“ต่อให้รัฐบาลยังไม่กระตือรือร้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากดดัน หลักๆ เลยคือเรื่องความสามารถการแข่งขัน และต้นทุนผู้ประกอบการ ก็จะผลักดันให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีด้านพลังงาน และขยับเป้าหมาย Net Zero ให้ใกล้เคียงกับชาวโลก”


ในด้านการกำกับดูแล แม้รัฐบาลจะมีความพยายามกระตุ้นให้ธุรกิจเห็นความสำคัญของประเด็น ESG แต่เรายังติดหล่มกับกลไกที่เน้นการเปิดเผยข้อมูล มากกว่ากลไกภาคบังคับ จะเห็นได้จากการปรับปรุงเกณฑ์การรายงานข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้กำกับดูแล กำหนดให้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปบริษัทจดทะเบียนจะต้องส่งรายงาน 56-1 เป็นรายปี รวมอยู่ในการส่งรายงานประจำปี เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในกระบวนการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักลงทุนคาดหวังจากบริษัทที่ลงทุนมากขึ้น

 

แต่เมื่อมาเจาะลึกลงในรายละเอียดของแผนมุ่งสู่ Net Zero ของรัฐบาลไทย พบว่ายังไม่มีการระบุแนวทางที่ชัดเจนถึงวิธีลดใช้พลังงานฟอสซิล เช่น การวางกรอบเวลาปลดระวางพลังงานฟอสซิล และเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีแผนการมุ่งสู่ Net Zero อย่างชัดเจน จะเห็นว่ามีการใช้กลไกภาคบังคับควบคู่ไปด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ภาษีคาร์บอน ซึ่งช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากไม่ปรับตัวสู่ความยั่งยืน 


และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างสนามแข่งที่เท่าเทียมด้วยการบังคับใช้เกณฑ์เดียวกัน หากปราศจากสิ่งนี้ อาจเป็นช่องโหว่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด ส่งผ่านต้นทุนราคามายังผู้บริโภค เพราะมองว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างจริงจัง 


“เรามาได้ไกลพอสมควร สำหรับกติกาบังคับการเปิดเผยข้อมูล แต่เราก็ยังมาไม่ไกลพอ เมื่อพูดถึงมาตรการเชิงบังคับ โดยเฉพาะในธุรกิจสีน้ำตาล”

สนับสนุนธุรกิจสีเขียว ลดให้เงินทุนลูกค้าเก่า ความท้าทายที่ต้องบาลานซ์


เมื่อย้อนกลับมาดูหัวใจของธนาคารที่ยั่งยืนจริงอยู่ที่บทบาทสำคัญของภาคธนาคารคือการส่งเสริมธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG ซึ่งตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงธุรกิจสีเขียว หรือ Climate Tech เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ซึ่งธนาคารในฐานะผู้จัดสรรเงินทุน มองว่าธุรกิจเหล่านี้กำลังเติบโตและเป็นโอกาสสร้างรายได้ใหม่ 


แต่ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยพูดถึง คือ แนวทางการลดการสนับสนุนธุรกิจสีน้ำตาล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนและเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยปัจจุบันธนาคารไทยยังมีพอร์ตสินเชื่อพลังงานฟอสซิลที่ใหญ่มาก เนื่องจากยังให้สินเชื่อกับเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“การขับเคลื่อนธนาคารไปสู่ ESG ต้องทำทั้งสองด้าน ด้านนึงต้องเพิ่มน้ำหนักการสนับสนุนธุรกิจที่เน้น ESG แต่ก็ต้องลดสนับสนุนเงินทุนธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน”


ทั้งนี้การลดให้การสนับสนุนธุรกิจสีน้ำตาลต้องอาศัยกติกาจากภาครัฐเข้ามาช่วย แม้ประเทศไทยจะประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 ซึ่งล่าช้ากว่าประเทศอื่นในโลกที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2050 ซึ่งเมื่อมาชำแหละไส้ในแผนการดังกล่าว รัฐบาลไทยยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลา หรือแนวทางที่ชัดเจนในการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือทยอยเลิกใช้พลังงานดังกล่าว 


ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนด้านนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจฟอสซิล ธนาคารก็จะต้องเผชิญกับความท้าทาย พูดง่ายๆ คือเกิดความลำบากใจที่จะต้องสื่อสารกับลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันมาอย่างยาวนานว่าจะเลิกสนับสนุนเงินทุนธุรกิจที่ทำร้ายโลก ซึ่งไม่ได้สร้างความท้าทายเฉพาะธนาคารไทย แต่รวมถึงสถาบันการเงินทั่วโลกที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน


“ดังนั้นถ้ามองในบทบาทของธนาคารเพื่อความยั่งยืน จะมองแค่เรื่อง Green finance การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมองควบคู่ไปกับ Transition finance ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านเงินทุนออกจากธุรกิจสีน้ำตาล”.

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)
Junoir Content Creator at Thairath Money