ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2505 “ไทยรัฐ” หนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย ได้ถูกนำมาออกวางจำหน่ายในฉบับปฐมฤกษ์ ก็สามารถผงาดอยู่บนแผงแทบจะทันทีทันควันเมื่อวางตลาด
จวบจนกระทั่งปี 2567 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ภาพของ “ไทยรัฐ” ยังคงเป็นผู้ผลิต “ข่าวสาร” หรือที่เรียกในยุคปัจจุบันว่า “คอนเทนต์” ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่แค่ “ข่าวภาพบนหน้ากระดาษ” เพียงเท่านั้น ยังครอบคลุมตั้งแต่หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ไปจนถึงช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, YouTube, Instragram, TikTok และ X หรือที่เราเรียกกันว่า Twitter
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไทยรัฐ” ใต้ร่มการบริหารของตระกูล “วัชรพล” ได้มีการปรับตัวตลอดเวลา อีกทั้งด้วยการขับเคลื่อนผ่านผู้บริหารรุ่นที่ 3 ทำให้ภาพของไทยรัฐในวันนี้ เป็น “สื่อ” ชั้นนำที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์หมัดเด็ดมากมาย ด้วยความเชื่อที่ว่า “หากอยากจะโตอย่างมั่นคง ต้องรักษาฐานรากของตัวเอง และรู้จักปรับตัว”
Thairath Money สัมภาษณ์พิเศษ “จิตสุภา วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจร่วมของไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ถึงการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปอีกขั้น กับการชูกลยุทธ์ “Newstainment” ลุยคอนเทนต์วิดีโอเต็มสูบด้วยการเปิด YouTube 8 ช่อง 8 สไตล์ เพื่อสร้างอิมแพกต์ของคอนเทนต์ ขยายฐานแฟนใหม่ รักษาฐานแฟนเก่า ที่มีอยู่เกือบ 18 ล้านซับฯ และเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ตอกย้ำภาพเบอร์ 1 สื่อออนไลน์ไทย
จิตสุภาเล่าว่า วัตถุประสงค์ในปีนี้คือ ต้องการขยายฐานผู้ชม ผู้อ่าน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ครอบคลุมคนได้ทุกเซกเมนต์ ในหลายๆ ความสนใจ ดังนั้นการแตกช่อง YouTube ออกมา 8 ช่อง 8 สไตล์ จึงใช้ชื่อกลยุทธ์ว่า “แตกหน่อเพื่อเติบโต” โดยทั้ง 8 ช่อง เป็นการจัดเซกเมนต์ให้ตรงกับความสนใจของผู้ชมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม
โดยทั้ง 8 ช่อง มีหน้าที่ที่แตกต่างกันในปีแรก บางช่องอาจจะมีหน้าที่เพื่อทำรายได้ บางช่องอาจจะเพื่อดึงยอดผู้ติดตาม เพื่อขยายฐานผู้อ่าน หรือขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มที่เรายังไม่สามารถเข้าถึงได้
1. THAIRATH TV Originals เป็นคอนเทนต์ที่อยู่บนไทยรัฐทีวี แต่จะนำมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมที่กว้างขึ้น
2. THAIRATH Online Originals เป็นช่อง Newstainment เล่าสนุกมากกว่าข่าว ที่จะรวมคอนเทนต์ สาระ และความสนุก
3. Thairath Studio ช่องวาไรตี้รวมความสนุก คอนเทนต์ครบรส
4. Thairath Money คอนเทนต์เศรษฐกิจ การลงทุน ที่จะทำให้คุณมีการเงินดี ชีวิตดี
5. Mirror Thailand ช่องที่พูดเรื่องประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวกับผู้หญิง และเพศทางเลือกทั้งหลาย รวมถึงแนวคิดในการใช้ชีวิต หรือไลฟ์สไตล์อย่างชัดเจน
6. Thairath Sport ศูนย์รวมทุกเรื่องราวกีฬา
7. PEEPZ DOC เรื่องราวของผู้คนและประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมโลก
8. Thairath Kids ช่องน้องใหม่ที่อยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมเผยแพร่คอนเทนต์ เพื่อเจาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ชมใหม่ที่จะขยายเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงนิยามคำว่า “Newstainment” คืออะไรนั้น จิตสุภา บอกว่า มาจากคำว่า News + Entertainment ซึ่งคำนี้เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกว่า “คนไทย” เวลาจะเสพอะไรก็แล้วแต่ จะชอบเข้าถึงคอนเทนต์ที่สนุก เสพง่าย เข้าใจง่าย และย่อยง่าย ทีมงานจึงนำอินไซต์ของผู้บริโภค มาผสมกับจุดยืน หรือจุดแข็งความเป็นตัวตนของไทยรัฐ คือ เรื่องข่าว
ฉะนั้นการตีโจทย์คำว่า Newstainment ของเราก็คือ “เราอยากจะทำให้ข่าว ที่บางคนอาจจะดูว่าซีเรียส หนัก เข้าถึงยาก เข้าใจยาก ทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้น และสนุกขึ้น ย่อยง่ายขึ้น เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงคนทุกระดับ ทุกเซกเมนต์ ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือรายการวาไรตี้ นี่คือหมุดหมายสำคัญของคนทำคอนเทนต์ และถือเป็น Key Success Factor ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน”
แล้วในฐานะ ทายาทรุ่นที่ 3 ไทยรัฐกรุ๊ป หากจะไม่ถามถึงเส้นทางอุตสาหกรรมสื่อในมุมมองของทายาท และการมารับช่วงต่อก็คงจะไม่ได้
จิตสุภาตอบด้วยความมุ่งมั่นว่า “ถ้าพูดถึงภาพรวมในอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมด จริงๆ ตอนนี้ทุกอย่างอยู่บน “ออนไลน์” เป็นหลัก ฉะนั้นหากพูดถึงในเรื่องของความท้าทาย ในมุมแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ ต้องรู้จักวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มให้เป็น โดยที่เราก็ยังคงต้องตระหนักว่า เราเป็นผู้ทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มคนดูใหม่ๆ และรักษาฐานแฟนเดิมให้อยู่กับเราให้ได้ ฉะนั้น “คอนเทนต์คุณภาพ” ก็เป็นโจทย์สำคัญในทุกยุค
ส่วนในแง่ของแพลตฟอร์ม หรือเทคนิคที่ใช้ ก็เป็นความยาก เพราะเราไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์ม ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะต้องปรับตัว และปรับกลยุทธ์วิธีการทำงานตลอดเวลา รวมถึงต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของแบรนด์ในฐานะสถาบันสื่ออย่าง “ไทยรัฐ” ที่มีมาอย่างยาวนานด้วย
ความยากนอกจากคุณภาพในการเล่าเรื่องให้ถูกอกถูกใจคนดูคนฟัง ก็ยังต้องรักษาเรื่องของจริยธรรมในการทำข่าว ในการเป็นสื่อสารมวลชนเพื่อคงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ไว้ และสะท้อนประโยชน์กลับไปให้สังคมด้วย
เพราะเป็น “วัตถุประสงค์” ของการมีอยู่ของ “ไทยรัฐ” เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มันพัฒนาขึ้น หรือเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เราอยากให้คุณภาพชีวิตของคนไทย เปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ซึ่งก็ถือเป็นโจทย์ยากเหมือนกันในการทำธุรกิจ
สำหรับการปรับเปลี่ยนบทบาทเมื่อต้นปี 2567 รับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ คู่กับพี่ชาย (วัชร วัชรพล) นับเป็นอีกหมุดหมายที่สำคัญในความตั้งใจของจิตสุภา ที่ต้องการทำให้องค์กรและทั้งเครือของไทยรัฐก้าวไปอีกขั้น
เธอบอกว่า เนื่องจากรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้มันรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถนนทุกสายมุ่งไปที่ “ออนไลน์” การบริหารจัดการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องการกำลังเสริม แรงสมอง คนมาช่วยทำงาน และใส่ความพยายามกับมันเพิ่ม และภาระงานของไทยรัฐออนไลน์มีความสำคัญ และมีปริมาณเพิ่มขึ้น
“เราได้มีการคุยกันกับพี่และน้องว่าอยากจะเข้ามาช่วยดัน เพื่อให้หมุดหมายมันสำเร็จลุล่วงไปได้จริงๆ ดังนั้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ภาพของ “ไทยรัฐ” สิ่งที่สามพี่น้องมองเห็นเป็นภาพเดียวกันอย่างทันที คือ ยังอยากให้ไทยรัฐคงความเป็น “สถาบันสื่อ” ชั้นนำระดับประเทศ ที่ครองใจผู้อ่านได้อย่างกว้างขวาง และสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมผ่าน “ตัวอักษรที่เราส่งออกไป” ให้สมกับความตั้งใจที่บรรพบุรุษได้ทำมา"
ส่วนในแง่ของธุรกิจองค์กร ยังค้นหาพยายามที่จะเข้าไปทดลองทำธุรกิจใหม่ หรือแตกไลน์แบรนด์ใหม่ๆ เพื่อให้ทันกับยุคสมัย ความสนใจของคน พร้อมย้ำว่าภาพรวมยังโฟกัสอยู่ที่ Media & Content Business เป็นหลัก
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney