เมื่อโลกก้าวสู่ทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีในแต่ละยุคได้เข้ามาปลดล็อกการทำงานทุกภาคส่วน ‘อุตสาหกรรมดิจิทัล’ ค่อยๆ เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก พร้อมพิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวเลขชี้วัดต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด สิ่งนี้เองได้บ่งชี้ถึงความเหนือชั้นขององค์ความรู้ กำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อิทธิพลและมูลค่าที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเปลี่ยนภาพกิจกรรมเศรษฐกิจในชั่วพริบตา Digital Transformation, Cloud Computing กระทั่ง AI ไม่ได้เป็นเพียงวาระสำคัญที่จำกัดแค่ในองค์กรธุรกิจอีกต่อไป เทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์ประมวลผลเทียบชั้นสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์นี้เอง ได้กลายเป็นสนามแข่งขันของผู้นำประเทศทั่วโลก รวมถึง ‘ประเทศไทย’ ที่ตื่นตัวและมีแผนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อชิงถ้วยรางวัลใหญ่ของการแข่งขันนี้เช่นเดียวกัน
Thairath Money พูดคุยกับ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่ Microsoft Thailand บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยกว่า 30 ปี ฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสนามการแข่งขันทางเทคโนโลยี เจาะลึกศักยภาพด้านดิจิทัลที่ไม่แพ้ชาติไหน ที่มาที่ไปของคำมั่นสัญญากับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป้าหมายที่มุ่งหวังสำหรับการเยือนไทยของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Microsoft ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
สิ่งที่กังวลไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการระบุปัญหาของธุรกิจ และการมีเป้าหมายใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหานั้น
ธนวัฒน์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการชวนมองไทม์แสตมป์ยุคต่างๆ ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร Big Tech ในประเทศไทย ตนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญและมีผลต่อภาคธุรกิจอย่างไร สิ่งที่ตนตกตะตอนจากการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจต่อเนื่องยันภาครัฐ ความประทับใจในศักยภาพธุรกิจไทยในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ไม่แพ้ใครในภูมิภาค
“หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นเรื่องการปรับใช้เทคโนโลยี คือ ภาคธุรกิจธนาคาร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมชำระเงินที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นอย่างภาคโทรคมนาคมและค้าปลีก เป็นยุคที่ทุกคนเริ่มพูดถึง ‘Digital Transformation’ มากขึ้น เรียกได้ว่าเหล่านี้เป็นภาคส่วนแรกๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางเทคโนโลยีให้กับระบบเศรษฐกิจ”
ธนวัฒน์ เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว สิ่งที่แตกต่างกับปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด คือ องค์ความรู้ในตลาด ธุรกิจหลายแห่งยังไม่คุ้นชินกันเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Cloud Computing หรือ AI ในยุคนั้น ทำให้เราต้องให้เวลากับการสร้างความเข้าใจในตลาดพอสมควร โดยช่วงต่อมาเหตุการณ์ใหญ่ที่เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญในภาคเทคโนโลยี นั่นก็คือ การแพร่ระบาดโควิดในปี 2562 ที่ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นประโยชน์ของการปรับใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำ ‘Digital Transformation’ ในองค์กร เพื่อรองรับปริมาณการบริโภคสินค้าและบริการทางดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น
“ทุกคนเริ่มเข้าใจว่า Digital Transformation เป็นเรื่องของความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจ เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น เกิด Productivity เกิด Customer Experience ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของโปรแกรม หรือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแผนก IT อย่างเดียว ทำให้เห็นเลยว่าธุรกิจไหนที่ไม่มีเทคโนโลยี หรือระบบการทำงานบนแพลตฟอร์ม ธุรกิจนั้นเสี่ยงที่จะหยุดชะงักได้”
ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกับเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยหันหน้าเข้าหาเทคโนโลยี ช่วงเวลาสำคัญของโลกใบนี้ที่ว่ากันว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมิติของประสบการณ์การใช้งาน นั่นก็คือการเปิดตัว ‘ChatGPT’ แชตบอตอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI ของ OpenAI ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 เอนจิ้นที่ทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้อย่างน่าประทับใจ ตัวเร่งที่ทำให้ไม่ว่าจะบริษัทเล็กกลางใหญ่ แม้กระทั่งภาครัฐ ได้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น
ธนวัฒน์ มัดรวมภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าตลอด 7 ปี ต้องขอชื่นชมองค์กรไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำองค์กรหลายแห่งมีความสนใจที่จะเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจไปจนถึงการเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานโดยมี AI เป็นหนึ่งในหมุดหมายแห่งอนาคต
ธนวัฒน์ นิยามประเทศไทยว่าอยู่ในกลุ่มของ ‘ผู้นำ’ แม้จะไม่ได้ติดอันดับผู้นำเบอร์ต้น แต่ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่โดดเด่นเรื่องการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Generative AI
พร้อมกับยกข้อมูลจากผลสำรวจ Microsoft Work Trend Index 2023 ที่พบว่า “91% ของคนไทยเปิดรับการใช้งาน AI มาช่วยงานทั่วไปในแต่ละวัน” ซึ่งสถิติดังกล่าวสะท้อนนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่อง Mindset หรือการเปิดรับของผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดย ธนวัฒน์ กล่าวว่า “ถ้าคนมี Mindset เปิดรับแล้ว ทุกผลลัพธ์ก็เป็นไปได้” พร้อมกล่าวต่อถึงการปรับตัวด้าน Digital Transformation ของภาครัฐไทยที่มีการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ-เอกชน-บริษัทเทคโนโลยี อีกทั้งมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
ธนวัฒน์ อธิบายว่า สิ่งที่ต่างชาติมองไทยนั้นพิจารณาจากหลายมิติ และศักยภาพของประเทศไทยก็เป็นอะไรที่น่าดึงดูด ไทยโพสิชันตนเองได้ดีในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ภาคเอกชนของไทยมีศักยภาพที่บริษัทระดับโลกสามารถต่อยอดธุรกิจได้ หรือแม้กระทั่งการมองในเรื่องของจำนวนประชากร เราอาจจะไม่ได้มีจำนวนเยอะเท่ากับอินโดนีเซีย 240-260 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้น้อยเกินไป เราเป็นอะไรที่ Sizable
“หากตอบคำถามที่ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีส่วนร่วมในการผลักดันด้านดิจิทัลหรือไม่ ตอบเลยว่าเรื่องการปรับตัวสู่ดิจิทัล ไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่น ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นมุมมองด้านดิจิทิลที่เปิดกว้างในขาท่ีเป็นภาครัฐมากขึ้น การออกนโยบายสนับสนุนธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุน สะท้อนถึงการเปิดรับโอกาส เปิดรับพาร์ตเนอร์ เปิดรับการสร้างความร่วมมือ สะท้อนดีมานด์ดิจิทัลในประเทศที่ไม่ได้มาจากภาคเอกชน แต่มาจากภาครัฐด้วย และที่สำคัญเรามีกำลังคนที่พร้อมจะพัฒนา เหล่านี้ล้วนเป็นจุดที่น่าดึงดูด”
“ตามสถิติจาก IMD World Digital Competitiveness Ranking ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศที่มีการปรับตัวด้านดิจิทัลสูง ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศ โดยมีมาตรวัดหลักสามด้านด้วยกัน อันดับแรกด้าน Knowledge คุณภาพแรงงานดิจิทัล-ทักษะดิจิทัล ไทยอยู่อันดับที่ 41 และสามด้าน Future Readiness ไทยอยู่อันดับที่ 42 และที่นำมาอย่างโดดเด่น คือ ด้าน Technology หรือโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ไทยอยู่ในอันดับ 15 เพราะประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องความพร้อมของโครงสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน"
ธนวัฒน์ เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางบนถนนธุรกิจอันยาวนานของ Microsoft ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะครบรอบ 31 ปี ธนวัฒน์ บอกว่าในฐานะองค์กรธุรกิจระดับโลก เราให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทยในระยะยาว
สำหรับความร่วมมือล่าสุดในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีที่มีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยกันครั้งแรกของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และ แบรด สมิธ (Brad Smith) Vice Chair and President ของ Microsoft ระหว่างการเดินทางไปร่วมเวทีประชุมทวิภาคี UNGA ในเดือนกันยายนปี 2566
ธนวัฒน์ เล่าว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยได้สร้างความมั่นใจและแสดงถึงการเปิดรับทางธุรกิจต่อบริษัทเทคโนโลยี การเปิดกว้างของรัฐบาล ปลดล็อกอุปสรรคและสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยหลังจากนั้นทาง Microsoft ก็ได้เริ่มทำงานร่วมกับทีมของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จนกระทั่งดำเนินมาสู่การร่าง MOU ที่ถูกลงนามอย่างเป็นทางการในงานประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
“MOU ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI และขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้เริ่มดำเนินการเพื่อสร้าง Competitive Advantage ให้กับคนไทย ต่อเนื่องถึงการลงทุนในประเทศไทยของ Microsoft ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะมาต่อยอดการพัฒนา Digital Infrastructure"
"การเอายูสเคสและเอาประสบการณ์ของเรา Microsoft ทั่วโลกมาแชร์กับทางประเทศไทย สร้างโอกาสและ Digital Skilling ใหม่ๆ ในการจ้างงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย ปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค”
เมื่อคุยกันมาถึงตรงนี้ ธนวัฒน์ เปิดประเด็นต่อว่า Generative AI ได้ทำให้ทุกอุตสาหกรรมปรับตัวทั้งสิ้น ทุกคนตื่นตัวในการ Leverage AI ในธุรกิจ แต่เขายังมองว่า ด่านสำคัญที่ไม่ว่าจะภาคส่วนไหนต้องเผชิญในสนามการแข่งขันทางเทคโนโลยีนี้ คือ ความต่อเนื่องที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ความกล้าในการตีความกรอบเดิมของธุรกิจ
วันนี้ยูสเคสมันเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ
กลายเป็นว่าข้อจำกัดคือ Imagination ของเราเองซะมากกว่า
“สิ่งที่ธุรกิจควรกังวลไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือเรื่องของการลงมือทำ เพราะตอนนี้มีกลยุทธ์ชัดเจนแล้ว มีเป้าหมายชัดเจนแล้ว แต่ทำให้เกิดผลลัพธ์จริงนั้นยากยิ่งกว่า ธุรกิจต้องนั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร ทำให้คนในองค์กรรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนด้านใดบ้าง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ นี่คือสิ่งที่ต้องมานั่งคิดกัน เราเห็นแต่ละประเทศว่าไม่มีใครหยุด ทุกคนวิ่ง ตอนนี้ในสนามทุกประเทศวิ่งกันเต็มสตรีม ประเทศไทยเรามีจังหวะการออกสตาร์ตที่ดี สิ่งที่ต้องเอาจริงหลังจากนี้ คือ จังหวะไปต่อ จะทำยังไงให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง” ธนวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ธนวัฒน์ ยังชวนคิดถึงอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง ทักษะและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี โดยกล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไม่เพียงพอ ความท้าทายในตอนนี้ คือ เรื่องของทักษะดิจิทัลของคนไทยต่อเนื่องจนถึงการสร้างช่องทางให้ได้ใช้ทักษะนั้นอย่างแท้จริง เช่น การอัดฉีดคนบุคลากรอุตสาหกรรมดิจิทัลให้สามารถพัฒนาตนเองได้ สนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและระบบนิเวศในสายงาน
"หมุดหมายและความมุ่งหวังเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการการมาเยือนของ สัตยา นาเดลลา ในงาน Microsoft Build : AI Day วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีการประกาศรายละเอียดของความร่วมมือที่ชัดเจนมากขึ้น แสดงถึงการตอกย้ำความเชื่อมั่นระหว่าง Microsoft กับประเทศไทยในการช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง ตอกย้ำเป้าหมายสำคัญของ Microsoft ที่จะสานต่อในเรื่อง Digital Skill ให้กับคนไทย โดยเฉพาะขาคนทำงานภาคดิจิทัลที่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาเหล่านี้ คือ กำลังหลักในการสร้างความต่อเนื่องให้กับการพัฒนาทางดิจิทัลเทคโนโลยี องค์ประกอบสำคัญที่จะกำหนดตำแหน่งในสนามแข่งขันของประเทศไทย"
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney