Sandwich Generation แบกหนักขึ้น ในยุคเศรษฐกิจซบ จีนมีเดอะแบกสูง 170 ล้านครัวเรือน

Business & Marketing

Executive Interviews

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

Sandwich Generation แบกหนักขึ้น ในยุคเศรษฐกิจซบ จีนมีเดอะแบกสูง 170 ล้านครัวเรือน

Date Time: 10 เม.ย. 2567 11:17 น.
Content Partnership

Summary

  • Sandwich Generation คือกลุ่มคนที่แบกรับภาระอยู่ตรงกลาง ระหว่างคนสองรุ่น โดยต้องดูแลพ่อแม่ที่มีอายุ 65 ขึ้นไป ไปพร้อมๆ กับเลี้ยงดูลูกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต้องสนับสนุนด้านการเงิน แก่เด็กที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

เมื่อทั่วโลกเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ท่ามกลางยุคที่สภาวะเศรษฐกิจผันผวนมากที่สุด การวางแผนรองรับผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ และการพัฒนาทักษะเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่เป็น “เดอะแบก” ทางเศรษฐกิจตัวจริงอย่าง “Sandwich Generation” เป็นกลุ่มคนที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินชีวิตหลายด้าน

Thairath Money ชวนทำความรู้จัก Sandwich Generation คือใคร กำลังเจอปัญหาอะไร ทำไมถึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

รู้จัก “Sandwich Generation” คือใคร สำคัญอย่างไร

Sandwich Generation คือกลุ่มคนที่แบกรับภาระอยู่ตรงกลาง ระหว่างคนสองรุ่น โดยต้องดูแลพ่อแม่ที่มีอายุ 65 ขึ้นไป ไปพร้อมๆ กับเลี้ยงดูลูกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต้องสนับสนุนด้านการเงิน แก่เด็กที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งสร้างแรงกดดันทางการเงินและสุขภาพจิต ให้คนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

หลังช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 คนกลุ่มนี้กลับมาได้รับการพูดถึงมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาด ได้ผลักดันให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิตของผู้คน คนกลุ่มนี้จึงเริ่มแบกภาระที่มีอยู่ไม่ไหว สะท้อนจากการก่อหนี้และผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เงินเก็บน้อยลง และไม่มีแผนการเกษียณที่แน่นอน

นอกจากนี้ Sandwich Generation ยังมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร

อย่างไรก็ตาม Sandwich Generation ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นคนวัยใด แต่หากใครมีพ่อแม่ชราและลูกที่ต้องเลี้ยงดูก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละประเทศอายุของคนกลุ่มนี้จะแตกต่างกันไป

ตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ จะเป็นกลุ่มคนอายุ 30-35 ปี แต่ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะเป็นคนวัย 40-49 ปี ส่วนของไทยจะอยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตรัฐบาลไม่มีการออกมาตรการ หรือแนวทางแบ่งเบาภาระคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศ อ้างอิงข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่าในปี 2566 ผู้มีงานทำส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 40-49 ปี มีจำนวน 9 ล้านคน กินสัดส่วนมากถึง 23% ของผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งอาจฉุดให้ผลิตภาพเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าเดิม เนื่องจากความกดดันรอบด้าน ทำให้คนกลุ่มนี้ใช้ศักยภาพในการทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือต้องหลุดจากระบบแรงงาน ตามมาด้วยกำลังใช้จ่ายที่น้อยลง เนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์สังคมสูงวัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่หลังโควิด-19

เมื่อรู้จักและเข้าใจปัญหาที่ Sandwich Generation ในไทยต้องเจอแล้ว เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สิงคโปร์กับจีนถือว่ามีบริบทใกล้เคียงกับไทย แต่ก็ยังแบกรับภาระไม่หนักเท่าสถานการณ์ในประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ไปก่อนแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง

สถานการณ์ Sandwich Generation ในจีน

Sandwich Generation ในจีน คือคนที่เกิดระหว่างปี 2519-2528 ซึ่งเป็นประชากรรุ่นแรกภายใต้นโยบายลูกคนเดียว จากการเป็นศูนย์กลางของครอบครัวที่ได้รับการดูแล และทุ่มเททรัพยากรทั้งเงินและเวลา ปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังเป็นเดอะแบกทางเศรษฐกิจ รับแรงกดดันทั้งด้านการเงิน และสุขภาพจิต เนื่องจากต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ตัวลง และลูกหลานที่กำลังโต โดยปัจจุบันจีนมีครอบครัวที่เป็น Sandwich Generation ประมาณ 170 ล้านครัวเรือน

ประกอบกับปัญหาสังคมสูงวัยที่ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 191 ล้านคน ในปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของประชากรทั้งหมดอีกทั้งยังมีอายุยืนยาวมากขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลงต่ำกว่าระดับ 1% ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากนโยบายลูกคนเดียว และคนรุ่นหลังที่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อคนรุ่นพ่อแม่มีอายุมากขึ้นที่ 70-80 ปี ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูแลตัวเองน้อยลง ประกอบกับการมีลูกช้า คาดว่าจะสร้างแรงกดดันให้คน Sandwich Generation เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเจอแบบปฏิเสธไม่ได้ คือ ภาระค่าเลี้ยงดูที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกันสองทาง ซึ่งสร้างแรงกดดันทางการเงินอย่างมหาศาล แม้แต่ในครอบครัวที่มีอาชีพการงานมั่งคง มีเงินเก็บ ก็มีแนวโน้มประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะค่าเลี้ยงดูบุตรที่มีสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้ของครอบครัวชาวจีนโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กจนถึงอายุ 18 ปี อยู่ที่ 485,000 หยวน ในปี 2563 คิดเป็น 6.9 เท่าของ GDP ต่อหัวของจีน ซึ่งสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น

แม้คน Sandwich Generation ในจีนจะให้ความสำคัญ ทุ่มเททั้งเวลาและเงินให้กับลูกของตัวเองมาเป็นอันดับแรก แต่เพื่อดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ทำให้คนจีนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจลาออกจากงาน หรือเลือกทำงานที่ได้เงินน้อยลง แต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขามีรายได้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และรู้สึกโดดเดี่ยวเนื่องจากถูกตัดขาดจากสังคม อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงไม่มีคนเลี้ยงดู เมื่อแก่ตัวลง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องรีบหาทางออก และให้การสนับสนุนคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาสวัสดิการผู้สูงอายุ และพัฒนาการศึกษาเยาวชน

สถานการณ์ Sandwich Generation ในสหรัฐฯ

ในสหรัฐฯ กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ Sandwich Generation ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี โดยข้อมูลล่าสุดของ Pew Research Center ระบุว่า คนกลุ่มนี้มีสัดส่วน 23% ของจำนวนผู้ที่บรรลุนิติภาวะทั้งหมด

ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างประชากร ทำให้กลุ่มคน Sandwich Generation มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนผ่านจากคน GenX มาเป็น Millennials สอดคล้องกับข้อมูลของ The New York Life poll ที่ระบุว่า คนกลุ่ม Millennials มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% มากกว่าคน GenX ที่ 23%

นอกจากนี้การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังทำให้ผู้ชายหลายคนต้องเข้ามามีบทบาทช่วยดูแลผู้สูงอายุและเด็กเป็นครั้งแรก เนื่องจากต้องช่วยภรรยาดูแลสมาชิกในครอบครัว ระหว่างการกักตัว ต่างจากหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้หญิงมีบทบาท Sandwich Generation มากกว่าผู้ชายจะเห็นได้จากในปี 2563 ที่ผู้หญิงมีสัดส่วนอยู่ที่ 64% ในขณะที่ผู้ชายมีสัดส่วนเพียง 36% แต่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้ชายกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 55% ในปี 2566

เมื่อมาดูภาระทางการเงินที่ต้องแบกรับ จากผลสำรวจพบว่า คนอเมริกันประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่ม Sandwich Generation มีเงินไม่พอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเช่า ค่าอาหารสด หรือค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดูแล ผู้สูงอายุพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังช่วงโควิด ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงิน รูดบัตรเครดิตมาใช้จ่ายล่วงหน้า โดยมียอดหนี้ค้างชำระเฉลี่ยเกือบ 13,000 ดอลลาร์ (4.7 แสนบาท) ต่อคน

เป็นสถานการณ์ของ “เดอะแบก” ที่ต้องตระหนักว่า ภาระที่รับผิดชอบอยู่ ต้องบริหารจัดการอย่างไร และอะไรจะเป็นเครื่องมือช่วยได้

ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ Sandwich Generation และแนวทางการปรับตัวได้ในงาน Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2567 ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท ชั้น 19 เวลา 13.00-17.00 น. งานที่รวมมาสเตอร์ทางการเงินจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มาไว้ในงานเดียว เพื่อให้ผู้ร่วมงานเข้าใจ รู้จัก และใช้เงินเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ

สามารถติดตามรับฟัง Live ได้ในช่องทางออนไลน์ ผ่าน Facebook : Thairath Online, Facebook : Thairath Money, YouTube : Thairath Money รวมถึงช่องทางออนไลน์ของ KKP


Author

Content Partnership

Content Partnership