สะท้อนชีวิต Sandwich Generation “คนรุ่นเดอะแบก” ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

Business & Marketing

Executive Interviews

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

สะท้อนชีวิต Sandwich Generation “คนรุ่นเดอะแบก” ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

Date Time: 5 เม.ย. 2567 11:13 น.
Content Partnership

Summary

  • Sandwich Generation คนรุ่นกลางที่แบกรับทุกความรับผิดชอบ จนเป็น “เดอะ แบก” และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ใครบ้างเป็นเดอะแบก และพวกเขาต้องเผชิญกับเรื่องอะไรบ้าง “ดร.ณชา อนันต์โชติกุล” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) สะท้อนสถานการณ์ “คนรุ่นเดอะแบก” ในสังคมไทยปัจจุบัน

“Sandwich Generation” คำที่ได้ยินบ่อยขึ้น แต่คำนี้มีความหมายอย่างไร และทำไมต้องให้ความสนใจกับคนรุ่นนี้ พวกเขาคือคนวัยใด กลุ่มไหน และต้องเผชิญกับอะไรอยู่

#ThairathMoney พูดคุยหาคำตอบความท้าทายของคนรุ่น Sandwich Generation หรือเราขอเรียกพวกเขาว่า “คนรุ่นเดอะแบก” กับ “ดร.ณชา อนันต์โชติกุล” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ดร.ณชา อธิบายนิยามของคำว่า “Sandwich Generation” ว่า ถ้าพูดถึงแซนวิชก็น่าจะคิดถึงขนมปังประกบข้างล่างข้างบนแล้วมีไส้ตรงกลาง ซึ่งคนที่อยู่ตรงกลาง คือคนที่โดนบีบอัด ต้องแบกรับความรับผิดชอบจากคนรุ่นก่อนหน้า ซึ่งก็คือ พ่อแม่ และด้านล่างก็คือลูกหลานที่ต้องเลี้ยงดูอยู่

ดังนั้น คนที่อยู่รุ่นตรงกลาง จึงมีคำที่เรียกกันติดปากตอนนี้ว่า “เดอะ แบก” เพราะต้องแบกรับภาระจากคนทั้ง 2 เจเนอเรชั่นที่อยู่ทั้งด้านล่างและด้านบนของเขา

“สมัยก่อนคนมีลูกเร็ว อายุ 20 ปีกว่าก็มีลูกแล้ว พอถึงวัยมีลูก พ่อแม่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอายุ 40 กว่าเอง พอพ่อแม่ถึงวัยแก่ชราต้องเลี้ยงดู ลูกก็โตแล้ว อยู่ในวัยทำงานแล้ว ฉะนั้นสมัยก่อน เดอะแบก หรือคนอยู่เจเนอเรชั่นตรงกลางจริงๆ ไม่ได้แบกรับพร้อมกันทั้ง 2 เจน ต่างกับในปัจจุบันที่คนมีลูกช้าลง อายุ 30 กว่า - 40 ปีจึงจะมีลูกเป็นวัยกลางคนที่ลูกยังเล็กอยู่ ในขณะที่พ่อแม่ก็แก่ชราด้วย เดอะแบกที่อยู่ตรงกลางจึงต้องรับภาระหนักแบกสองเจนบนล่างในเวลาเดียวกัน”

สำหรับในประเทศไทย “วัยเดอะแบก” มักมีอายุประมาณ 40-50 ปี แต่ Sandwich Generation อาจหมายถึงคนอายุ 30-50 กว่าปีได้เลย ขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นคนที่อยู่ตรงกลางหรือไม่ ต้องแบกรับภาระครอบครัวหลากหลายด้านหรือไม่

สังคมสูงวัยมาเร็ว คนวัยทำงานทุกคนคือ เดอะ แบก

อีกปัจจัยที่ทำให้ “เดอะ แบก” เป็นรุ่นที่ถูกพูดถึงเยอะ เนื่องจากเมื่อดูจากโครงสร้างประชากรไทยปัจจุบัน ตามข้อมูลพบว่า ประชากรไทยวัย 40-50 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรไทย และถ้าดูกลุ่มคนที่อายุ 35-55 ปี ก็มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากร ซึ่งนับไม่ว่าไม่น้อย เปรียบเป็นรูปทรงคล้ายถ้วยที่ฐานแคบ อ้วนตรงกลาง ซึ่งสะท้อนโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย และปัจจุบันถ้าเอาคนไทย 70 ล้านคนมายืนเรียงกัน อายุของคนที่อยู่ตรงกลางสุด จะเป็นคนอายุราว 41 ปี ซึ่งนับได้ว่าสะท้อนอายุเฉลี่ยที่ค่อนข้างแก่เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่น และเป็นวัยที่กำลังมีลูกเล็กและมีพ่อแม่เริ่มแก่ชราด้วย นับได้ว่าเป็นคนกลุ่มวัยเดอะแบกพอดี

ถ้าคนในกลุ่มอายุเหล่านี้มีฐานะดี พ่อแม่เลี้ยงดูตัวเองได้ หรือไม่มีลูก ก็อาจจะไม่เข้านิยามว่าเป็นเดอะแบกแห่งแซนวิชเจนเนอเรชั่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสถานการณ์ของเดอะแบกในภาพกว้างหรือในภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่เป็นสังคมสูงวัยเร็วขึ้น ก็พบว่า คนวัยทำงานทุกคนเป็น “เดอะแบกต่อเศรษฐกิจไทย” เพราะคนวัยนี้คือคนสร้างผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีให้กับภาครัฐเพื่อเอาไปใช้ในการดูแลกลุ่มคนวัยเด็กและวัยชรา ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ทำให้จำนวนคนวัยทำงานของไทยกำลังโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสัดส่วนคนทำงานต่อคนสูงวัย คือ 4:1 คือทุก 4 คนต้องดูแลคนแก่ 1 คน และภายในปี 2040 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วน 2:1 ซึ่งค่อนข้างหนัก เพราะทุก 2 คนต้องดูแลคนแก่ 1 คน

สถานการณ์สังคมสูงวัยของไทยเทียบเคียงได้กับสิงคโปร์กับจีน ส่วนประเทศที่ไปสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง คนในประเทศเหล่านี้ก็แบกรับค่อนข้างหนักกว่าไปแล้ว แต่เขาก็เป็นประเทศที่รวยกว่าประเทศไทยไปแล้ว

ส่วนประเทศในอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แม้จะมีสภาพเศรษฐกิจเป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนไทย แต่ประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย แตกต่างกับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่แก่เร็ว

อีกประเด็นที่ ดร.ณชา หยิบยกขึ้นมาคือเกี่ยวกับ Sandwich Generation มี 3 มุมที่เป็นความท้าทายมากเป็นพิเศษ ทำให้คนยุคนี้ยากลำบากกว่าสมัยก่อน ไม่ใช่แค่ประเด็นผลลัพธ์จากโครงสร้างประชากร

เรื่องแรก คือ เรื่องการเติบโตของรายได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง และค่อนข้างซึมลงเรื่อยๆ จากที่เคยเติบโตได้ 7-8% ในอดีต ตอนนี้โตลดลงมาเรื่อยๆ เหลือแค่ 2-3% ต่อปี หมายความว่า โอกาสที่คนในประเทศจะเติบโตสร้างรายได้ หรือธุรกิจจะประสบความสำเร็จแบบสมัยก่อนน้อยลง ทำให้รายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย โอกาสที่คนเกิดมาฐานะปานกลางหรือยากจนจะสามารถเลื่อนชั้นทางสังคมกลายเป็นคนรวยได้ ก็น้อยลงมากไปด้วย

เรื่องที่สอง คือ ภาระการเลี้ยงดูผู้สูงวัย เนื่องจาก life expectancy หรืออายุคาดเฉลี่ยคนไทยมากขึ้น พ่อแม่อายุยืนขึ้น โดยถ้าดูค่า life expectancy ในอดีต 20 ปีที่แล้ว อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้อยู่ที่ 84 ปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือระยะเวลาที่เราต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุในบ้านจะลากยาวออกไปอีก ทำให้ภาระหนักขึ้นไปอีก และภาครัฐจะมีภาระมากขึ้นในเรื่องภาระสวัสดิการดูแลด้านสุขภาพและผู้สูงวัย

เรื่องที่สาม เรื่องค่าครองชีพค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเร็วมากในปัจจุบัน และหากมีลูกด้วย จะมีภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างสูงขึ้นมาก ทั้งค่าเทอม ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยเฉพาะคนเมือง ยิ่งทำให้ภาระเกินกว่ารายได้ที่หาได้ และนำไปสู่ภาระหนี้ตามมา เป็นความเครียดอีกแบบหนึ่ง

“ด้วยสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับ บีบคั้นให้มันยากขึ้น ก็จะนำไปสู่ความท้าทายกับชีวิตของคนในวัยเดอะแบกใน 3 ด้าน อย่างแรกคือ เรื่องการเงินที่ตึงขึ้นมาก อย่างที่สองคือการจัดสรรเวลา การรักษาสมดุลของชีวิต และเป็นวัยที่หน้าที่การงานกำลัง ‘พีก’ ด้วย คือหลายอย่างประดังมาทุกด้านในเวลาเดียวกันที่ต้องการแย่งเวลาจากเรา และการดูแลตัวเอง การประคับประคองชีวิตคู่ก็จะน้อยลง ซึ่งก็นำไปสู่ข้อสาม คือ ด้านภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ จากความเครียดสะสม”

ทักษะความรู้การเงิน สำคัญกับรุ่นเดอะแบกอย่างไร

ดร.ณชา กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความท้าทาย 3 ด้านดังกล่าว สิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับยุคปัจจุบันคือ การมีทักษะความรู้ทางการเงิน รวมถึงการรู้จักการวางแผน รู้จักเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่จะมาช่วยให้ไปถึงเป้าหมายในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพียงเป้าหมายทางการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงหลายๆ ด้านที่จะทำให้ชีวิตไปสู่เป้าหมายด้านต่างๆ ได้

เพราะท่ามกลางภาระที่มีมากอยู่แล้ว ถ้าไม่บริหารหรือวางแผนเลย ขณะที่การทำงานหารายได้น่าจะไม่ค่อยพอ คำถามคือชีวิตหลังเกษียณจะเป็นอย่างไร และถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้หลังเกษียณ เราก็จะสร้างภาระให้กับรุ่นต่อไป รุ่นลูกเราอาจจะหนักกว่าเพราะลูกคนเดียวต้องแบกหลายคนขึ้นไปอีก

และสำหรับคนที่ไม่มีลูก การมีเป้าหมายชีวิตและการวางแผนทางการเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในยามแก่เฒ่า เราก็ควรเตรียมพร้อมให้มีเพียงพอที่จะอยู่อย่างสุขสบายและดูแลตัวเองได้จนวันสุดท้ายของชีวิต

ดังนั้นความรู้ทางการเงินจึงสำคัญมาก ทั้งเรื่องการออมการลงทุน เพื่อทำให้เงินที่เราหามาได้ สามารถสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย ให้สามารถใช้ชีวิตในรูปแบบที่เราออกแบบเองได้

ทักษะความรู้และบริหารจัดการการเงิน มีทั้งเรื่องของการออม การบริหารจัดการหนี้ ถ้าหากเรามีหนี้สินจะทำอย่างไรให้ปลดหนี้ได้เร็ว ไม่ติดกับดักเป็นหนี้ไปตลอดชีวิต

การบริหารความเสี่ยงและป้องกันความเสี่ยง เพื่อไม่เกิดกรณีสูญเสียเงินก้อนใหญ่จากการไม่เตรียมการมาก่อน หรือว่าเพื่อให้เราเตรียมการดูแลคนข้างหลังเราได้ เช่น การซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิตต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการ

และอีกสิ่งสำคัญ คือการวางแผนเกษียณ รวมถึงการที่ต้องรู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้สูญเสียเงินโดยไม่จำเป็นหากเจอกับเหตุการณ์ภัยทางการเงินครั้งหนึ่ง อาจทำให้เราล้มไม่เป็นท่าได้เหมือนกัน

“ทักษะความรู้ทางการเงินเหล่านี้จะช่วยลดความตึงเครียดทางการเงินและอาจช่วยทำให้เรื่องภาระทางการเงินไม่ไปกระทบภาระหน้าที่ด้านอื่นๆ อีกด้วย”

การบริหารจัดการชีวิตทางการเงิน อาจจะเริ่มต้นจากการวางแผนการใช้จ่าย การตั้งเป้าหมายทางการเงิน และการรู้วิธีบริหารจัดการการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ และเข้าถึงง่ายกว่าอดีตมากๆ

ดร.ณชา ทิ้งท้ายว่า สมัยก่อนคือต้องรวยมากๆ ถึงจะมีคนมาดูแลวางแผนทางการเงินให้ หรือจะเปิดพอร์ตลงทุน หรือไปซื้อหุ้นต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือหลากหลายให้เลือกมากมาย หรือมีเงิน 50 บาท ก็ซื้อหุ้นต่างประเทศได้แล้ว แต่คำถามคือ เราเข้าใจความแตกต่างของเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้หรือไม่ และที่สำคัญกว่า คือ เรามีเป้าหมายชีวิตของเราแล้วหรือยัง และเราสามารถนำเอาเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้มาใช้ด้วยความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เราออกแบบชีวิตของเราได้อย่างที่เราต้องการหรือไม่”

ขอเชิญชวนทุกคนร่วมงาน KKP Financial Talk Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2567 ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท เวลา 13.00-17.00 น. งานที่รวมมาสเตอร์ทางการเงินจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มาไว้ในงานเดียว เพื่อให้ผู้ร่วมงานเข้าใจ รู้จัก และใช้เงินเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ สามารถติดตามรับฟังได้ช่องทางออนไลน์ ผ่าน Facebook Thairath Online, Facebook Thairath Money, YouTube Thairath Money รวมถึงช่องทางออนไลน์ของ KKP


Author

Content Partnership

Content Partnership