"ดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะจุด" รองประธาน กนง.แจง ปัจจัย-เงื่อนไข ทิศทาง "ดอกเบี้ย"

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

"ดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะจุด" รองประธาน กนง.แจง ปัจจัย-เงื่อนไข ทิศทาง "ดอกเบี้ย"

Date Time: 28 มี.ค. 2567 20:56 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เมษายนนี้ จะเป็นอีกครั้งที่หลายฝ่ายจับจ้องไปที่การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ พร้อมกับปัจจัย เหตุผล คำอธิบาย ท่ามกลางสถานการณ์ดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และลูกหนี้โอดครวญแบกภาระดอกเบี้ยสุดต้านทาน

Latest


ดอกเบี้ยนโยบาย เครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้สำหรับการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “แบงก์ชาติ” ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง สร้างภาระให้ลูกหนี้ทั้งรายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)


ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2 ของปี 2567 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายนนี้ ก็จะเป็นอีกครั้งที่หลายฝ่ายจับตามอง


อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ไทยรัฐ มันนี่” พูดถึงทิศทางนโยบายดอกเบี้ย ปัจจัยพิจารณา และแรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆ กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ว่า ในแถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ผ่านมาทุกครั้ง จะบอกภาพชัดเจนว่า สิ่งที่ กนง.ดูในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน จะมี 3 เรื่อง ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน 

อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)


แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567


พร้อมกับอธิบายว่า ในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จากตัวเลขเดือนกว่าๆ เกือบ 2 เดือน เห็นว่าเศรษฐกิจยังซอฟต์อยู่ แต่ดูจะมีบางเรื่องมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น ด้านการท่องเที่ยวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ (consumption) ดีมาตลอดต่อเนื่องจากปี 2566 และเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ และตอนนี้ก็ยังเห็นตัวนี้มีการขยายตัวดี 


อย่างไรก็ตาม ตัวหลักที่ฉุดเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐที่งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ยังไม่ผ่านสภาฯ จึงทำให้ในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.2566) ในแง่ภาคการคลังทั้งการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนของรัฐบาลชะลอลงไป


ส่วนการส่งออก ต้องติดตามดูอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากปีที่ผ่านมาส่งออกติดลบ และการส่งออกของไทยมีทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร จากสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้เศรษฐกิจของเรายังไม่ได้ประโยชน์จากการส่งออกมากนัก ทำให้ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ก็ยังไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกที่ชัดเจน


อีกด้านของเรื่องการส่งออกคือปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ประเทศไทยอาจมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศลดน้อยถอยลงไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราผลิตสินค้าไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากนัก หรือสินค้าที่เป็น High Technology ก็ไม่ใช่ตัวที่เราส่งออกมาก ในขณะที่สินค้าที่ไทยผลิตกันมากๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจน เป็นต้น

เรื่องส่งออกจึงยังคงต้องตามดู ส่วนภาพรวมทั้งปีจะเป็นอย่างไร รองประธาน กนง.มองภาพทั้งปียังคงฟื้นตัวได้ และน่าจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 นี้อยู่ในช่วง 2.5-3.0% และยังประเมินว่าค่อนไปทางด้านล่างมากกว่าด้านบน 


เงินเฟ้อน่าจะกลับมาบวกเดือน พ.ค.และเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 4


ส่วนเรื่องเงินเฟ้อในฐานะที่นโยบายการเงินของไทยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบาย รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.ในฐานะรองประธาน กนง. กล่าวว่า ในระยะนี้ยังคาดว่า เงินเฟ้อจะยังติดลบต่อไปถึงเดือน มี.ค.-เม.ย. และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในเดือน พ.ค. จากปัจจัยของฐาน 


"เงินเฟ้อเป็นประเด็นในเรื่องของปัจจัยชั่วคราว เป็นปัจจัยจากเรื่องราคาอาหารที่ต่ำ และมาตรการของรัฐบาลที่เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานและราคาค่าไฟที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมา และหากมองไปข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป ประกอบกับเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว เงินเฟ้อก็จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แม้เฉลี่ยทั้งปี อาจจะยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย

"อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อคงไม่ใช่ประเด็น และไม่ใช่ภาวะเงินฝืดด้วย เพราะเงินฝืดจะต้องหมายถึงเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเศรษฐกิจข้างหน้าเราก็คาดว่าจะขยายตัวได้ หรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัว อันนี้เราก็ยังไม่ได้เห็นภาพนั้น ฉะนั้นเรื่องเงินเฟ้อจึงเป็นปัจจัยชั่วคราว” อลิศรา กล่าว 

เสถียรภาพการเงิน กระบวนการปรับลดหนี้ต้องไม่สะดุด

ส่วนเสถียรภาพการเงิน เป็นอีกปัจจัยที่ กนง.ติดตามเพื่อนำไปสู่การพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงิน อลิศรา กล่าวว่า เสถียรภาพการเงินยังคงเป็นมุมมองที่ กนง.ให้น้ำหนัก และเป็นประเด็นระยะยาว เพราะถ้าสังเกตแถลงผลการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา (ก.พ. 2567) จะมีพูดถึงเรื่องกระบวนการปรับลดหนี้ หรือ Deleveraging (การลดหนี้ในระบบ) ซึ่งยังอยากให้กระบวนการนี้เดินต่อไป

เพราะเรื่องของภาระหนี้ภาคครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจที่สูงขึ้นมาค่อนข้างมาก เป็นปัจจัยสำคัญและมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพในระยะต่อไป ถ้าหนี้สูงๆ ก็เป็นตัว Drag Growth ลงมาได้ในระยะยาว และในภาพรวม ก็อาจเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาวได้

อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)


“เราก็มองว่าตัว Deleveraging น่าจะต้องดำเนินต่อไป ตอนนี้มันเป็นลักษณะที่ไปช้าๆ ซึ่งก็ไม่อยากให้สะดุด ถ้าดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนไป อาจทำให้กระบวนการตัวนี้สะดุดลงได้”


“โดยรวมแล้วก็คือต้องชั่งน้ำหนัก คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการประเมินภาพเศรษฐกิจ แล้วก็การปรับเปลี่ยนนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อด้านเสถียรภาพการเงิน ในเรื่องกระบวนการ Deleveraging ของหนี้ของภาคเศรษฐกิจไทย”


อย่างไรก็ตาม รองประธาน กนง.กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการประเมินภาพและมองไปข้างหน้า และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งในมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินเอง ถ้ากลับไปดูแถลงผลการประชุมฯ ที่ผ่านมา ก็จะเห็นชัดเจน แนวนโยบายของ กนง.คือ ถ้ามีแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน หรือเสถียรภาพการเงินเปลี่ยนไป ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ให้เหมาะสม


พร้อมกับชี้อีกประเด็นว่า ตอนนี้นโยบายของ กนง.คืออยากให้นโยบายการเงินเป็น “Neutaul” คือ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบและไม่สร้างความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพการเงิน 


“ถ้าปัจจัยแวดล้อมแนวโน้มทางเศรษฐกิจการเงินหรือว่าเสถียรภาพการเงินเปลี่ยนไป คณะกรรมการนโยบายการเงินก็พร้อมที่จะปรับให้สอดคล้องกับตัวทิศทางเ พื่อให้นโยบายการเงินเป็นไปอย่าง Neutral” อลิศรา กล่าว


แรงกดดันการเมืองเป็น input


ส่วนประเด็นที่แบงก์ชาติถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดตั้งแต่ต้นปี และแรงกดดันจากภาคการเมืองเรื่อง “ลดดอกเบี้ย” อลิศรา กล่าวว่า แรงกดดันทางการเมืองที่พูดกัน กนง.มองว่า เป็นการแสดงข้อคิดเห็น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไป แต่เป็นมุมมองที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเช่นกัน 


อีกทั้ง นโยบายของ กนง.ไม่ได้มองเพียงตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ได้ออกไปพูดคุยกับผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ผ่านเจ้าหน้าที่ ธปท.ในโครงการ Business Liaison คุยกับทุกเซคเตอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงจากผู้ประกอบการเข้ามาประกอบการประเมินภาพเศรษฐกิจกับตัวเลขเศรษฐกิจ ดังนั้นมุมมองที่มาจากภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักวิชาการ ที่พูดถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ก็เป็น input ที่สำคัญที่นำมาพิจารณาด้วย 


“เครื่องมือที่เรามี และผลกระทบของเครื่องมือที่เรามี คือดอกเบี้ย มีผลกระทบต่อภาพและปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ แตกต่างกัน จึงเอาเข้ามาชั่งน้ำหนักรวมกัน เราไม่สามารถใช้ดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบกว้างไปแก้ปัญหาบางจุดได้ เพราะฉะนั้นเครื่องมือเป็นเครื่องมือสำคัญ ถ้าเป็นปัญหาบางจุด เราอาจต้องใช้เครื่องมือเฉพาะจุดจัดการ ไม่สามารถใช้เครื่องมือที่เป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางได้” อลิศรา กล่าว

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics


เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money