ดร.สันติธาร เสถียรไทย: ‘โลกจะซับซ้อนกว่าที่คิด’ มองผลกระทบ AI ผ่านเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

ดร.สันติธาร เสถียรไทย: ‘โลกจะซับซ้อนกว่าที่คิด’ มองผลกระทบ AI ผ่านเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์

Date Time: 15 มี.ค. 2567 19:33 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • Thairath Money สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึงการเข้ามาของ Generative AI ที่เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจและเพิ่มความเหลื่อมล้ำกับใครก็ตามที่ปรับตัวไม่ทันในความเปลี่ยนแปลง

การเข้ามาของ AI ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามามีบทบาทแทนคน การเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หรือแม้แต่อันตรายจาก AI ที่ได้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงรูปแบบต่างๆ ซึ่งยังคงไร้กฎเกณฑ์ในการควบคุม และท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าวจึงไทยควรเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะในมิติของประเทศ องค์กรธุรกิจ หรือแม้แต่การพัฒนาคนเพื่อไม่ถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์ในวันข้างหน้า

Thairath Money สนทนากับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึงสิ่งที่ต้องระวังจาก AI รวมถึงไขข้อสงสัยว่าสรุปแล้ว AI นั้นเป็นตัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่พร้อมข้อเสนอแนะไปยังผู้กำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางว่าประเทศไทยควรเดินเกมไหน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI มากที่สุด

Generative AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ก่อนอื่นเลยอาจจะยังมีบางมุมที่คนยังมองว่า AI เป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องของภาคธุรกิจ แต่ในความจริงแล้ว ดร.สันติธาร ระบุว่า Generative AI ที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้นในยุคนี้ คือปัจจัยที่ได้เข้ามาเปลี่ยนให้ AI เป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากกว่าเดิม และเป็นเทคโนโลยีที่มีสามารถเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนได้ในทุกมิติ

ซึ่งหากย้อนไปสักห้าหกปีที่แล้ว เรื่อง AI นั้นถูกพูดถึงว่าจะมาทำงานแทนที่คน แต่อาจจะเป็นอะไรที่ไม่เห็นภาพชัดมากนัก และคนยังคงมองว่าสุดท้ายแล้วงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ หรืองานที่ต้องใช้ทักษะการเขียนโค้ดคงยากเกินไปที่ AI จะสามารถทำได้ แต่ปัจจุบันภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป AI ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของหลายคนและยังใช้งานง่ายห่างไกลจากความรู้สึกเข้าถึงยากในช่วงหลายปีก่อน

พร้อมกันนี้ ดร.สันติธาร ยังได้บอกเล่าถึงการปรับใช้ Generative AI ที่ในยุคนี้กลับกลายเป็นว่ากลุ่มที่ปรับใช้ก่อนคือ ‘คนทั่วไป’ เนื่องจากความสามารถของ AI ที่ทั้งพูดได้หลายภาษา สามารถป้อนคำสั่งได้ด้วยภาษาปกติ และยังมีราคาถูกหรือแม้แต่ใช้แบบไม่เสียเงินก็ยังสามารถทำงานได้ดี และมีประโยชน์ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง

ต่างจากยุคก่อนที่ธุรกิจใหญ่ๆ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ปรับใช้เทคโนโลยี ซึ่งองค์กรธุรกิจต่างกำลังอยู่ในช่วงทดลองประสิทธิภาพของ AI ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฟลว์งานอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีความกังวลในเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลที่ยังเป็นประเด็นสำคัญ

3 ผลกระทบจาก AI ที่จะกลายเป็นภัยกับมนุษย์

และเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีข้อดีก็ต้องมีข้อควรระวัง โดย ดร.สันติธาร ได้เตือนถึงผลกระทบของ AI ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลายประการด้วยกัน

ประการแรก คือ "ข่าวปลอม"

ในปีนี้จะมีข่าวปลอมแพร่สะพัดเนื่องจากเป็นปีที่มีการเลือกตั้งในทั่วโลก โดย AI จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการสร้างข่าวปลอม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลก และเป็นเรื่องน่ากังวลถึงขั้นว่าเมื่อไม่นานมานี้บิ๊กเทคกว่า 20 เจ้าได้ประกาศความร่วมมือเพื่อป้องกันข้อมูลเท็จจาก AI ในการเลือกตั้งทั่วโลกโดยเน้นจับตาเทคโนโลยี Deepfake มากเป็นพิเศษ

ประการที่สอง คือ “งาน”

ขณะเดียวกันเรื่องงานก็จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับผลกระทบจาก AI โดยในปีที่ผ่านมา ดร.สันติธาร ระบุว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นว่า งานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ หรืองานรูทีน รวมไปถึงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงมากจะถูกดิสรัปต์โดย AI ไม่เว้นแม้แต่งานสายเทคอย่างโปรแกรมเมอร์ หรือแม้แต่สายเศรษฐศาสตร์ การเงิน หรือฝั่งครีเอทีฟ ที่ถูกมองว่าจะปลอดภัยจากการถูกดิสรัปต์ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอีกต่อไป

ประการที่สาม คือ “ความเหลื่อมล้ำ”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ยังเป็นที่น่าจับตากันอยู่ว่าอำนาจในการมีอิทธิพลในยุค AI จะเป็นของใคร หรือจะไปกระจุกตัวอยู่ในบางอุตสาหกรรม และในกรณีที่เกิดปัญหาจากการใช้ AI ขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือบริษัทที่ครองอำนาจในด้าน AI จะให้ความช่วยเหลือหรือเปล่า

AI เทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพาเงินทุนมหาศาล 

ทั้งนี้ Thairath Money ก็ได้พูดคุยต่อไปในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำจาก AI ซึ่ง ดร.สันติธาร เผยว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดการถกเถียงกันเป็นวงกว้างทั้งในวงเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันยังเป็นภาพที่ซับซ้อนแต่ ดร.สันติธาร มองว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หรือองค์กรที่พร้อมรับ AI กับประเทศที่ยังไม่พร้อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ถ้าถามว่า AI จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเดิมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ทาง ดร.สันติธาร ระบุว่าความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไป อย่างในมุมของตัวแสดงที่เป็นประเทศจะเห็นความได้เปรียบที่ค่อนข้างชัด

จากการศึกษาของ Goldman Sachs พบว่าในระยะ 10 ปี GenAI จะช่วยเพิ่ม GDP ในโลกได้ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งยังเพิ่ม Productivity ได้อีกมหาศาล ซึ่งประเทศที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือกลุ่ม ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ เพราะมีความพร้อม

ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาที่งานหลายอย่างไม่สามารถทำให้เป็นอัตโนมัติได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เก็บ Data ไว้อย่างเป็นระบบและเมื่อเทียบกันแล้ว กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้น้อยกว่า

ขณะที่การแข่งขันระหว่างองค์กรจะแบ่งออกเป็นสองมุม ด้านหนึ่งองค์กรใหญ่จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะสามารถเข้าถึง Data และมีงบประมาณสำหรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่หากมองอีกด้าน องค์กรเล็กจะยังมีความได้เปรียบหากมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีเพราะสามารถปรับตัวได้เร็ว และใช้ประโยชน์จาก AI ได้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ หรือมาร์เก็ตติ้ง 

และในมุมของคนต้องอย่าลืมว่า AI นั้นเป็นอะไรที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม ก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่ได้ใช้ AI แต่ปัจจุบันมีคนใช้งานมากขึ้นเพราะความง่าย ซึ่ง ดร.สันติธาร สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“สุดท้ายแล้ว ภาพความเหลื่อมล้ำมันคงเพิ่มขึ้นแต่มันอาจจะไม่ใช่ภาพเดิม ไม่ได้เป็นเรื่องแน่นอนว่าคนตัวเล็กที่สุด หรือบริษัทที่เล็กที่สุดในเศรษฐกิจจะเสียเปรียบ อาจจะมีโอกาสเหมือนกันที่กลุ่มนี้จะขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหม่แทนคลื่นลูกเก่า สิ่งที่จะเป็นตัวแบ่งแน่ๆ คือ คนที่พร้อมกับคนที่ไม่พร้อมสำหรับ AI”

4 เสาสำคัญที่ต้องปรับ หากไทยอยาก Leapfrog ไปกับยุค AI

และเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยถ้าอยากเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ดร.สันติธาร เสนอแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่

  1. Data - Data ถือเป็นอาหารของ AI ดังนั้นแล้วจึงควรให้ความสำคัญกับการเก็บ Data ให้ดี เพราะมีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล
  2. การวิจัยและพัฒนา - ไทยอาจไม่จำเป็นต้องทำวิจัยและพัฒนาในสเกลที่สู้กับบริษัทใหญ่อย่าง OpenAI แต่อาจเป็นการนำโมเดล AI มาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทในประเทศ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่มีกลยุทธ์ AI ในระดับชาติที่หนึ่งในเป้าหมายคือการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ได้กับภาษาในอาเซียนโดยเฉพาะ และหากไทยจะมีเป้าหมายใหญ่อย่างสิงคโปร์ สิ่งสำคัญคืองบสำหรับ R&D 
  3. คน - อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้าง Talent ในประเทศรวมถึงดึงคนจากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในด้าน AI หรือ AI Literacy ให้กับคนทั่วไปให้ใช้ AI ให้เป็น “อย่าตกราง อย่าตกขบวน” และใช้ด้วยความระมัดระวัง การ Reskill ก็เป็นสิ่งจำเป็นกับคนจำนวนมาก
  4. ธรรมาภิบาล - รัฐบาลควรมีกฎกติกาเพื่อควบคุมการใช้ AI ในทางที่ผิด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด แต่ในทางเดียวกันก็ต้องสร้างบาลานซ์ด้วยการไม่ควบคุมมากเกินไปจนกลายเป็นการขัดขวางนวัตกรรม

บทส่งท้าย 

ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย ดร.สันติธาร ได้ฝากให้เราในฐานะมนุษย์ได้ปรับมุมมองจากความกลัว AI ไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเก่งกว่ามันอย่างไร และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสุดแสนฉลาดเพื่อยกระดับศักยภาพและเห็นถึงความสามารถที่อยู่ในตัว

“จริงๆ AI มันมาเพื่อเตือนว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ อะไรที่ทำให้เราพิเศษ แตกต่าง แทนที่จะมองว่าเราสร้าง AI ให้เหมือนมนุษย์ เราควรจะมองกลับกันว่าการที่เรายิ่งพัฒนา AI มันจะทำให้เรารู้จักมนุษย์ หรือตัวเราเองมากขึ้นอย่างไร”

ติดตามบทสนทนาฉบับเต็ม AI เปลี่ยนเศรษฐกิจ โลกจะเหลื่อมล้ำกว่าเก่า? ได้ในรายการ Digital Frontiers ทาง Youtube Thairath Money 

และสามารถติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

เพ็ญพิชชา ขุนสุทน (นีน่า)

เพ็ญพิชชา ขุนสุทน (นีน่า)
ผู้สื่อข่าวธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี Thairath Money