ชลเดช เขมะรัตนา: ความสัมพันธ์งูกินหางของธนาคาร กับธุรกิจ Fintech ในไทย ทำไมถึงไม่มีวันต่อกรกันได้

Business & Marketing

Executive Interviews

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

Tag

ชลเดช เขมะรัตนา: ความสัมพันธ์งูกินหางของธนาคาร กับธุรกิจ Fintech ในไทย ทำไมถึงไม่มีวันต่อกรกันได้

Date Time: 14 ก.พ. 2567 16:27 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • Thairath Money พูดคุยกับ ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทยของ Webull Securities ถึงสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรม Fintechในไทย บทบาทและจุดยืนของ Virtual Bank และการลงเล่นในสนามภาคการเงินของไทย

Latest


อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยอยู่ในสถานะประเทศกำลังพัฒนามาอย่างยาวนาน มีระบบเศรษฐกิจแบบ Bank-based economy กล่าวคือธนาคาร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการจัดสรรเงินทุน ให้เกิดการไหลเวียนเม็ดเงินไปยังภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่แหล่งเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อ และผู้ระดมทุนผ่านการรับเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2567 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบงก์ จากกลุ่มผู้กู้ยืมเงินถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยกู้ที่สูงลิ่ว ซึ่งเป็นการรับผ่านนโยบายมาจาก การกำหนด "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ถึงอย่างนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็คือผู้กุมชะตาเงินทุนไทย ในฐานะผู้กำหนดดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้

ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากคำถามที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารแล้ว เรื่องของธุรกิจ Fintech ก็เป็นอีกเรื่องควรจะมีการส่งเสริม เพื่อสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น แต่ หลายปีที่ผ่านมา Fintech ในไทยก็ยังไม่เฟื่องฟู หรือหลุดจากร่มเงาของธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งแบงก์ต่างๆ ก็โดดเข้ามาสนาม Fintech ผ่านการเปิดบริษัทลูกด้านเทคโนโลยีการเงินเองด้วย

อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงอีกว่าเป็นไปได้ไหมที่ Fintech จะให้ขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับธนาคารดั้งเดิมได้ เพราะเมื่อธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความสามารถของเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลักนั้น จะคล่องตัว และต้นทุนต่ำ ดังเช่นในจีนที่มีธุรกิจอย่าง Ant Group ที่เป็นธุรกิจ Fintech ที่ขึ้นมาทรงอิทธิพลจนเปลี่ยน landscape ของภาคการเงินไปได้โดยปริยาย

Thairath Money พูดคุยกับ ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทยของ Webull Securities ถึงสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรม Fintechในไทย บทบาทและจุดยืนของ Virtual Bank และการลงเล่นในสนามภาคการเงินของไทย

ภาพรวม Fintech ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?  

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจ Fintech ในไทย ต้องมองที่ภาพรวม กล่าวคือ เป็นการเอาเทคโนโลยีมาทำให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในที่นี้เราจะไม่ได้พูดถึงแค่บริบทของสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่จะรวมถึงธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต ซึ่งเข้ามาทำตรงนี้เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน

“ประเทศไทยมีระบบ Mobile Banking ซึ่งถือว่าค่อนข้างก้าวหน้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีการใช้งานที่สูง และเติบโตอย่างมาก ถ้าเกิดว่าดูสถิติคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเอามาเป็นฐาน เทียบกับคนที่ใช้ Mobile Payment ในประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น Fintech ในแง่ที่เกี่ยวกับ Payment และ Banking ประเทศไทยถือว่าทำได้ดี” 

ส่วนด้านอื่นๆ ถ้าเจาะเป็นรายเซกเมนต์ จะมีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ และสตาร์ทอัพปนกันไป

เซกเมนต์แรก แน่นอนเรื่อง Payment ส่วนใหญ่จะเป็นธนาคาร อย่าง Mobile Banking จะมีเจ้าตลาดคือ KPlus ที่ครองส่วนแบ่งตลาดราวครึ่งหนึ่ง อีกทั้งระบบนิเวศของธนาคารยังสามารถที่จะต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้ เช่น บางแอปฯ คล้ายแพลตฟอร์ม e-commerce เลย บางแอปฯ สามารถเลือกซื้อกองทุนได้เลย ฯลฯ ส่วนผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคารแต่มีระบบนิเวศที่แข็งแกร่งจะเป็นรายใหญ่อย่าง True Money ซึ่งมีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่าบางธนาคาร ถือเป็น Super App ด้าน Fintech เลยก็ว่าได้ 

เซกเมนต์ที่สอง คือ เรื่อง Investment หรือ Wealth Tech ที่มักจะให้บริการเทรดหุ้น ซื้อขายกองทุนรวม ตรงนี้ในช่วงหลังมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมาก ทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพอิสระ หรือ สตาร์ทอัพซึ่งเกิดจากกลุ่มธนาคารดั้งเดิม รวมถึงผู้เล่นรายใหญ่ที่มาจากต่างประเทศ สำหรับบริการ Fintech ในด้านการลงทุนถ้าไล่มาตั้งแต่อดีตยุคแรกที่เกิดขึ้นจะมี Robot Trading หรือ Program Trading เพื่อซื้อขายหุ้นแบบอัตโนมัติ ต่อมาจะเป็น Robo Advisor ที่ทำการจัดสรรการลงทุนแบบ Asset Allocation ผ่านกองทุนรวม และล่าสุดจะเป็นเทรนด์การลงทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน USA ซึ่งมีหุ้นเติบโตสูงด้านเทคโนโลยี โดยรวมแล้ว Wealth Tech ในประเทศไทยค่อนข้างทำได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานกำกับดูแลที่ค่อนข้างเปิดรับต่อนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ 

เซกเมนต์ที่สาม คือเรื่อง Digital Asset ที่มีทั้งฝั่งที่เป็นคริปโตฯ และ Investment Token โดยที่คนไทยมีบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลราว 2 ล้านกว่าคน ซึ่งใกล้เคียงกับบัญชีหุ้นที่มีประมาณ 2.5 ล้านคน และบัญชีกองทุนรวมราว 2 ล้านคน เพราะฉะนั้นคริปโตฯ ในไทยถือว่าเติบโตไวมากทั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน ขณะที่อีกฝั่งจะเป็นธุรกิจ Primary Market การระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง ICO Portal ซึ่งหลาย Investment Token จะมีความคล้ายกับหลักทรัพย์ในโลกการลงทุนดั้งเดิม แต่มันมีข้อดีตรงที่มันมีความคล่องตัวในการเพิ่ม Feature ในการออกเหรียญที่ระดมทุนครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถออกมาได้หลายรูปแบบ 

เซกเมนต์ที่สี่ คือ เรื่อง Crowdfunding แม้จะมีมานานแล้ว แต่อาจจะไม่ได้โด่งดังจนเป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งในไทยจะมีทั้ง Debt Crowdfunding การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ จ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น เพื่อแลกกับเงินทุนจากนักลงทุน ส่วนอีกประเภทจะเป็น Equity Crowdfunding คือ การระดมทุนโดยการออกหุ้นแลกกับเงินทุนจากนักลงทุน โดยนักลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าของบริษัทนั้นๆ

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แล้ว Fintech ที่จะทำให้คนไทยได้เข้าถึงบริการทางการเงินง่ายๆ มีอะไรบ้าง? 

เมื่อพูดถึงธุรกิจ Fintech ที่เน้นไปที่การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้นั้น ต้องรอดู Virtual Bank ที่ปัจจุบันแบงก์ชาติได้มีการเปิดทาง เตรียมให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ ยื่นขอใบอนุญาตได้ โดยวัตถุประสงค์ คือ ต้องการให้เข้าถึงกลุ่ม Underserved มากขึ้น ต้องบอกว่าทุกวันนี้คนไทยไม่ได้มีปัญหาในการเข้าถึงบัญชีธนาคาร แต่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสินเชื่อ และการลงทุน 

ยกตัวอย่างเจ้าของธุรกิจ SME โดยปกติแล้วประเทศไทยจะเป็นการปล่อยกู้แบบ Collateral-based Lending หมายถึง ถ้าเกิดว่าเจ้าของธุรกิจจะขอกู้เงินจากธนาคาร ธนาคารจะขอสินทรัพย์ค้ำประกัน ควบคู่กับการพิจารณารายการเดินบัญชีหรือ Statement หรือไม่ก็ต้องมีผู้ค้ำประกัน หากกู้ไม่ได้ บริษัทอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนต้องไปใช้สินเชื่อแบบอื่น อาจจะสินเชื่อส่วนบุคคล แต่กู้มาแล้วเอาไปใช้กับธุรกิจ หรือบางรายอาจจะเป็นสินเชื่อนอกระบบไปเลย ซึ่งก็ต้องติดตามว่าถ้าหากมี Virtual Bank มาแล้วจะช่วยปัญหาตรงนี้อย่างไรได้บ้าง 

ทำไมธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้รายเล็กยาก? 

ต้องบอกก่อนว่าธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน มีกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแน่นอนอยู่แล้ว โดยธนาคารใหญ่ๆ ก็หลัก 3-4 หมื่นล้านต่อปี ดังนั้นการที่จะมาใช้ทรัพยากรบุคคล เงินทุนและเวลาเจาะกลุ่ม Underserved นั้น อาจไม่ได้มีแรงจูงใจมากขนาดนั้น ด้วยต้นทุนในการบริหารโดยรวมที่เมื่อคำนวณแล้วอาจจะไม่คุ้ม

การมี Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยอย่างไร? 

อธิบายแบบนี้ว่า เดิมทีธนาคารจะมีต้นทุนที่เป็นต้นทุนคงที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าพื้นที่สาขา ค่าจ้างพนักงานที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาและการบริการต่างๆ แทบจะหายไปได้หมดเลย การลงทุนในระบบไอทีก็จะถูกลง คือ เมื่อทำแล้วจะเน้นให้ End User ที่เป็นลูกค้าใช้งานอย่างเดียว ไม่ต้องทำระบบให้พนักงานสาขาใช้งาน เมื่อต้นทุนต่ำลง ความคุ้มค่าในการให้บริการกลุ่ม Underserved จะเป็นไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเป็น Digital Only จะช่วยให้ใช้ Big Data เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อออกแบบและนำเสนอบริการได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างถ้าธนาคารที่มีข้อมูล Payment การโอนเงินระหว่างร้านค้า ลูกค้า และ Supplier ธนาคารอาจจะสามารถทำแบบจีนได้ คือเป็น Information-based Lending โดยสถาบันการเงินสามารถนำข้อมูลอื่นๆ ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้กู้ มาร่วมใช้วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ได้ กล่าวคือ ถ้ารู้ข้อมูล ว่าคนจับจ่ายใช้สอยเท่าไรในกระเป๋าเงินดิจิทัล มี Big Data แล้วเอา AI มาช่วยคำนวณได้เลยว่าเจ้าของร้านควรจะได้วงเงินกู้เท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร เมื่อคนขอกู้ก็สามารถกดปุ่มเดียวเงินเข้าเลย ซึ่งในประเทศไทยถ้ามี Virtual Bank ก็ควรทำเช่นนี้ได้ 

ส่วนอีกเซกเมนต์ คือ สินเชื่อส่วนบุคคล ตรงนี้สามารถเอา Big Data มาทำ Credit Scoring เพื่อจะประเมินศักยภาพในการกู้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างในจีนที่จะให้ First Jobber กู้ โดยให้มีวินัยในการจ่ายคืน ถ้ามีวินัยคุณก็ได้วงเงินเพิ่มขึ้น ตรงนี้คาดหวังว่า  Virtual Bank จะมาช่วยได้เช่นกัน

คิดว่าอะไรจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ Virtual Bank ทำได้ ที่ยังไม่เห็นในธนาคารดั้งเดิม?

บริการที่แบงก์เดิมไม่เคยมี แต่ต้องร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น ยกตัวอย่าง ตอนนี้แบงก์ชาติกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง Open Data อยู่ ถ้า Virtual Bank จะมาร่วมใช้ประโยชน์จาก Open Data ด้วยก็ได้ โดยการขอความยินยอมจากลูกค้าในการเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่กับสถาบันการเงินอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ เงินฝาก การลงทุน โดยที่ Virtual Bank อาจทำหน้าที่เป็น Aggregator เพื่อรวบรวมข้อมูลทางการเงินทั้งหมดของลูกค้า นำมาจัดทำ Consolidated Portfolio แล้วก็นำเสนอบริการที่เหมาะสมต่อไปได้ทันที

โดยอาจจะเป็นการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน เพื่อเอาเงินที่ได้ส่วนเพิ่มมาจ่ายหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล จ่ายหนี้บัตรเครดิต รวมทั้ง Optimize ว่าควรจะจ่ายหนี้ก้อนไหนก่อนหลัง จำนวนเท่าไร เพื่อให้ประหยัดดอกเบี้ยมากที่สุด พร้อมทั้งทำธุรกรรมได้ทันทีจากแอปฯเดียว

ซึ่งตัวอย่างบริการแบบนี้ถ้าเกิดได้มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก เพราะคนไทยมีหนี้เยอะ ประเทศไทยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยทั้ง Virtual Bank หรือสตาร์ทอัพก็สามารถคิดค้นบริการที่ใช้ประโยชน์จาก Open Data ได้เช่นกัน

เบื้องต้นใบอนุญาต Virtual Bank เพียง 3 รายในไทย เพียงพอต่อการแข่งขันที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่?

“ผมคิดว่าใบอนุญาต Virtual Bank 3 ราย มันอาจจะน้อยเกินไปนิดนึง โดยอาจจะให้ 3 ใบก่อนก็ได้ แต่ต้องมีไทม์ไลน์ชัดเจนว่า หลังจากเปิดไปแล้ว เมื่อประเมินความเสี่ยง ประเมินผลกระทบแล้ว หาก 3 รายนี้ทำได้ดี จะพิจารณาว่าหลังจากนี้เปิดตลอดเหมือนต้นฉบับที่อังกฤษ หรือว่าจะเพิ่มอีกกี่ใบเป็นครั้งๆ ไป ทุกอย่างคือ กลไกตลาด แต่ต้องให้มีกำกับดูแลเหมือนเดิม ไม่ได้ลดสเปกการกำกับดูแลลง การเปิดเเบบเสรีมันดีกว่ามาก แต่เข้าใจได้ว่าทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป” 

ถ้ามองว่าปล่อยให้เป็นไปตาม กลไกตลาด มันดีกว่าอย่างไร?

แน่นอนว่าถ้าปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาด จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาที่มาพูดกันว่า ธนาคารเอาเปรียบ กำไรเยอะ เพราะดอกเบี้ยแพง เมื่อพูดถึงเรื่องนี้จริงๆ จะดูจาก ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไม่ได้ ควรจะดูจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ (Spread) มากกว่า เนื่องจากว่า NIM มันขึ้นอยู่กับการบริหารของธนาคารด้วยว่าเขาปล่อยสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับเงินฝาก ถ้าจะดูเรื่องความแฟร์ต่อคนกู้คนฝากและประสิทธิภาพของระบบธนาคาร ต้องดู Spread เพราะ NIM มันขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ และการบริหารของธนาคารเองว่าปล่อยกู้มากน้อยแค่ไหน และปล่อยกู้กลุ่มใด

เมื่อธนาคารมีต้นทุนสูง หลายคนถามถึงสตาร์ทอัพที่อาจมีต้นทุนการให้บริการต่ำกว่า แต่ทำไมในไทยถึงแข่งขันกับธนาคารไม่ได้?

แม้จะบอกว่าบางสตาร์ทอัพมีต้นทุนคงที่ในระดับต่ำ แต่ต้นทุนผันแปรบางอย่างก็เป็นข้อจำกัดในการให้บริการ เช่น เวลาที่จะเปิดบัญชีให้ลูกค้า เวลาจะยืนยันตัวตน ในประเทศไทยปัจจุบันใช้ NDID เป็นหลัก ซึ่งก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารอยู่ดี  ซึ่งธนาคารจะทำหน้าที่เป็น Identity Provider (IdP) ส่งข้อมูลมาให้ ด้วยต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อบัญชี

ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราให้คนเปิดบัญชีลงทุนเพื่อซื้อกองทุนรวม เงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท ใน  1 ปี จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมเต็มที่เลยคือ 1% คือ 10 บาท เจอค่าใช้จ่ายจาก NDID 100 บาท เท่ากับว่า 10 ปี ถึงจะถึงจุดคุ้มทุน อันนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 

ดังนั้นถึงได้บอกว่าโครงสร้างพื้นฐานมันไม่ควรมีค่าใช้จ่าย หรือมีได้แต่แค่ครอบคลุมต้นทุนที่เป็น Marginal Cost เท่านั้น ทุกวันนี้ Fintech ใช้ NDID เกือบหมด ถ้าไม่ใช้ ลูกค้าต้อง Dip Chip ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาหรือหน้าตู้ ATM  ถ้าเป็นสตาร์ทอัพก็ไม่มีตู้อีก ดังนั้นก็ต้องไปพึ่งธนาคารหรือไป 7-Eleven ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมร้อยกว่าบาทอยู่ดี

แต่ช่องทางที่ฟรี ปัจจุบันก็มี ThaID (ไทยดี) ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน แต่มันก็ยังใหม่อยู่และมีผู้ใช้งานอยู่ไม่มากเท่ากับ NDID 

อีกประเด็นคือ เรื่องแหล่งเงินทุน ถ้าถามว่าแล้ว Fintech Start-up ระดมทุนจากไหน ก็ต้องระดมทุนจากธนาคารอยู่ดี ส่วนใหญ่จะเป็น VC หรือ CVC ที่ธนนาคารให้ทุนมา โดยธนาคารลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อหา Synergy มาต่อยอดธุรกิจของธนาคาร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของการหาทาเลนต์ โดยเฉพาะด้าน Fintech ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบุคลากรของไทยด้านนี้ขาดแคลนมาก ส่วนการจะเปิดรับทาเลนต์จากต่างชาติ เรื่องของวีซ่ายังคงเป็นปัญหาสำคัญ ในไทยมีแค่ Long-Term Resident Visa แต่ยังไม่มีสำหรับ Digital Nomad ดังนั้นควรมีเพื่อดึงดูดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ส่วนการรับ Expat เข้ามา ก็ยังมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ถ้าจะรับ Expat 1 คน ต้องมีพนักงานไทย 4 คน (4:1) และทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แล้วถ้าบริษัทจะรับ Expat 20 คน เท่ากับว่าต้องมีพนักงานไทย 80 คน ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่ อัตราการแบกมันสูงเกินไป ในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์เขาก็อยู่ที่ 2:1 

ปัญหาระหว่างธนาคารกับธุรกิจ Fintech Start-up มันดู ‘งูกินหาง’ มาก จะมีแนวทางคลี่คลายมันอย่างไรได้บ้าง?

หากคิดไวๆ ตอนนี้มี 2 อย่าง อย่างแรกคือ ต้นทุนค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานมันต้องถูกหรือฟรี แม้ว่ารัฐบาลจะมี ThaID มาก็ตาม แต่ก็ต้องให้ครอบคลุมคนไทยได้เยอะๆ ตรงนี้จะดีต่อทุกอุตสาหกรรม อย่างเช่นเวลาเราไปทำบัตรประชาชนใหม่ แล้วบังคับให้มี ThaID ไปด้วยเลย ภายในไม่เกิน 7 ปี เราก็จะมีกันทั้งประเทศ ส่วนเรื่อง Open Data ที่แบงก์ชาติกำลังทำนั้นดีมาก แต่ต้องบังคับหรือควบคุมให้ต้นทุนมันต่ำ หรือไม่ก็ฟรีไปเลย ถ้าทำได้ Fintech Start-up หน้าใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ อย่างที่สองคือ รัฐบาลควรจะมี Incubator Program หรือ Accelerator Program ที่ร่วมกับเอกชน ในการบ่มเพาะและให้เงินทุนแก่ Fintech Start-up แบบไม่มีเงื่อนไขก่อน แล้วค่อยทำ Matching Fund เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำได้ตาม KPI

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.